x close

คนไทยหย่าร้าง พุ่งสูงกว่า 1 แสนคู่ต่อปี เหตุพูดคำอ่อนไหว แน่จริงก็เลิกกันไปเลย !

การหย่าร้าง

          กรมสุขภาพจิต ห่วงสถาบันครอบครัวไทย หลังพบปี 59 หย่าร้าง 118,539 คู่ เพิ่ม 39% ในรอบ 10 ปี พร้อมแนะ "5 ข้อต้องทำ" และ "8 คำห้ามใช้"

          วันที่ 11 ธันวาคม 2560 นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผย สถิติจากกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ในปี 2559 มีคนไทยจดทะเบียนสมรสรวม 307,746 คู่ และมีผู้จดทะเบียนหย่าจำนวน 118,539 คู่ โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการหย่าร้างมีแนวโน้มสูงขึ้นจากร้อยละ 27 ในปี 2549 เพิ่มเป็นร้อยละ 39 ในปี 2559

          ปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุของการหย่าร้างประการหนึ่งคือ การได้รับแรงกดดันจากภายนอก เช่น ความเครียดจากการทำงาน สภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัมพันธภาพภายในครอบครัว โดยเฉพาะในคู่สามีภรรยาการสื่อสารเชิงบวกถือว่าเป็นกุญแจสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา เพราะการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมหรือที่เรียกว่าฟังแล้วปรี๊ดหู มีผลบั่นทอนจิตใจและความรู้สึก อาจทำให้เรื่องเล็ก ๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้ความสัมพันธ์เปราะบางและแตกหักลงในที่สุด

การหย่าร้าง

          ทั้งนี้กรมสุขภาพจิต มีคำแนะนำสำหรับการใช้ชีวิตคู่ เพื่อสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและมีความสุข ให้ยึดหลักการร่วมกันสร้างกฎเหล็กในครอบครัว คือ "5 ข้อที่ต้องทำ 8 คำห้ามใช้ " ประกอบด้วย
          5 ข้อต้องทำ

          - ร่วมกันสร้างกฎของครอบครัวที่ทุกคนยอมรับและปฏิบัติได้
          - เมื่อมีปัญหาต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไข อย่าคิดว่าเป็นปัญหาของคนใดคนหนึ่ง
          - โต้เถียงกันได้ เป็นเรื่องธรรมดาของครอบครัว แต่ต้องไม่ตะคอกข่มขู่หรือยั่วโมโหอีกฝ่าย
          - เมื่อต่างฝ่ายต่างรู้ตัวว่าเริ่มมีความโกรธเพิ่มขึ้น ให้เตือนสติตนเอง หยุดพูด เมื่อมีความพร้อมจึงกลับมาพูดกันใหม่
          - เมื่อพร้อมที่จะแก้ปัญหา ควรหันหน้ามาร่วมกันปรึกษาหาทางแก้ไข และประการสำคัญต้องไม่ดูถูกความคิดของอีกฝ่าย


การหย่าร้าง

          8 คำต้องห้าม เสี่ยงปัญหาสั่งสมจนหย่าร้าง

          - คำสั่งเผด็จการ เช่น "เงียบไปเลย" หรือ "ทำอย่างนี้สิ"
          - คำพูดที่ประชดประชัน เปรียบเทียบ หรือพูดถึงปมด้อย เช่น "ก็เป็นซะแบบนี้ ถึงได้ดักดานอยู่แค่นี้" หรือ "ถ้าฉันแต่งงานกับแฟนเก่า ป่านนี้คงสบายไปแล้ว"
          - คำพูดท้าทาย เช่น "ถ้าแน่จริงก็เก็บของออกไปเลย" หรือ "พูดแบบนี้ก็เลิกกันไปเลยดีกว่า"
          - คำพูดเอาชนะกัน เช่น "ที่มีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะแกนั่นแหละ" หรือ "เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของฉัน"
          - คำพูดที่ขุดคุ้ยเรื่องเก่ามาพูดซ้ำ เช่น "บอกกี่ที ๆ ก็ไม่เชื่อ ครั้งที่แล้วก็แบบนี้" หรือ "อยู่กินกันมา 10 ปีไม่เห็นเธอทำอะไรสำเร็จสักอย่าง"
          - คำพูดเชิงกล่าวหา กล่าวโทษ เช่น "อย่ามาอ้างว่าติดประชุม ติดเด็กน่ะสิ"
          - คำพูดหยาบคาย
          - คำพูดล่วงเกิน เช่น พูดดูถูกเหยียดหยามบุพการี ญาติพี่น้องของอีกฝ่าย

ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คนไทยหย่าร้าง พุ่งสูงกว่า 1 แสนคู่ต่อปี เหตุพูดคำอ่อนไหว แน่จริงก็เลิกกันไปเลย ! อัปเดตล่าสุด 13 ธันวาคม 2560 เวลา 12:02:31 13,186 อ่าน
TOP