x close

นักวิชาการแฉกลยุทธ์ โคเรียคิง ตั้งราคา 18,000 แต่ขายจริง 3,000 เข้าข่ายหลอกลวงหรือไม่ ?

กระทะโคเรียคิง

          นักวิชาการชี้ กระทะโคเรียคิง ขายแบบลวงผู้บริโภค ที่เมืองนอกถือว่าผิดกฎหมาย ชี้เทียบแบรนด์เนมไม่ได้เพราะแพงแต่ไม่ลดราคา แนะคนหลงเชื่อรวมตัวฟ้องเอาเงินคืน

          สืบเนื่องจากกรณีที่สังคมกำลังตั้งคำถามกับ กระทะโคเรียคิง ที่มีการโฆษณาว่ามีราคาจริงเกือบ 18,000 บาท อย่างไรก็ดี มีการพบเจอว่ากระทะยี่ห้อนี้มีขายที่ประเทศสิงคโปร์ในราคาไม่ถึง 600 บาท ทำให้ทางบริษัทต้องชี้แจงว่าเป็นการขายคนละรุ่นและคุณภาพต่างกัน ก่อนที่จะถูกแฉว่าต้นทุนที่แท้จริงของกระทะรุ่นนี้มีราคาแค่ 358 บาทนั้น (อ่านข่าว : นักวิชาการออกโรงแฉ ต้นทุนโคเรียคิง แค่ 358 บาท แต่โฆษณาขายเหยียบ 2 หมื่น)
          จากเรื่องนี้ ล่าสุด วันที่ 13 พฤษภาคม 2560 นายเกษมสันต์ วีระกุล ผู้ดำเนินรายการชื่อดัง ได้โพสต์เกี่ยวกับการโฆษณาดังกล่าวของกระทะโคเรียคิงในประเทศไทย ผ่านทางเฟซบุ๊ก Kasemsant Weerakun ใจความว่า การที่ประกาศขายกระทะในราคา 18,000 บาท ทั้งที่ต้นทุน 358 บาท ที่ต่างประเทศเรียกว่า Fake Original Price คือกรณีที่มีการตั้งราคาสินค้าแพง ๆ เพื่อให้ดูเป็นของมีราคา แต่ลดราคาหนัก ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคเชื่อว่า ตนเองได้ของแพงในราคาถูก ได้ของดีมีคุณภาพ และเรื่องนี้ในต่างประเทศได้มีการฟ้องร้องกันหลายคดี ซึ่งผู้บริโภคชนะคดีและได้เงินคืน และถือว่าเรื่องนี้ไม่ใช่กลยุทธ์ทางการตลาด แต่เป็นการลวงผู้บริโภค ที่ผ่านมา ตนยังไม่เคยเห็นสินค้าใดในไทยใช้วิธีแบบนี้ และการลดราคากระทะสองใบแถมตะหลิวมูลค่า 37,800 บาท เหลือแค่ 3,300 บาท เท่ากับลดไปมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซ้ำยังมีกำไรเหลือไปทุ่มโฆษณาลวงผู้บริโภคต่อไปอีกมหาศาล

กระทะโคเรียคิง

          นายเกษมสันต์ กล่าวอีกว่า กรณีกระทะโคเรียคิง ไม่สามารถนำไปเทียบกับสินค้าแบรนด์เนมที่ขายราคาแพงได้ เพราะสินค้าเหล่านั้น ตั้งราคาแพงและมีคุณภาพดีจริง บวกกับต้นทุนอื่น ๆ อาทิ ค่าเช่าสถานที่ ค่าพนักงาน ทำให้ต้องขายแพงตามราคาที่ตั้งจริง บางแบรนด์ไม่สามารถลดราคาได้จริง ๆ

          อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้รัฐจำเป็นต้องดูแลผู้บริโภค เพราะต่อให้ประเทศที่ผู้คนเข้าถึงข่าวสารได้มากอย่างสหรัฐฯ ยังถือว่าวิธีนี้ผิดกฎหมาย และแม้ไทยจะยังไม่มีกฎหมายโดยตรง แต่หากรัฐใส่ใจผู้บริโภคก็สามารถเอาผิดได้ รวมไปถึงคนที่ตกเป็นเหยื่อนั้น ก็ควรรวมตัวกันไปแจ้งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือ สภาทนายความ เพื่อฟ้องร้องเอาเงินคืนต่อไป

กระทะโคเรียคิง

ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Kasemsant Weerakun, Korea King

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิชาการแฉกลยุทธ์ โคเรียคิง ตั้งราคา 18,000 แต่ขายจริง 3,000 เข้าข่ายหลอกลวงหรือไม่ ? อัปเดตล่าสุด 18 พฤษภาคม 2560 เวลา 10:31:07 40,573 อ่าน
TOP