x close
hilight > ข่าวภูมิภาค

ย้อนรอยการทิ้งระเบิดสงครามโลก - ราชบุรี เคยโดนบอมบ์สะพานหักมาแล้ว

| 19,091 อ่าน

           นักวิชาการ เผยที่มาระเบิดสงครามโลกที่จมอยู่ในน้ำ ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ จ.ราชบุรี ระบุ บริเวณดังกล่าวเคยถูกทิ้งระเบิดมาก่อน ชี้ เป็นเรื่องที่น่ากังวล หากไม่เร่งเก็บกู้ เพราะอาจเกิดอะไรขึ้น เมื่อไหร่ก็ได้

            จากกรณีที่ผู้รับเหมาสร้างรถไฟทางคู่ สายนครปฐม-หัวหิน ขุดวางตอม่อสะพาน แล้วพบกับระเบิดหลายลูกจมอยู่ใต้น้ำกลางสะพานจุฬาลงกรณ์ จ.ราชบุรี แต่ละลูกมีน้ำหนักถึง 1,000 ปอนด์ สร้างความแตกตื่นและหวาดผวาให้กับประชาชนจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ ได้เร่งวางแผนเก็บกู้ระเบิดดังกล่าวอยู่นั้น (อ่านข่าว : ผู้ว่าฯ พร้อมร่วมมือแผนกู้ดงระเบิดยักษ์ กลางเมืองราชบุรี)

 

            ล่าสุด วันที่ 28 สิงหาคม 2561 สปริงนิวส์ รายงานการสัมภาษณ์ พ.อ. ดร.สุชาต จันทรวงศ์ นักวิชาการสถาบันราชบุรีศึกษา ระบุว่า ระเบิดที่พบจมน้ำอยู่ใกล้สะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง จ.ราชบุรี ได้รับการยืนยันแล้วว่ามีอยู่ประมาณ 3 ลูก โดยที่มาของระเบิดพบว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2488 ที่กองทัพญี่ปุ่นเริ่มพ่ายแพ้สงครามในเมียนมา ฝ่ายสัมพันธมิตรจำเป็นต้องทำลายเส้นทางถอยทัพของกองทัพญี่ปุ่น ที่จะเดินทางลงใต้ไปยังมาเลเซีย และไปฐานทัพใหญ่ที่ประเทศสิงคโปร์

 

            โดยสมัยก่อนต้องเดินทางด้วยรถไฟ ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงมีเป้าหมายและจำเป็นต้องระเบิดสะพานทิ้ง ซึ่งสะพานที่โดนทำลายที่แรกคือ สะพานข้ามแม่น้ำแคว จ.กาญจนบุรี ต่อมาคือ สะพานจุฬาลงกรณ์ ซึ่งทอดข้ามแม่น้ำแม่กลอง เขตตัวเมืองราชบุรี ซึ่งสะพานจุฬาลงกรณ์เคยถูกทิ้งระเบิดถึง 3 ครั้ง

 

            ครั้งที่ 1 วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2488


            ครั้งที่ 2 วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2488


            ครั้งที่ 3 วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488

 

            ระเบิดทั้งหมดเป็นแบบตั้งเวลา และมาระเบิดพร้อมกันในรุ่งเช้าของวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 ทำให้สะพานจุฬาลงกรณ์หักกลาง ไม่สามารถใช้งานได้

 

            พ.อ. ดร.สุชาต กล่าวอีกว่า การทิ้งระเบิดครั้งนั้นมีลูกระเบิดบางส่วนที่ด้านหรือไม่ทำงาน โดยต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าระเบิดยังมีอานุภาพ พร้อมทำงานได้เสมอ ซึ่งอานุภาพความแรงของตัวระเบิด หากอยู่บนพื้นดินจะมีรัศมีความแรงประมาณ 1 กิโลเมตร และหากอยู่ในน้ำความแรงจะน้อยลง แต่สิ่งที่ตามมาคือ แรงดันระเบิดอาจจะไปกระทบกับตอม่อสะพานเดิมได้

 

            ทั้งนี้ ต้องพิสูจน์ว่าสาเหตุที่ระเบิดมันด้านเกิดจากอะไร โดยจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิด นักดำน้ำ กองทัพเรือ ลงสำรวจอย่างละเอียด ซึ่งหากเกิดขึ้นที่ต่างประเทศจะมีการสำรวจและเก็บกู้ขึ้นทันที แต่ที่ จ.ราชบุรี ยังไม่มีการเก็บกู้

 

            นอกจากนี้ หากไม่มีการเก็บกู้ระเบิด ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล และคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เนื่องจากอาจมีตัวแปรที่ส่งผลต่อระเบิดใต้น้ำได้ เช่น ความแรงของกระแสน้ำ การขยับตัวของดิน การสั่นสะเทือน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

 

ภาพจาก สปริงนิวส์

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนรอยการทิ้งระเบิดสงครามโลก - ราชบุรี เคยโดนบอมบ์สะพานหักมาแล้ว อัปเดตล่าสุด 29 สิงหาคม 2561 เวลา 16:28 19,091 อ่าน
TOP