x close

ยกระดับ เรือคลองแสนแสบ ใหม่ ความปลอดภัยที่รอการพิสูจน์



          บริการที่ไร้มาตรฐาน ที่มาของการเปลี่ยนแปลง

          เรือด่วนคลองแสนแสบถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ประชาชนใช้สัญจรเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่คับคั่งในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในเวลาเร่งด่วนซึ่งมีการจราจรติดขัดเลวร้ายติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก

          อย่างไรก็ตาม ยังมีความจริงอีกด้านหนึ่งที่สังคมไทยต้องยอมรับ คือ เรือด่วนคลองแสนแสบมีคุณภาพการบริการที่ไม่เข้าขั้นระดับสากล ไม่ว่าจะเรื่องจำนวนผู้คนที่อัดแน่นเกิน ท่าเรือที่ไม่แข็งแรง เรือที่แทบจะไม่เคยจอดเทียบท่าอย่างปลอดภัย

          ยังไม่รวมเรื่องอุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยางชูชีพ ที่มีไม่เพียงพอ ตลอดจนพนักงานที่สั่งให้ผู้โดยสารรีบๆ ขึ้นลงเรือ อันก่อให้เกิดอุบัติเหตุทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ทั้งขาพลิก หกล้ม หรือหัวโขกกับเสา บางรายที่ร้ายแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต


          ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 คุณธีระพงษ์ ศิลาฤกษ์ อายุ 50 ปี ได้จมน้ำเสียชีวิตในคลองแสนแสบขณะก้าวขึ้นเรือบริเวณท่าเรือนานาชาติ ท้ายซอยสุขุมวิท 15 และถือว่าเป็นศพที่ 4 แล้วนับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติไว้

          เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสะเทือนขวัญแก่ผู้โดยสารเรือด่วนคลองแสนแสบเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหลังจากที่มีการแชร์คลิปเหตุการณ์กันอย่างกว้างขวางในโลกโซเชียล ซึ่งแสดงให้เห็นคุณภาพในการบริการที่ไร้จิตสำนักเป็นอย่างยิ่ง

          จนเกิดเป็นกระแสสังคมที่กดดันต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผู้ให้บริการ หรือกรมเจ้าท่าที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง อันนำมาสู่การปรับปรุงโครงสร้างของตัวเรือครั้งใหญ่ให้มีความปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิม



          ปรับโครงสร้างทางกายภาพ ยกระดับสู่ความสากล

          เรือด่วนโดยสารคลองแสนแสบลำต้นแบบ สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ประมาณ 104 คน มีทางขึ้นลง 1 ช่องทาง ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา วางเครื่องยนต์ดีเซล 8 สูบใหม่แทนเครื่องยนตร์เดิม ซึ่งผู้ให้บริการการันตีคุณภาพว่าจะไม่ก่อให้เกิดควันดำและปล่อยของเสียที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทางน้ำ

          ปัจจุบันมีการทดลองให้บริการอยู่จำนวน 2 ลำ ในเส้นทางระหว่างท่าเรือประตูน้ำและท่าเรือวัดศรีบุญเรือง ทั้งนี้หลังจากที่ให้บริการมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม เริ่มมีประชาชนบางส่วนแสดงความคิดเห็นผ่านโลกโซเชียลอยู่พอสมควร

          โดยเฉพาะประเด็นของเครื่องยนต์ที่ยังมีเสียงดัง และปล่อยควันดำไม่ต่างไปจากเดิม ส่วนประเด็นทางขึ้นลงที่มีเพียงช่องทางเดียวกลางลำเรือนั้น บางส่วนก็เห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี เนื่องจากทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

          แต่บางส่วนก็เห็นว่าไม่สะดวก และยังทำให้เสียเวลาไปโดยใช่เหตุ พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการปรับปรุงว่า

          หากต้องการปรับปรุงคุณภาพและความปลอดภัยของเรือด่วนแสนแสบจริงๆ ควรปรับปรุงที่ผู้ให้บริการมากกว่า โดยเฉพาะพนักงานขับเรือที่ควรมีวิธีการคัดเลือกที่เข้มงวด ตลอดจนการลงโทษที่เด็ดขาด หากพนักงานขับเรือไม่ปฏิบัติตามกฎ



          ทดลองนั่งจริง จับฟีลลิ่งของตัวเรือ

          ด้วยข้อถกเถียงต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย กระปุกดอทคอมจึงขันอาสาพาเพื่อนๆ ไปสำรวจระบบความปลอดภัยและการให้บริการเรือด่วนแสนแสบว่า หลังจากมีการปรับปรุงคุณภาพครั้งใหญ่แล้ว จะมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

          ในการทดลอง เราเลือกเส้นทางไปกลับระหว่างท่าเรือประตูน้ำและท่าเรือเดอะมอลล์ บางกะปิ ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เพื่อที่จะได้เห็นว่าขณะที่มีผู้โดยสารขึ้นลงเรือจำนวนมากในชั่วโมงเร่งด่วนจะเกิดปัญหาจริงตามที่มีความเห็นอยู่บนโลกโซเชียลหรือไม่

          โดยครั้งแรกที่เห็นตัวเรือ รู้สึกทันทีว่าเรือต้นแบบมีขนาดใหญ่ ดูแข็งแรง และได้มาตรฐานกว่าเรือที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน
          ขึ้นลงทางเดียว แก้ปัญหาผู้โดยสารตกเรือ

          เวลาจะขึ้นลงเรือต้องใช้ทางขึ้น-ลงบริเวณกลางลำเรือตามระเบียบที่กรมเจ้าท่าและบริษัทผู้ให้บริการประกาศมาเท่านั้น บริเวณอื่นของกราบเรือจะไม่อนุญาตให้ผู้โดยสารขึ้นลงเป็นอันขาด

          ลักษณะของทางขึ้นลงเรือ จะมีขั้นบันไดจากท้องเรือสูงขึ้นมาจนถึงกราบเรือเสมอกับโป๊ะของท่าเรือ มีราวจับช่วยทรงตัวทั้งสองด้าน

          แตกต่างจากการขึ้น-ลงเรือของเดิม ที่ผู้โดยสารสามารถเดินลงกราบเรือได้ตลอดความยาวลำเรือ และมีตัวช่วยการทรงตัวเป็นเส้นเชือกติดกับหลังคา ซึ่งการขึ้น-ลงเรือในรูปแบบดังกล่าวมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุอยู่ไม่น้อย

          นอกจากนี้บริเวณกราบเรือทั้งสองด้านจะมีผ้าใบสำหรับป้องกันคลื่นและน้ำในคลองแสนแสบกระเด็นใส่ผู้โดยสารติดไว้ตายตัว แตกต่างจากของเดิมที่จะมีการยกขึ้น-ลงเวลาเข้าเทียบท่าเรือเพื่อรับส่งผู้โดยสาร









          จากการทดลองใช้งานจริง พบว่าการขึ้นลงเรือเมื่อเปลี่ยนมาเป็นการขึ้นลงช่องทางเดียวจะทำให้เสียเวลาอยู่พอสมควร แต่เมื่อแลกกับความปลอดภัยที่มากขึ้น คิดว่าผู้โดยสารทุกคนน่าจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้

          ปรับตำแหน่งที่นั่ง เพิ่มออปชั่นความปลอดภัย

          หลังจากลงมาในเรือ อีกสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน คือ เรือต้นแบบจะมีช่องทางเดินตรงกลางระหว่างที่นั่งทั้ง 2 ด้าน ต่างไปจากของเดิมที่จะเป็นที่นั่งยาวพาดขวางลำเรือ มีการจัดที่นั่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหน้าและส่วนหลัง
 
          ที่สำคัญ คือ จะมีเสื้อชูชีพและห่วงยางชูชีพครบ 104 คน ตามจำนวนผู้โดยสารสูงสุดที่เรือสามารถบรรทุกได้

          ส่วนกลางลำเรือจะเป็นเครื่องยนต์ดีเซล 8 สูบใหม่ ซึ่งเราคิดว่าน่าจะมีประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดีกว่าเดิม แต่เอาเข้าจริงๆ เพียงแค่เรือเร่งออกจากท่าเรือประตูน้ำไม่ถึง 1 นาที เสียงของเครื่องยนตร์ดีเซลขนาดบิ๊กไซต์ แผดดังกระหึ่มลั่น ไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของเรือด่วนแสนแสบแม้แต่น้อย

          ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เจ้าพี่เบิ้มเสียงดังที่ว่านี้ยังปล่อยควันดำออกมาแทบจะทุกครั้งที่มีการเร่งเครื่อง







          ส่วนบรรยากาศในตัวเรือ หากไม่นับเรื่องเสียงของเครื่องยนต์ที่ดังลั่นตลอดการเดินทาง และกลิ่นของควันดำที่มาเป็นระยะๆ ต้องยอมรับว่าเรือต้นแบบวางตำแหน่งการนั่งได้ดีกว่าของเดิมอยู่พอสมควร หากจะมีในส่วนติก็น่าจะเป็นบริเวณท้ายเรือเท่านั้นที่รู้สึกโคลงเคลงมากกว่าบริเวณอื่น

          และหากใครเมาเรือง่ายๆ ก็ควรจะหลีกเลี่ยงการนั่งโดยสารบริเวณนี้

          ขณะที่สำรวจระบบความปลอดภัยทางกายภาพของตัวเรือ เราไม่ลืมที่จะสังเกตการให้บริการของพนักงานขับเรือและพนักงานเก็บเงินไปพร้อม ๆ กัน

          เราพบว่าพนักงานขับเรือลำต้นแบบมีมารยาทและอัธยาศัยที่ดี แทบจะไม่มีการขับขี่ที่มีลักษณะน่าหวาดเสียว เวลาจอดส่งผู้โดยสารที่ท่าเรือจะจอดจนสนิทก่อน จากนั้นจึงจะปล่อยให้ผู้โดยสารขึ้นลงเรือ







          จิตสำนึกโรยหน้า โจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ไข

          ขากลับเพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบที่เห็นภาพชัดเจน เราเลือกเดินทางโดยเรือด่วนแสนแสบรูปแบบเดิม

          คราวนี้ได้บรรยากาศของเรือด่วนแสนแสบต้นฉบับของจริง ไม่ใช่ของก๊อปเกรดเอ ทั้งจอดเข้าท่าไม่สนิท นายท่าเร่งผู้โดยสารให้ขึ้นลงเรืออย่างรวดเร็ว จำนวนผู้โดยสารที่น่าจะมากกว่าจำนวนลิมิตบรรทุกที่เขียนไว้ข้างเรือ

          ทั้ง ๆ ที่นโยบายของกรมเจ้าท่าและบริษัทผู้ให้บริการก็มีมาแล้วว่าเน้นความปลอดภัยของผู้โดยสารก่อนเป็นอันดับแรก





          กล่าวโดยสรุป เรือด่วนแสนแสบใหม่ สอบผ่านในเรื่องความปลอดภัยทางกายภาพ จะมีที่ต้องแก้ไขจริงๆ ก็คงเป็นเรื่องของเสียงและมลพิษของเครื่องยนต์ที่ควรมีคุณภาพที่ดีกว่านี้

          สำหรับเรื่องของการให้บริการ เรือลำต้นแบบถือว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ทว่าในส่วนของเรือที่ให้บริการปกติ ยังพบการให้บริการบางส่วนที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย และสร้างความเสี่ยงให้แก่ผู้โดยสารที่ไม่รู้ว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นกับตนเมื่อใด

          และเมื่อมีการเปลี่ยนมาใช้งานเรือโดยสารแบบใหม่ทั้งหมด เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าพนักงานทุกคนจะให้บริการมีคุณภาพดีอย่างเรือต้นแบบ

          ตรงนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้รับผิดชอบทั้งฝ่ายรัฐและเอกชน ต้องร่วมกันหามาตรการดูแลอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เรือด่วนแสนแสบสามารถเป็นทางเลือกในการเดินทางอย่างปลอดภัยให้แก่คนกรุงเทพฯ ได้อย่างแท้จริง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยกระดับ เรือคลองแสนแสบ ใหม่ ความปลอดภัยที่รอการพิสูจน์ อัปเดตล่าสุด 24 มกราคม 2560 เวลา 10:09:07 3,022 อ่าน
TOP