x close

มหาดไทยส่งหนังสือด่วนลงใต้ เตรียมรับมือน้ำท่วมระลอกใหม่หลัง 16 ม.ค.

น้ำท่วมภาคใต้

               นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย สั่งการ "ด่วนที่สุด" ร่อนหนังสือแจ้งยังหน่วยงานต่าง ๆ ให้เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมระลอกใหม่ในภาคใต้ พร้อมตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ

               เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2560 มีการรายงานว่า นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย และรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภ.ช.) ได้ส่งหนังสือสั่งการ "ด่วนที่สุด" เรื่องการเตรียมแก้ไขปัญหาอุทกภัยระลอกใหม่ ที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมที่จะถึงนี้

น้ำท่วมภาคใต้
            คำสั่งดังกล่าวได้ส่งถึงรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายความมั่นคง หัวหน้าฝ่ายติดตาม ฝ่ายอำนวยการและฝ่ายสนับสนุน เลขาธิการ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ อธิบดีทุกกรมในสังกัด รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกจังหวัดของภาคใต้ โดยระบุว่า เมื่อเกิดน้ำท่วมระลอกใหม่ ให้ทำตามแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้

            1. ขณะนี้มีการประกาศยกระดับภัยจากระดับ 2 เป็นระดับ 3 แล้ว ให้จังหวัดแต่งตั้งหัวหน้าผู้รับผิดชอบงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัดจาก ปภ.จังหวัดเป็นระดับ รองผู้ว่าฯ หรือปลัดจังหวัด ในระดับอำเภอให้มอบหมายปลัดอำเภออาวุโส รับผิดชอบแทนปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง หรือปลัดป้องกันส่วนพื้นที่ อปท. ให้มอบหมายปลัด อปท.แทน ผอ.กองป้องกันบรรเทาสาธารณภัยท้องถิ่น ทั้งนี้ ขอให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยงานได้ประชุมเน้นย้ำและกำกับติดตามงานโดยใกล้ชิดรวม ระดมเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทุกหน่วยมาร่วมงานช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยให้พร้อมเพรียงกัน และเจ้าหน้าที่ไม่ควรอ้างคำสั่งแบ่งงานตามภาวะปกติ เพื่อปฏิเสธงาน หรือความรับผิดชอบในการช่วยเหลือดูแลประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในครั้งนี้อย่างเด็ดขาด

            2. พื้นที่ที่คาดว่าอาจเกิดเหตุน้ำท่วมสูงในรอบนี้คือ บริเวณที่ลุ่มต่ำ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี และอำเภอรอบทะเลน้อย จ.พัทลุง ต่อเนื่องทะเลสาบสงขลา บริเวณ อ.ระโนด นั้น ขอให้ ผู้ว่าฯ ในพื้นที่ได้ประสานงานกับหน่วยทหารเรือ หรือหน่วยชลประทาน และหน่วยต่างๆ เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ หรือเครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่ดังกล่าวล่วงหน้า เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ไว้ก่อน โดยมอบหมายให้รองอธิบดี ปภ.ตรวจสอบ (check list) กับหัวหน้าส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในสภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) ที่ประจำ บก.ปภ.ช.ส่วนกลาง ว่าได้สั่งการให้หน่วยงานต้นสังกัดได้สนับสนุน บก.ปภ.ช.(สน.) และหน่วยปฏิบัติในพื้นที่แล้วหรือไม่

            3. เมื่อเกิดน้ำท่วมจนเกิดพื้นที่วิกฤต ขอให้แต่งตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์เป็นการเฉพาะ เพื่อเข้าไปรับผิดชอบพื้นที่โดยตรง ประสานงานกับหน่วยต่างๆ ในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชน ตาม 5 ขั้นตอนบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤต เหมือนการดำเนินการที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช และ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

น้ำท่วมภาคใต้

น้ำท่วมภาคใต้
            4. ขณะนี้มีการอนุมัติให้ขยายวงเงินงบกลางเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ เป็นจังหวัดละ 50 ล้านบาท พร้อมยกเว้นระเบียบให้จังหวัดสามารถใช้งบฯ ดังกล่าวแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในเรื่องต่าง ๆ ได้แล้ว เช่น การซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงสนับสนุนหน่วยงานทหาร หรืออื่น ๆ ที่ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ มาแก้ไขปัญหาให้พื้นที่ จึงขอให้จังหวัดศึกษาระเบียบแนวทางใหม่ดังกล่าวให้เข้าใจ โดยอาจมอบคลังจังหวัด หรือ บก.ปภ.ช.(สน.) หรืออาจขอให้สำนักงานคลังเขตเข้ามาดูแลเรื่องระเบียบดังกล่าวให้ผู้ปฏิบัติด้วยก็ได้

            5. ขอให้วางแผนการบริหารการแจกจ่ายถุงยังชีพต่าง ๆ ให้เป็นระบบ ทั่วถึง ครอบคลุมผู้ประสบภัยทุกครัวเรือน ซึ่งในที่ประชุม ขณะเดียวกันในจุดวิกฤตหรือที่พักพิงผู้ประสบภัยให้พิจารณาจัดตั้งครัวเคลื่อนที่หรือแจกจ่ายอาหารปรุงเสร็จซึ่งต้องดูแลเรื่องอนามัยความปลอดภัยจากสิ่งสกปรกด้วย

            6. ในพื้นที่ที่ภัยยุติหรือน้ำลดแล้วให้มอบหมาย อปท.และหน่วยงานสาธารณสุข หรือหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าไปดำเนินการเร่งทำความสะอาด (big cleaning) พ่นยาฆ่าเชื้อทำความสะอาด (เป่าล้าง) บ่อบาดาล ท่อน้ำประปาหมู่บ้าน ชุมชนรวมทั้งจัดทีมแพทย์ไปแนะนำการป้องกันโรคหลังน้ำท่วมเช่น โรคฉี่หนู โรคตาแดง ท้องร่วง และไข้หวัดไว้ด้วย

            7. ขณะนี้มีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตระหว่างน้ำท่วมมากขึ้น โดยไม่ได้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมโดยตรง ให้จังหวัด และหน่วยประชาสัมพันธ์ประจำ บก.ปภ.ช.(สน.) เร่งชี้แจงทำความเข้าใจ หรือแนะนำเกี่ยวกับการใช้ความระมัดระวังการใช้ชีวิตระหว่างน้ำท่วมให้กว้างขวางด้วย

            8. ขอให้จังหวัดเร่งรัดส่งรายงานสถานภาพครอบครัวผู้ประสบอุทกภัยที่เสียชีวิตแล้วมายัง บก.ปภ.ช.ภายในเวลา 16.00 น.ด้วย

            9. ขอให้จัดทำระบบการรับเงินบริจาค หรือการใช้เงินบริจาคให้ถูกต้องตามระเบียบ มีความรัดกุม โปร่งใสโดยอาจมอบหมายให้คลังจังหวัดหรือเสมียนตรา หรือเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในเข้ามารับผิดชอบดำเนินการประจำ กอ.ปภ.จ.อำเภอ และ อปท.ด้วยก็ได้

            10. ในพื้นที่ จ.ยะลา จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี และ จ.ระนอง หรือพื้นที่อื่นๆ ที่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ขอให้จังหวัดเร่งสำรวจความเสียหายด้านต่างๆ รวมทั้งการเยียวยาประชาชนที่ประสบอุทกภัยตามระเบียบต่าง ๆ ให้เรียบร้อย รวดเร็ว รวมทั้งให้ศึกษาทบทวนแผนปฏิบัติงานเดิมที่ไม่ประสบผลสำเร็จ (lesson learned) และพื้นที่เกิดเหตุซ้ำซากเพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงวางแนวทางและโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว เช่น การแก้ไขสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ การสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ (แก้มลิง) ประการสำคัญให้นำแนวทางบริหารจัดการน้ำท่วมและน้ำแล้งตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานแนวทางไว้ให้แล้วมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ด้วย

อัพเดทสถานการณ์ ข่าวน้ำท่วมภาคใต้ ทั้งหมด

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


ภาพจาก talung.gimyong.com, เฟซบุ๊ก utampron
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มหาดไทยส่งหนังสือด่วนลงใต้ เตรียมรับมือน้ำท่วมระลอกใหม่หลัง 16 ม.ค. โพสต์เมื่อ 15 มกราคม 2560 เวลา 14:56:39 6,281 อ่าน
TOP