x close

โลกฮือฮา นักวิทย์ฯ จีน ประสบความสำเร็จโคลนนิ่งลิง ได้เป็นครั้งแรก


โคลนนิ่งลิง

             ข่าวใหญ่วงการวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์จีน ประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งลิง โดยใช้วิธีการถ่ายโอนนิวเคลียส ได้เป็นครั้งแรกของโลก อันจะเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ในอนาคต 

             เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 สำนักข่าวรอยเตอร์ส เผยรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันประสาทวิทยาแห่งประเทศจีน ในกรุงเซี่ยงไฮ้ ประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งลิงได้เป็นคู่แรกของโลก โดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า การถ่ายโอนโซมาติกเซลล์ (Somatic Cell Nuclear Transfer หรือ SCNT) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนนิวเคลียสของเซลล์ และนำนิวเคลียสที่มีดีเอ็นเอ ใส่ลงไปในไข่ที่ถูกดึงนิวเคลียสออก ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับแกะดอลลี่ แกะโคลนนิ่งตัวแรกของโลกที่สร้างความฮือฮาต่อวงการวิทยาศาสตร์โลกเมื่อ 22 ปีก่อน (พ.ศ. 2539)

             งานวิจัยชิ้นล่าสุดนี้ ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Cell ในวันที่ 24 มกราคม 2561 โดยทีมนักวิจัยได้ตั้งชื่อให้กับลิงโคลนนิ่งคู่แรกนี้ว่า จงจง (Zhong Zhong) และ ฮวาฮวา (Hua Hua) โดยทั้งคู่เป็นผลสำเร็จจากความพยายามทั้งสิ้น 79 ครั้ง โดยก่อนหน้านี้มีลิงคู่หนึ่งประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งจากเซลล์ชนิดอื่น แต่ไม่สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้  ทางทีมวิจัยจึงทดลองหลายวิธี กระทั่งพบว่ามีวิธีการเดียวนี้ที่เป็นผลสำเร็จ โดยเจ้าจงจงและฮวาฮวากำเนิดขึ้นมาเมื่อ 8 และ 6 สัปดาห์ก่อน ตามลำดับ และทั้งคู่เติบโตสมบูรณ์ตามเกณฑ์ปกติ 

             จากความสำเร็จนี้ ทำให้เจ้าจงจงและฮวาฮวา กลายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มไพรเมต (Primate) คู่แรกของโลก ที่ถูกโคลนนิ่งจากเซลล์ที่ไม่ใช่ตัวอ่อน ซึ่งสัตว์กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีพัฒนาการสูงที่สุด อันได้แก่ ลิง เอป (ลิงไม่มีหาง) และมนุษย์ ทั้งนี้ทั้งนั้น แน่นอนว่าความสำเร็จดังกล่าวนำมาซึ่งความเป็นกังวลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องจริยธรรมและศีลธรรม เนื่องจากเสมือนเป็นการเปิดทางให้โลกเข้าใกล้การโคลนนิ่งสายพันธุ์มนุษย์มากขึ้น
              อย่างไรก็ดี ทางทีมนักวิจัยเปิดเผยว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการวิจัยทางการแพทย์ในอนาคต ช่วยให้สามารถศึกษาโรคทางพันธุกรรมได้ รวมไปถึงการศึกษาเกี่ยวกับโรคมะเร็ง โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบเผาผลาญและภูมิคุ้มกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ในอนาคต

             "มนุษย์ก็จัดอยู่ในสัตว์จำพวกไพรเมต ดังนั้นแสดงให้เห็นว่า อุปสรรคทางด้านเทคนิคในการโคลนนิ่งสัตว์จำพวกไพเมต ได้ถูกทลายลงแล้ว แต่ทั้งนี้ เหตุผลที่เราทำลายอุปสรรคนี้ ก็เพื่อผลิตโมเดลสัตว์ที่เป็นประโยชน์ต่อการแพทย์ เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพของมนุษย์ ไม่ได้ตั้งใจที่จะนำวิธีการโคลนนิ่งนี้มาใช้กับมนุษย์แต่อย่างใด" ตัวแทนทีมวิจัย เผย

             สำหรับสัตว์ที่มีลักษณะเหมือนกันทางพันธุกรรมจากการโคลนนิ่งเช่นนี้ เป็นประโยชน์ต่อการวิจัย เนื่องจากความผันแปรทางพันธุกรรมในสัตว์ที่ไม่ได้มาจากโคลนนิ่ง เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความสับสน  อาจทำให้การทดลองเป็นเรื่องยากลำบาก ดังนั้นวิธีการนี้จึงสามารถเป็นแนวทางในการทดสอบทางการแพทย์ใหม่ ๆ ก่อนจะพัฒนาไปสู่การใช้งานจริง

ภาพจาก Chinese Academy of Sciencesl

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก bbc.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โลกฮือฮา นักวิทย์ฯ จีน ประสบความสำเร็จโคลนนิ่งลิง ได้เป็นครั้งแรก อัปเดตล่าสุด 26 มกราคม 2561 เวลา 09:36:13 15,158 อ่าน
TOP