x close

"เด็กจมน้ำ" ภัยร้ายที่ป้องกันได้!?



          เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดประชุมเวทีนโยบายสาธารณะ เผยข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการจมน้ำของเด็ก เพื่อระดมสมองคิดหามาตรการป้องกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน หลังจากพบสถิติน่าใจหาย...เด็กไทยจมน้ำตายมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง!!
 
          และที่น่าตกตะลึงไปกว่านั้น แค่เพียงอ่างน้ำ กะละมัง ซึ่งมีระดับน้ำตื้นๆ เพียง 1-2 นิ้ว ก็นับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยเสียชีวิตด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 1-4 ขวบ 
 
          นายแพทย์ ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสาเหตุการจมน้ำของเด็กไทยในแต่ละช่วงวัย เปรียบเทียบการจมน้ำของเด็กในต่างประเทศ สถิติการเสียชีวิตของเด็กวัยต่างๆ อันเนื่องมาจากการจมน้ำ ปัจจัยแวดล้อมที่ก่อให้เกิดปัญหา รวมถึงแนวทางป้องกันการจมน้ำของเด็กว่า การจมน้ำ นับเป็นรูปแบบหนึ่งของการตายโดยการขาดอากาศ



          เนื่องจากอากาศในปอดถูกแทนที่ด้วยน้ำหรือ ของเหลว ในแต่ละปีมีเด็ก เป็นพันคนที่จมน้ำจากการที่ไม่ตระหนักถึงอันตรายที่สามารถเกิดขึ้นได้จากน้ำ เด็กเหล่านั้นลงไปในสระน้ำ และแม่น้ำ โดยที่ไม่รู้ระดับความลึกของน้ำ

          การจมน้ำเกิดขึ้นบ่อยมากในบ่อน้ำ ทะเลสาบ แม่น้ำ รวมทั้งในสระน้ำ และอ่างน้ำ นอกจากนี้ยังพบว่า อ่างน้ำนับเป็นจุดเสี่ยงของการเกิดการเสียชีวิตของเด็ก และเด็กทารก เพราะเด็กเล็กสามารถจมน้ำได้ในน้ำที่มีระดับเพียง 1-2 นิ้ว เนื่องจากเด็กเล็กส่วนใหญ่ไม่เข้าใจอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากแหล่งน้ำนั้นนั่นเอง
 
          ปัญหาการจมน้ำ ถือเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญที่ทำให้เด็กทั่วโลกที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีบาดเจ็บและเสียชีวิตถึงร้อยละ 57 โดยพบที่ประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 30 ขณะที่สหรัฐอเมริกาพบร้อยละ 23 ที่ออสเตรเลียร้อยละ 18 แต่ละปีของทั่วโลกมีเด็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำประมาณ 230,000 คน ในจำนวนนี้ 2 ใน 3 ว่ายน้ำไม่เป็น พบมากที่สุดในเด็กอายุ 1 ขวบ


 
          สำหรับ การจมน้ำของเด็กไทย นับเป็นปัญหาสำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้เด็กเกิดการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต ในแต่ละปีมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถึงกว่า 1,500 คน หรือเฉลี่ยวันละ 4 คน ที่ต้องจมน้ำเสียชีวิตทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ (บ่อน้ำ ทะเลสาบ แม่น้ำ) สระว่ายน้ำ และอ่างน้ำภายในบ้าน และเมื่อเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตในทุกสาเหตุจะพบว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิต

          ซึ่งสูงกว่าโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อ และสูงมากกว่าอุบัติเหตุจราจรถึง 2 เท่าตัว โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบอัตราการเสียชีวิตของเด็กมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคเหนือและภาคใต้ เพศชายเสียชีวิตมากกว่า เพศหญิง 2-5 เท่า และพบว่า ช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน เป็นช่วงที่พบเด็กจมน้ำมากที่สุด
 
          จากการศึกษาการจมน้ำของเด็กในแต่ละพื้นที่จะพบว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการจมน้ำมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับโครงการสิ่งแวดล้อม วิธีการดูแลเด็ก และวัฒนธรรมของแต่ละท้องที่ อาทิ ความเผอเรอ ชั่วขณะของผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล มักพบในเด็กที่มีอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 4 ขวบ เนื่องจากเด็กไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ผู้ดูแลต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ต้องไม่ให้คลาดสายตาจากเด็กแม้เพียงชั่วขณะ เช่น ไปรับโทรศัพท์ ล้างจาน ตากผ้า หรือเผลองีบหลับ
 
          การคิดไม่ถึงว่าละแวกบ้านที่อยู่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็ก ก็นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดการจมน้ำ โดยพบในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1-14 ปี เนื่องจากผู้ดูแลคิดว่าสิ่งแวดล้อมรอบๆ บ้าน หรือในละแวกบ้านไม่น่าจะมีอันตรายใดๆ จึงอนุญาตให้เด็กวิ่งเล่นนอกบ้านได้อย่างอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการพลัดตกน้ำ ฯลฯ


 
          สำหรับข้อเสนอแนะ และมาตรการในการป้องกันการจมน้ำของเด็ก ทางกลุ่มป้องกันการบาดเจ็บ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรคฯ เปิดเผยว่า เบื้องต้นควรมีหน่วยงาน หรือองค์กรที่รับผิดชอบดูแลดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางน้ำโดยตรง

          ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก ควรให้การดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดขณะเด็กอยู่ในแหล่งน้ำ หรือใกล้แหล่งน้ำ ไม่ว่าเด็กจะมีอายุเท่าไรก็ตาม ต้องไม่ปล่อยให้อยู่ตามลำพัง ไม่ควรอนุญาตให้เด็กไปว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่ไม่คุ้นเคย หรือหากเป็นไปได้ควรสอนเด็กให้ว่ายน้ำ หรือใช้ชูชีพในการเล่นน้ำ ฝึกฝนให้ว่ายน้ำเป็น ต่อเนื่องไปถึงการรู้จักวิธีการช่วยเหลือคนจมน้ำ และเล่นกีฬาทางน้ำอย่างปลอดภัย
 
          แม้ปัจจุบันจะมีหน่วยงานหลายหน่วยงาน พยายามดำเนินมาตรการที่จะลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กที่มีอายุระหว่าง 10-18 ปี อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุจราจรซึ่งมีมากมายในแต่ละปี แต่จากข้อมูลนี้ก็แสดงให้เห็นว่า การจมน้ำนับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีต้องเสียชีวิตมากเช่นกัน
 
          หันมาร่วมมือร่วมใจป้องกันไม่ให้เกิดการจมน้ำในเด็กเสียแต่วันนี้ เพื่อยุติภัยร้าย
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
"เด็กจมน้ำ" ภัยร้ายที่ป้องกันได้!? โพสต์เมื่อ 5 กันยายน 2550 เวลา 00:00:00 7,419 อ่าน
TOP