x close

นางร้องไห้ ในราชสำนัก ราชประเพณีในอดีตที่ถูกยกเลิก



นางร้องไห้ ในราชสำนัก

          คลังประวัติศาสตร์ไทย เผยข้อมูลราชประเพณี นางร้องไห้ ในราชสำนัก ไม่ใช่แค่ร้องไห้ธรรมดา แต่เป็นการร้องควบคู่การประโคมมโหรีปี่พาทย์ ยกเลิกสมัย ร.6

          แฟนเพจ คลังประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเป็นเพจที่ให้ข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ของประเทศไทย มีผู้ติดตามจำนวนมาก ได้เผยข้อมูลให้ความรู้เกี่ยวกับ ราชประเพณีนางร้องไห้ งานพระบรมศพในอดีต โดยระบุว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏหลักฐานการมีนางร้องไห้ในคำให้การ “ขุนหลวงหาวัด” อธิบายถึงการจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพของพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศว่า ได้เกณฑ์นางสนมกำนัลมาเป็นนางร้องไห้ ซึ่งในการร้องไห้จะควบคู่การประโคมมโหรีปี่พาทย์
นางร้องไห้ ในราชสำนัก

          ราชประเพณีนางร้องไห้ สืบเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ซึ่งมีนางร้องไห้ และประโคมกลองชนะตามเวลา เหมือนอย่างพระมหากษัตริย์แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา วิธีการร้องไห้ต้องใช้คนจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะใช้นางพระสนม นางพระกำนัล มีต้นเสียง 4 คน และมีคู่ร้องรับประมาณ 80-100 คน

           ครั้งสุดท้ายที่มี “นางร้องไห้” ตามราชประเพณี คืองานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัดคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ให้เจ้าจอมและพนักงานคอยร้องไห้ตามบท ในเวลาประโคมย่ำยาม คือ ย่ำรุ่ง เที่ยง ย่ำค่ำ ยาม สองยาม สามยาม โดยมี เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ เจ้าจอมพระองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นต้นเสียงร้องนำ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรง มีพระราชดำริให้ยกเลิกธรรมเนียม "นางร้องไห้"

นางร้องไห้ ในราชสำนัก
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์

นางร้องไห้ ในราชสำนัก

ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก คลังประวัติศาสตร์ไทย, หนังสือ ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย, Thai Royal Cremation Ceremony

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นางร้องไห้ ในราชสำนัก ราชประเพณีในอดีตที่ถูกยกเลิก อัปเดตล่าสุด 27 ตุลาคม 2559 เวลา 14:38:43 88,521 อ่าน
TOP