x close

สดร. ชี้กรณีนาซาพบดาวเคราะห์ 7 ดวง น่าตื่นเต้น แม้ยังไม่เจอสิ่งมีชีวิต

พบระบบสุริยะใหม่

          ดร.ศรัณย์  โปษยะจินดา เผย การที่นาซาแถลงค้นพบดาวเคราะห์หิน 7 ดวงใกล้เคียงกับโลก ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นแม้ยังไม่เจอสิ่งมีชีวิต แต่ถือเป็นโอกาสดีที่ทำให้รู้ว่ามีที่ใดบ้างที่เหมือนกับโลก

          วันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2560)  ดร.ศรัณย์  โปษยะจินดา  รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า จากกรณีที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา แถลงข่าวการค้นพบดาวเคราะห์หินถึง 7 ดวงที่ใกล้เคียงกับโลก โคจรรอบดาวแคระแดงแทรพพิสท์-วัน (TRAPPIST-1) ซึ่งห่างจากโลก 39 ปีแสง อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะที่ผ่านมาไม่เคยค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีขนาดคล้ายโลกพร้อม ๆ กัน ถึง 7 ดวง  ซึ่งค่อนข้างน่าสนใจ เพราะบ่งบอกว่ายังมีอะไรให้เราค้นพบและศึกษาอีกมาก



พบระบบสุริยะใหม่

          ทั้งนี้ ในอนาคตการส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศขึ้นไป เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์อินฟาเรดที่นาซาวางแผนส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2561 มีภารกิจในการสังเกตการณ์วัตถุอันห่างไกลในเอกภพ ก็จะสามารถศึกษาบรรยากาศของดาวเคราะห์เหล่านี้ได้ และเมื่อเราทราบองค์ประกอบสำคัญ เช่น ก๊าซออกซิเจน มีเทน หรือ โมเลกุลสำคัญอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดจากสิ่งมีชีวิต จะทำให้เราทราบว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่หรือไม่

          อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีการค้นพบหรือยืนยัน แต่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่นักดาราศาสตร์จะได้ค้นพบระบบสุริยะขนาดเล็กที่อยู่ไม่ไกลจากโลก และอาจทำให้เราเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ในเอกภพได้ดียิ่งขึ้น ว่ามีที่ใดบ้างที่เหมือนกับโลกของเรา

          ด้าน นายมติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ข่าวการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (exoplanet) มีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากย้อนกลับไปจะพบว่ามีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรกเมื่อ 25 ปี ที่ผ่านมา ปัจจุบันเรามีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ยืนยันแล้ว 3,449 ดวง และรอการยืนยันอีกกว่า 4,696 ดวง ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ค้นพบส่วนมากจัดเป็นประเภทดาวยักษ์แก๊ส และในจำนวนนี้เป็นดาวเคราะห์หินใกล้เคียงกับโลกมากกว่า 348 ดวง  

          การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเหล่านี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตอาจจะไม่ใช่สิ่งที่หายากและมีเพียงแค่บนโลกของเราอีกต่อไป และการค้นพบระบบอื่นและโลกอื่นที่มีดาวเคราะห์หินโคจรอยู่ก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งที่อาจจะมีชีวิตอาศัยอยู่ ซึ่งในไม่ช้าเราอาจจะค้นพบดาวเคราะห์หินที่มีหลักฐานของสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

          สำหรับการค้นพบครั้งนี้ นาซาเปิดเผยว่า นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์หินที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลกถึง 7 ดวงโคจรอยู่ในระบบดาวฤกษ์ดวงเดียว ซึ่งยังพบอีกว่าดาวเคราะห์ 3 ดวงในดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงนี้อยู่ในช่วงที่เรียกว่า "habitable zone" หรือโซนที่เอื้อต่อการมีชีวิต  

          อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับองค์ประกอบของดาวเคราะห์เหล่านี้ที่จะบอกได้ว่ามีน้ำหรือชีวิตบนดาวเคราะห์เหล่านั้น และด้วยระยะทางที่ไกลถึง 39 ปีแสง มนุษย์ยังไม่มีแผนที่จะเดินทางไปยังระบบดาวเคราะห์นี้ในเร็ววันนี้ หากเราสามารถเดินทางได้เร็วเท่ากับแสง ต้องใช้เวลาถึง 39 ปี และหากพยายามจะเดินทางไประบบดาวเคราะห์นี้ด้วยความเร็วของเครื่องบินเจ็ท จะต้องใช้เวลาถึงกว่าสี่ล้านปี

ภาพจาก NASA/JPL-Caltech
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สดร. ชี้กรณีนาซาพบดาวเคราะห์ 7 ดวง น่าตื่นเต้น แม้ยังไม่เจอสิ่งมีชีวิต อัปเดตล่าสุด 23 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 17:21:27 23,790 อ่าน
TOP