x close

ทนายเคลียร์ปม หมอยอร์นไม่เป่าแอลกอฮอล์ ทำแบบนี้ได้หรือ

หมอยอร์นไม่เป่าแอลกอฮอล์

         ทนายรณณรงค์ ไขข้อข้องใจ หมอยอร์นไม่ยอมเป่าแอลกอฮอล์ ได้เหรอ ? หวั่นเป็นเรื่องเงียบเพราะเป็นถึงข้าราชการระดับสูง ชี้เจ้าตัวพยายามงัดกฎหมายว่าไม่ได้ประมาท

         ข่าวหมอยอร์น หรือ นายแพทย์ยอร์น จิระนคร รองผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและสาธารณสุขนิเทศก์ เขต 12 ขับรถยนต์ชน นายสมชาย ยามดี หรือนัท อายุ 22 ปี รปภ. ได้รับบาดเจ็บสาหัส และปฏิเสธที่จะให้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า หมอยอร์นปฏิเสธการเป่าแอลกอฮอล์ได้หรือไม่นั้น
         เกี่ยวกับเรื่องนี้ (15 พฤศจิกายน 2560) ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ เผยว่า ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 43 อนุ 2 มาตรา 158, มาตรา 160 ตรี ก่อนปี 2558 ถ้าตำรวจขอให้เป่าแอลกอฮอล์ แล้วไม่เป่านั้นทำได้ แต่ว่าจะมีโทษปรับ 1,000 บาท

         แต่หลังจากปี 2558 ได้มีการแก้ไขกฎหมายใหม่ คือ ถ้าตำรวจขอให้เป่า แล้วไม่เป่า สามารถสันนิษฐานได้ทันทีว่าเมา และแจ้งข้อหาเมาแล้วขับได้ทันที โดยที่ไม่ต้องหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ว่าผู้ต้องหามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินหรือไม่ ซึ่งหากผู้ต้องหาไม่เมา แต่ชนคนบาดเจ็บสาหัส จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ แต่ถ้าเมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส มีโทษ 2 ปี ไม่เกิน 6 ปี ปรับไม่เกิน 2.4 แสนบาท

หมอยอร์นไม่เป่าแอลกอฮอล์

         ส่วนคดีดังกล่าวนั้นคนเจ็บเป็นเพียงแค่ รปภ. แต่หมอยอร์นเป็นเจ้าหน้าที่ข้าราชการระดับสูง เกรงว่าในระยะยาวอาจมีการล้มคดี วิ่งเต้นหลังเรื่องเงียบไปแล้ว ซึ่งถ้าหากในวันเกิดเหตุพบหลักฐานที่หมอยอร์นปฏิเสธเป่าแอลกอฮอล์ หรือไม่มีการบันทึกอะไรใด ๆ ไว้ ก็จะทำให้หมอยอร์นหลุดจากข้อหาได้ เพราะทั้งหมดเป็นข้อต่อสู้สำคัญในชั้นศาล เช่นเดียวกับกรณีเสี่ยรถเบนซ์ชนรถฟอร์ดของ 2 นักศึกษาปริญญาโท ก็หลุดจากข้อกล่าวหานี้ แม้มาเขียนบันทึกเพิ่มเติมภายหลัง ก็มีโอกาสสูงที่จะพ้นจากข้อหา และการรับโทษก็จะลดน้อยลงครึ่งหนึ่งด้วย

         ขณะที่การพิสูจน์เรื่องเมานั้นก็ไม่ยาก โดยทนายรณณรงค์ บอกว่า ขึ้นอยู่กับความรอบคอบของตำรวจเจ้าของคดีว่า ได้เรียกคนที่อยู่กับหมอยอร์นในคืนเกิดเหตุมาสอบปากคำด้วยหรือไม่ เพื่อหาข้อมูลว่าหมอยอร์นอยู่ที่ไหน และทำอะไรมาก่อนเกิดเหตุ

หมอยอร์นไม่เป่าแอลกอฮอล์

         นอกจากนี้ ทนายรณณรงค์ ยังให้ความเห็นถึงกรณีที่หมอยอร์นลงจากรถมาดึงตัว รปภ. ว่า ถ้าหมอยอร์นดึงร่าง รปภ. แล้วขับรถหนี และลากร่าง รปภ. ไปต่ออีก จะเข้าข่ายพยายามฆ่าทันที แต่ถ้าหากลงจากรถแล้วเห็นคนติดอยู่ใต้ท้องรถ และพยายามดึงแต่ไม่ได้ขับรถไปไหนต่อ ก็จะเป็นแค่เรื่องขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งส่วนตัวแล้วมองได้ว่าหมอยอร์นพยายามต่อสู้ทางกฎหมายว่าไม่ได้ประมาท และอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัยเนื่องจากมองไม่เห็น ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายก็ยังได้ และจากการที่กว่าหมอจะออกมาให้สัมภาษณ์ ก็ต้องผ่านการพูดคุยกับทนายความมาแล้วด้วย

         ทั้งนี้ ขอให้ตำรวจอย่าสร้างกระแส โดยการตั้งข้อหาพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพราะเหมือนเป็นการกลั่นแกล้งผู้ต้องหา ให้จบแค่ความประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส และขับขี่รถในขณะเมาสุรา ถ้าตำรวจพิสูจน์ได้ว่าตั้งใจ อาจจะเป็นจากกรณีหมอยอร์นกับ รปภ. รู้จักกันมาก่อน พอเห็นก็ชนทันที แต่นี่ไม่รู้จักกันจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นอุบัติเหตุ ส่วนการใช้ตำแหน่งประกันตัวนั้นสามารถทำได้ ซึ่งข้าราชการจะดูที่ฐานเงินเดือน เช่น หมอยอร์นเงินเดือน 5 หมื่น วงเงินประกันก็จะไม่เกิน 5 แสนบาท แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นคดียาเสพติด ก็ไม่สามารถใช้ตำแหน่งในการประกันตัวได้

ภาพและข้อมูลจาก
amarintv.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทนายเคลียร์ปม หมอยอร์นไม่เป่าแอลกอฮอล์ ทำแบบนี้ได้หรือ อัปเดตล่าสุด 15 พฤศจิกายน 2560 เวลา 16:45:53 14,787 อ่าน
TOP