x close

แนะ 9 สิ่ง ควรทำ-ไม่ควรทำ สำหรับคนทั่วไปในการช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

น้ำท่วม

         9 สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ สำหรับคนทั่วไปในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จากประสบการณ์ตรงของผู้ที่เคยลงพื้นที่ทำงาน ที่อยากแนะนำสู่ผู้มีจิตใจดีอยากให้ความช่วยเหลือ

         ยังคงเป็นที่น่ากังวลสำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในช่วงนี้เหตุการณ์ยังทวีความน่าเป็นห่วงเมื่อมรสุมกำลังจะเข้าประเทศไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักขึ้น ขณะที่ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชนรวมถึงบุคคลทั่วไปต่างร่วมใจกันให้ความช่วยเหลือ

         อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายังมีบางคนที่แม้จะอยากร่วมส่งน้ำใจ มอบความช่วยเหลือสู่ผู้ประสบภัยภาคใต้ แต่ก็ยังไม่ทราบว่าควรจะให้ความช่วยเหลือในรูปแบบใด ครั้นจะส่งของไปสนับสนุนก็ไม่ทราบว่าจะเป็นสิ่งของที่มีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ ทาง อ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็ได้ให้คำแนะนำไว้แล้ว ผ่านทางเฟซบุ๊ก Chainarong Sretthachau เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2560 โดยสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ใน "9 สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ" สำหรับคนทั่วไปในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม ดังนี้
น้ำท่วม

          1. การช่วยเหลืออาหารสด ควรงดข้าวกล่องหรือที่บรรจุถุงเนื่องจากอาหารบูดง่าย ควรเป็นอาหารสดที่เก็บไว้ได้ 1-2 วัน เช่น ข้าวหลาม ขนมข้าวเหนียว ข้าวเหนียวสุก หมูทอด เนื้อทอด ปลาทอด ฯลฯ การรวมกลุ่มไปทำอาหารสดเพื่อแจกผู้ได้รับผลกระทบ ควรทำสำหรับพื้นที่ที่เข้าถึงง่าย และไม่ควรเป็นข้าวผัด เพราะเป็นอาหารที่คนส่วนใหญ่ทำ ผู้ประสบภัยจะต้องกินข้าวผัดกันทุกมื้อ จึงควรเป็นอาหารอย่างอื่นบ้าง

          2. การช่วยเหลืออาหารแห้ง คนส่วนใหญ่จะบริจาคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือโจ๊กคัพ ซึ่อาหารเหล่านี้ไม่ได้เป็นที่ต้องการสำหรับคนในชนบท บางพื้นที่ยังต้องส่งอาหารแห้งเหล่านี้คืน ดังนั้นอาหารแห้งที่ควรบริจาคคือ ข้าวสาร และเครื่องเทศต่าง ๆ สำหรับปรุงอาหาร เช่น พริกแห้ง หอม กระเทียม มะนาว ผักสดที่เก็บได้หลายวัน เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว ฯลฯ รวมทั้งน้ำดื่มสะอาด เครื่องดื่ม และขนมแห้งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

          3. คำแนะนำข้อ 1 และ 2 เป็นข้อแนะนำเบื้องต้นเท่านั้น ทางที่ดีผู้ที่รับบริจาคและนำไปช่วยเหลือควรสอบถามทางปลายทางก่อนว่าต้องการสิ่งของช่วยเหลือที่จำเป็นอะไรบ้าง โดยสอบถามอย่างละเอียด และประกาศรับบริจาคบนความต้องการและตามความจำเป็น การบริจาคก็จะตรงกับความต้องการ

          4. ในการบริจาคอาหารทั้งสดและแห้ง ควรคำนึงถึงอาหารที่ถูกต้องตามศาสนาของชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือด้วย เช่น ชุมชนมุสลิม ต้องเป็นอาหารฮาลาล เป็นต้น ประสบการณ์ที่ผ่านมาก็คือ มีการนำบะหมี่สำเร็จรูปประเภทต้มยำหมูหรือเนื้อไปให้ชุมชนมุสลิม ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือคนในชุมชนได้

          5. การบริจาคอาหารโดยเฉพาะอาหารแห้ง ควรบริจาคให้กับศูนย์รับบริจาคที่สามารถส่งถึงผู้รับบริจาคได้จริง ๆ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา มีสิ่งของบริจาคจำนวนมากตกค้างที่อาคารของสนามบินดอนเมือง และความจริงก็ถูกเปิดเผยเมื่อน้ำไหลบ่าเข้าท่วมของบริจาคเหล่านั้น

          6. การบริจาคเงิน ควรมั่นใจว่าเงินที่บริจาคได้นำไปใช้เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจริง ๆ

          7. เมื่อเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม มักมีศูนย์รับบริจาคจำนวนมากตั้งขึ้นมาเพื่อต้องการระดมความช่วยเหลือจากสาธารณะ และคนจำนวนไม่น้อยก็จะบริจาคเสื้อผ้าหรือตุ๊กตามือสอง ทั้งที่ความจริงของเหล่านี้อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งทางศูนย์ก็ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรกับเสื้อผ้ามือสองเหล่านี้

          ดังนั้นศูนย์ควรระบุสิ่งของที่รับบริจาคให้ชัดเจน โดยตรวจสอบจากชุมชนก่อน หากพบว่าเสื้อผ้ามีความจำเป็นสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติก็ประกาศรับ และคนที่บริจาคเสื้อผ้ามือสอง ขอให้เป็นเสื้อผ้าที่ไม่เก่าเกินไป และต้องซักให้สะอาดก่อนนำไปบริจาค

          8. ในกรณีที่ต้องการเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ควรที่จะประสานกับองค์กรที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ และควรเป็นอาสาสมัครภายใต้องค์กรนั้น ซึ่งจะมีการประสานงานกับพื้นที่และองค์กรอื่น ๆ ที่เป็นระบบกว่าการที่เราเข้าไปเอง มิฉะนั้นการเข้าไปช่วยเหลืออาจทำให้เกิดความยุ่งยากหรือเป็นภาระ หรือทำให้เกิดปัญหาตามมา

          เช่น เมื่อเกิดน้ำท่วมภาคกลางในปี 2554 มีผู้ใจดีนำเจ็ตสกีไปวิ่งแถวหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วม แต่การนำเจ็ตสกีไปวิ่งโดยไม่มีความจำเป็นกลับทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเนื่องจากทำให้เกิดคลื่นใหญ่เข้าซัดบ้านของชาวบ้าน

          9. ศูนย์รับบริจาค เมื่อรับบริจาคแล้ว ศูนย์ส่วนหนึ่งจะนำไปบริจาคโดยตรงถึงผู้ได้รับผลกระทบ แต่ศูนย์อีกจำนวนหนึ่งได้นำไปมอบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งจะกระจายสิ่งของไปยังเครือญาติ/เครือข่ายของตนเองเป็นหลัก หรือบางกรณี จะเลือกของบริจาคที่มีคุณภาพไว้แจกเฉพาะเครือญาติ/คนในเครือข่าย ส่วนของคุณภาพต่ำจะนำไปบริจาคให้คนอื่น ๆ

          หากเป็นไปได้ ศูนย์ควรกระจายของบรรเทาทุกข์ด้วยตนเอง ส่งไปยังกลุ่มคนที่เดือดร้อนที่สุดเป็นอันดับแรกก่อน และที่เหลือค่อยกระจายไปยังคนที่เดือดร้อนน้อย ไม่ควรกระจุกที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

          ทั้งนี้ข้อเสนอแนะทั้ง 9 ประการ มาจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนลงพื้นที่หลังเกิดภัยพิบัติสึนามิที่ภาคใต้ในปี 2548 และการลงพื้นที่และเข้าไปเยี่ยมพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมที่ จ.ลพบุรี เมื่อปี 2554

น้ำท่วม

อัพเดทสถานการณ์ ข่าวน้ำท่วมภาคใต้ ทั้งหมด

ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Chainarong Sretthachau, ทวิตเตอร์ @palm_phattanan

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แนะ 9 สิ่ง ควรทำ-ไม่ควรทำ สำหรับคนทั่วไปในการช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม อัปเดตล่าสุด 16 มกราคม 2560 เวลา 16:14:20 13,138 อ่าน
TOP