x close

หยุดทิ้งกันมั่ว สส. ชวนคัดแยกขยะอันตรายตั้งแต่ต้นทาง


            หลายปีที่ผ่านมาปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศไทยมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงพฤติกรรมการกินการอยู่ของคนในสังคมที่บริโภคสิ่งของต่าง ๆ ฟุ่มเฟือยมากขึ้น เรียกได้ว่าเราสร้างขยะกันแทบทุกวินาที ยิ่งใช้มาก ก็ยิ่งทิ้งขยะมาก...

            จากข้อมูลกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้ระบุว่า จำนวนขยะมูลฝอยเหล่านี้ ขยะที่สร้างปัญหาแก่ระบบนิเวศมากที่สุด คือ ขยะอันตราย หรือ ขยะพิษ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี สิ่งที่น่ากลัว คือ หากขยะอันตรายเหล่านี้ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งสารพิษเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งการหายใจ ดูดซึมทางผิวหนัง และการกิน ส่งผลให้เกิดอาการ 2 แบบ คือ

            1) แบบเฉียบพลัน เป็นการได้รับสารพิษเพียงครั้งเดียว เกิดอาการในระยะเวลาสั้น เช่น เกิดผื่นคัน ระคายเคืองตา แสบผิวหนัง ผิวหนังไหม้ อักเสบ หายใจไม่ออก และหน้ามืดวิงเวียน เป็นต้น

            2) แบบเรื้อรัง เป็นการได้รับสารพิษเป็นระยะเวลานาน และเกิดการสะสมในร่างกายจนเกิดอาการ เช่น เป็นอัมพาต โรคระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง ส่งผลต่อทารกในครรภ์ และหากได้รับในปริมาณที่มาก อาจทำให้เสียชีวิตได้

คัดแยกขยะอันตราย

            ไม่เพียงเท่านี้ ขยะอันตรายยังส่งผลกระทบไปถึงระบบนิเวศอีกด้วย เพราะหากสารอันตรายเหล่านี้ซึมหรือไหลลงสู่พื้นดินหรือแหล่งน้ำ ก็จะไปสะสมในห่วงโซ่อาหารเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและพืชผักต่อไป เมื่อเรานำไปบริโภคก็จะได้รับสารนั้นเข้าสู่ร่างกาย เหมือนเรากินยาพิษเข้าไปอย่างช้า ๆ นอกจากจะทำให้เกิดโรคแล้ว ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มอีกด้วย...

คัดแยกขยะอันตราย

            ดังนั้น เพื่อป้องกันสิ่งที่เกิดขึ้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ผลิตภัณฑ์หรือภาชนะใดเป็นขยะอันตราย ? ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่าในบ้านของเรามีวัตถุอันตรายเก็บสะสมอยู่มาก เช่น เมื่อเราใช้ของไม่หมดหรือติดอยู่ที่ก้นขวด แล้วตัดสินใจทิ้งมันไป ขยะเหล่านี้ก็จะกลายเป็นขยะอันตรายหรือขยะพิษต่อไป โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้แนะวิธีสังเกตง่าย ๆ ว่าผลิตภัณฑ์หรือภาชนะใดเป็นขยะอันตราย ให้ดูจากฉลาก หรือสัญลักษณ์ที่ติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ เช่น

            - สารไวไฟ ติดไฟง่ายเมื่อถูกประกายไฟ เช่น ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันก๊าด น้ำมันจาระบี ทินเนอร์ ผงกำมะถัน น้ำยาทาเล็บ น้ำยาล้างเล็บ ยาขัดเงาพื้น

            - สารมีพิษ อาจทำให้เสียชีวิต หรือบาดเจ็บอย่างรุนแรงจากการกิน สูดดม หรือจากการสัมผัส เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ ยาฆ่าแมลงและกำจัดศัตรูพืช ลูกเหม็น ยาเบื่อหนู ยาฆ่าเชื้อรา เทอร์โมมิเตอร์ หลอดไฟ

            - สารกัดกร่อน มีปฏิกิริยาทางเคมีที่สามารถเผาไหม้ หรือทำลายผิวหนังและเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ น้ำมันเคลือบเงารถ น้ำยาที่มีส่วนผสมของแอมโมเนีย น้ำยาที่มีสารฟอกขาว น้ำยาฆ่าเชื้อ สีย้อมผ้า น้ำยาทำความสะอาดท่อน้ำทิ้ง

            - สารที่ระเบิดได้ ระเบิดได้เมื่อถูกการเสียดสี หรือถูกความร้อน เช่น ดอกไม้ไฟ กระป๋องสเปรย์ต่าง ๆ

            - สังเกตคำเตือนที่ระบุอยู่ข้างภาชนะบรรจุด้วย เช่น ห้ามรับประทาน ห้ามเผา อันตราย DANGER TOXIC CORROSIVE และ FLAMMABLE เป็นต้น

            สำหรับการจัดการขยะอันตรายภายในครัวเรือน เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟ ภาชนะบรรจุน้ำยาทำความสะอาด กระป๋องสเปรย์ยาฆ่าแมลง ยาและเครื่องสำอางหมดอายุ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ก็ได้แนะแนวทางการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม ดังนี้

            - ซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารอันตรายเท่าที่จำเป็น

            - เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยหรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

            - ใช้ผลิตภัณฑ์ตามคำแนะนำในฉลาก และใช้ในปริมาณที่แนะนำเท่านั้น

            - ให้เก็บผลิตภัณฑ์ที่เหลือ หรือไม่ใช้แล้ว ในภาชนะบรรจุเดิมที่มีป้ายแสดงข้อความ/คำเตือน เพื่อความปลอดภัยและรอการเก็บขนจากเจ้าหน้าที่ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ให้ส่งไปยังสถานที่ที่รับซื้อ หรือจุดรับทิ้งขยะอันตราย

            - รวบรวมขยะอันตรายใส่ถุง หรือติดฉลากเพื่อให้เจ้าหน้าที่มองเห็นได้ชัดเจน

คัดแยกขยะอันตราย

คัดแยกขยะอันตราย



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หยุดทิ้งกันมั่ว สส. ชวนคัดแยกขยะอันตรายตั้งแต่ต้นทาง อัปเดตล่าสุด 31 ตุลาคม 2560 เวลา 11:19:24 12,636 อ่าน
TOP