x close

เรื่องเล่าจาก นพ.บุญยงค์ พระราชดำรัสเดียวของ ในหลวง ร.9 ที่จดจำไม่ลืม




            ในหลวง ร.9 ทรงมีพระราชดำรัสกับ นพ.บุญยงค์ ...เงินที่ขอไปนั้น ฉันนำมามอบให้แล้ว ขอให้หมอดำเนินการก่อสร้างเองนะ ไม่ต้องผ่านราชการ "ฉันไว้ใจเธอ" นำมาซึ่งนายแพทย์ที่ดีคนหนึ่ง

            หลังการเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำมาซึ่งความโศกเศร้าอาลัยในใจปวงชนชาวไทยทุกคน เรื่องเล่ามากมายจากข้าราชบริพารถูกเผยแพร่สู่โลกออนไลน์ให้อ่านกันไปมิรู้จบ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นและพระบารมีที่แผ่ไพศาลเป็นที่ประจักษ์ว่าพระราชาพระองค์นี้เป็นกษัตริย์ที่ดีที่สุดในโลก
            เช่นเดียวกับเรื่องเล่าของ นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวความประทับใจที่ถูกส่งต่ออย่างมากมาย เป็นเรื่องราวที่อยากให้ทุกคนได้อ่านทุกบรรทัด ทุกตัวอักษร โดยเป็นบทความจาก หนังสือ ฅ คนฉบับ ๘๐ พรรษา พระราชาเหนือนิยาม เดือนธันวาคม 2550 มีเนื้อหาดังนี้

            เรื่องเกิดในปี 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมทหารที่กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า ที่เชียงกลาง ในคราวนั้นเล่ากันว่ามีนายทหารเข้ามากราบบังคมทูลฯ ว่า มีทหารถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส นำตัวออกจากแนวหน้าไม่ได้ พระองค์ก็เลยเสด็จฯ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ พร้อมสมเด็จพระราชินี นายทหารที่โดยเสด็จฯ ก็ต้องคุ้มกันกันอุตลุด ก็นำทหารที่บาดเจ็บออกมาได้

            นพ.บุญยงค์ : "ผมจำได้แม่นยำ ชื่อ พลฯ บิน มาลิกา ถูกยิงไส้ไหล และที่โคนขา เสียเลือดมาก เดิมจะส่งตัวไปรักษาที่ รพ.พระมงกุฎ แต่ไม่ไหวต้องมารักษาที่ รพ.น่านก่อน"

            ชะตากรรมของพลทหารที่บาดเจ็บกลางสมรภูมิ ทำให้ชีวิตของคุณหมอผูกพันกับฟ้า

            การนำพลฯ บินมารับการรักษา ทำให้ในหลวงได้มีโอกาสเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมทหารที่บาดเจ็บจากการสู้รบ แล้วสิ่งที่หมอและพยาบาลทำการรักษาโดยไม่เห็นแก่เหนื่อยยาก ก็ทราบถึงพระเนตรพระกรรณ หลังเสด็จพระราชดำเนิน ได้ให้สมุหราชองครักษ์ พล.ร.อ. ม.จ.กาฬวรรณดิศ ดิศกุล นำหนังสือจากสำนักงานสมุหราชองครักษ์ แจ้งว่าในหลวงทรงพอพระราชหฤทัยกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ รพ.น่าน และมีพระประสงค์ที่จะสนับสนุนเครื่องมือแพทย์และความต้องการอื่น

            นพ.บุญยงค์ : "เราก็กราบบังคมทูลไปว่ามีอะไรบ้างที่เราขาดแคลน ทั้งเครื่องมือแพทย์ และการขยายอาคารเพื่อรับผู้บาดเจ็บ" หลังจากนั้นในหลวงก็ทรงมาเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากการสู้รบที่ รพ.น่าน อีกครั้ง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2511 นายแพทย์ผู้อำนวยการหนุ่มเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูล ถวายรายงานอย่างฉาดฉาน

            สิ่งของพระราชทาน ได้แก่ เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ เครื่องดูดเลือดและน้ำจากปอด เครื่องรมยาสลบ เครื่องปรับอากาศ ประดิษฐานอยู่บนโต๊ะ ยังความปลาบปลื้มให้กับหมอหนุ่ม แต่ที่เหนืออื่นใด เมื่อพระองค์ท่านพระราชทานสิ่งของให้แล้วก็พระราชดำรัสว่า...

            เงินที่ขอไปนั้น ฉันนำมามอบให้แล้ว
               ขอให้หมอดำเนินการก่อสร้างเองนะ...ไม่ต้องผ่านราชการ

               ฉันไว้ใจเธอ

            นพ.บุญยงค์ : "คำว่า ฉันไว้ใจเธอ ใครได้ฟังแล้วจะรู้สึกอย่างไร ท่านเป็นกษัตริย์ เราเป็นหมอบ้านนอก โอ้โฮ ใจเราในเวลานั้น เมื่อพระองค์ท่านรับสั่งแบบนี้ ย่อมมีผลต่อการทำงานต่าง ๆ มากมายโดยไม่อาจบิดพลิ้ว"

            นายแพทย์หนุ่มยังมีอันต้องสะดุ้งใจซ้ำเป็นคำรบสอง เมื่อทรงกำชับว่า "สร้างเสร็จแล้วให้บอกด้วยนะ จะมาเปิด"

            นพ.บุญยงค์ : "ยิ่งสะดุ้งมากขึ้นเพราะผมขอพระราชทานเงินไปสองแสนสี่ เพื่อใช้ต่อเติมอาคารไม้ให้รองรับผู้ป่วยได้อีก 20-25 คน เอาแค่พอใช้ได้ ไม่ได้คิดว่าจะทาสีด้วยซ้ำไป แต่พอพระองค์ท่านบอกว่าจะมาเปิด โอ้โฮ นึกไม่ออกเลยว่าจะทำอย่างไร"

            แต่ปัญหาทั้งมวลก็ลุล่วงไปได้ด้วยความช่วยเหลือของคนไข้รายหนึ่ง "คนไข้ที่เราดูแลเขามาพบ พาลูกชายมาด้วยชื่อ ทองจุล สิงหกุล เป็น ผอ. กรมโยธาฯ พอถามว่า คุณหมอมีอะไรให้ช่วยเหลือก็ขอให้บอก ผมบอกเลยว่ามีแน่ครับ ผมได้เงินพระราชทานมาขยายอาคาร ต้องเขียนแปลน ตอนนี้จะทำเป็นไม้แค่พอใช้ไม่ได้แล้ว เขาก็ช่วยเหลือเรื่องแบบ หาช่างรับเหมามาทำให้อย่างดีเลย ยิ่งรู้ว่าเป็นเงินพระราชทาน ผู้รับเหมาถึงขนาดควบคุมดูแลการก่อสร้างอย่างดี"

            ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างก็ได้ขอพระราชทานนาม ได้รับพระราชทานนามอาคารใหม่ว่า "พิทักษ์ไทย" เป็นอาคารที่ใช้รองรับผู้บาดเจ็บจากการสู้รบต่อเนื่องมาอีกหลายปี

            ปีถัดมา ภายหลังอาคารใหม่สร้างเสร็จแล้ว เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่จังหวัดน่านได้กราบบังคมทูลเชิญในหลวง เพื่อทรงเป็นองค์ประธานในการเปิดอาคารศาลากลางจังหวัด และอาคารโรงเรียนราชานุบาล ทางจังหวัดก็ถามผมว่า จะให้กราบบังคมทูลเชิญเพื่อทรงเปิดอาคารตึกพิทักษ์ไทยด้วยไหม ผมก็เห็นว่าพระองค์ท่านต้องเสด็จฯ ถึงสองแห่งแล้ว ก็บอกไปว่าคงไม่ต้องกระมัง แจ้งทางจังหวัดไปอย่างนั้น ปรากฏว่า ม.ล.ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา กรมวังผู้ใหญ่ ท่านมาเลย บอกคุณหมอ ในหลวงรับสั่งกับผมว่า...

            "แล้วตึกฉันล่ะ จะไม่ให้ฉันเปิดหรือ"

            ผมได้ยินอย่างนั้นก็ตกใจ เราไม่ได้เตรียมอะไรเลย ท่านก็บอกว่าไม่ต้องเตรียม หมอมีป้ายไหม... มีครับ หมอหาพรมมาผืนหนึ่ง เพราะท่านจะประทับยืนทรงพระสุหร่าย ส่วนอื่น ๆ จะจัดมาจากกรุงเทพฯ แล้วก็หาสมุดอัลบั้มเล่มหนึ่งสำหรับทรงลงพระนามปรมาภิไธย

            นพ.บุญยงค์ : "ผมก็ทำอย่างที่แนะนำ เตรียมทุกอย่างเพียงชั่วโมงเดียว ลงทุน 35 บาท ซื้อสมุด 1 เล่ม ครั้นเสร็จพิธี ยังทรงพระราชทานเงินอีก 5 หมื่นบาท เพื่อซื้อสิ่งของที่จำเป็นอื่น ๆ"
 
            คำของในหลวงมีความหมายกับชีวิตผมทั้งชีวิต เมื่อพระองค์ท่านทรงทราบว่ามีคนที่ได้รับบาดเจ็บกลางสมรภูมิ พระองค์ท่านตัดสินพระราชหฤทัยเด็ดเดี่ยวที่จะไปพาตัวออกมาให้ได้ แน่นอนเหลือเกินว่ามันต้องยากและเสี่ยงกว่าเราที่เป็นผู้ที่ดูแลต่อ ความพยายาม ความเพียรของพระองค์ต้องมากจริง ๆ และเมื่อได้พบพระองค์ท่าน และมีพระราชดำรัสว่า ฉันไว้ใจเธอ ก็ยิ่งทวีความหมาย

            คุณหมอบุญยงค์ ใช้ชีวิตราชการที่น่านต่อเนื่องจากปี 2507 จนถึงปี 2537 เป็นนายแพทย์ที่ปฏิเสธความก้าวหน้าบนเส้นทางวิชาชีพ รวมถึงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง เพื่อดูแลประชาชนจังหวัดน่าน ตามรอยพระยุคลบาทของพระองค์ท่าน น้อมนำพระกระแสรับสั่ง

            "ฉันไว้ใจเธอ"

            คำพูดเดียวที่จดจำไม่ลืมเลือน

ในหลวง ร.9


ภาพจาก เฟซบุ๊ก ชาญชัย ปวงนิยม

ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือ ฅ คนฉบับ ๘๐ พรรษา พระราชาเหนือนิยาม เดือนธันวาคม 2550


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องเล่าจาก นพ.บุญยงค์ พระราชดำรัสเดียวของ ในหลวง ร.9 ที่จดจำไม่ลืม อัปเดตล่าสุด 27 ตุลาคม 2559 เวลา 15:02:04 124,531 อ่าน
TOP