x close

สัมภาษณ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์

          ข่าว การเมือง เผย บทความ สัมภาษณ์พิเศษ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่ง อภิสิทธิ์ และ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคเต็งหนึ่งที่ถูกมองว่ามีโอกาสเข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสูง ก่อนอื่นไปทำความรู้จักกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แคนดิเดท นายกรัฐมนตรีคนต่อไปใน การเลือกตั้ง กันดีกว่า

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

          เป็นพรรคเต็งหนึ่งที่ถูกมองว่ามีโอกาสเข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสูง "ทีมข่าวโต๊ะเลือกตั้ง เดลินิวส์" อาสาพาไปจับเข่าคุยกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แคนดิเดท นายกรัฐมนตรีคนต่อไป

           เหตุผลที่ใช้สโลแกน "ประชาชนต้องมาก่อน" และใช้นโยบายชุดวาระประชาชน

          เหตุที่ใช้คำว่า "วาระประชาชน" เพราะนโยบายที่เราทำนั้น เราทำมาจากประชาชน เราเดินทางไปทั่วประเทศ เราจัดสมัชชาประชาชน จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น ผมไปนั่งฟังในการสัมมนาที่เขาจัดตามมหาวิทยาลัยหรือตามองค์กรต่างๆ ผมถือว่าเป็นนโยบายที่ประชาชนเป็นคนทำ

          แล้วก็คำว่า "ประชาชนต้องมาก่อน" ก็เพราะผมเห็นว่าที่ผ่านมาเรามีนโยบายที่วกกลับไปเป็นเรื่องประโยชน์ของตนของพวก วันนี้เราต้องยึดให้ได้ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ เราจะทำนโยบายอะไร เราต้องถามว่าอันนี้ประโยชน์ของประชาชนอยู่ตรงไหน เป็นสิ่งที่มาก่อนใช่หรือไม่ ถ้าใช่ อันนี้ก็จะเป็นนโยบาย ถ้าบอกว่าอันนี้ประชาชนได้บ้างแต่จริงๆ ไปได้ประโยชน์กับกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ อย่างนี้ไม่ใช่นโยบายที่ยึดประชาชน

          ผมกล้าพูดได้ว่าไม่มีพรรคการเมืองไหนสามารถนำเสนอนโยบายเท่ากับเรา เราพูดมาเกือบทุกเรื่องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม พลังงาน สิ่งแวดล้อม การเมือง การบริหาร การศึกษา สาธารณสุข เราลงละเอียดมาก เพราะฉะนั้นอันนั้นคือตัวเนื้อหา ซึ่งความรับรู้อาจจะมากบ้างน้อยบ้าง หรือความสนใจอาจอยู่ที่บางจุดบางประเด็น แต่หลักๆ เราได้พูดถึงเรื่องของการฟื้นฟูประชาธิปไตย การลงทุนเรื่องของคน ทั้งในเรื่องโอกาสและสวัสดิการ การฟื้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งการดูเศรษฐกิจให้เห็นปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว การนำความสงบกลับสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และความปรองดองในประเทศ

           รายละเอียดนโยบายมีมากและยาว เข้าใจยาก

          ผมขอถามว่าปัญหาของประเทศมันสั้นๆ เรื่องเดียวหรือเปล่า เราก็จำเป็นต้องเสนอให้ครบถ้วน แต่จุดที่จะเน้น เราจะไปว่ากันในช่วงหาเสียงเลือกตั้งต่อไป เช่น จะบอกว่าเขาไม่รู้หรือไม่สนใจเลย ก็คงไม่ใช่ ผมไปที่ไหนตอนนี้ ก็มักจะถามว่าเรียนฟรีเป็นอย่างไร ให้อะไรบ้าง อยู่โรงเรียนนี้ได้หรือไม่ แล้วที่เดิมต้องจ่ายเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นอย่างไร ผมคิดว่าคนสนใจและรับรู้

          ผมไปต่างจังหวัดแล้วได้เจออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ก็ถูกถามว่าตกลงมีค่าตอบแทนให้ อสม. แน่นะ และให้พวกเราทำอะไร ผมคิดว่าเขาก็รู้ เวลาไปเจอผู้สูงอายุ ก็ถูกถามว่าเบี้ยยังชีพได้ทุกคนแล้วใช่หรือไม่ ตอนที่ผมไปทำเรื่องมันสำปะหลัง เขาก็ถามเรื่องรถไถ เรื่องเอามันไปผลิตเอทานอล เวลาผมไปที่ภาคอีสาน บางพื้นที่ก็จะถามว่าตกลงพื้นที่ชลประทานจะผันน้ำจากไหน ผมคิดว่าที่ผ่านมาเราก็ออกไปเยอะ และแน่นอนไม่ใช่ทุกคนสนใจทุกเรื่อง แต่เรื่องที่เขาสนใจนั้นผมสังเกตว่าวันหลังเขากลับมาถามเราให้ลงลึกละเอียดไปอีก แม้แต่ อสม. ก็ถามลึกลงไปว่าถ้าจะมีค่าตอบแทน อสม. บริหารโดยไม่ผ่าน อบต. ได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วขณะนี้เราเดินหน้าในการสื่อสารว่าอะไรเป็นอะไร

           มองว่ารายละเอียดไม่เป็นอุปสรรคในการสื่อสารกับประชาชน

          เราก็ต้องปรับปรุง มีเสียงทักท้วงว่าละเอียดไปหรือไม่ ยังเป็นนามธรรมมากหรือน้อยเกินไป เป็นประชานิยมหรืออะไรก็ตาม ซึ่งเรารับฟังทุกเสียงและจะปรับปรุงทั้งในเนื้อหาสาระที่จำเป็นและในแง่วิธีการสื่อสาร จะมีวิธีการนำเสนอต่อไปโดยปรับให้เข้ากับรูปแบบกติกาของ กกต. แต่อย่างน้อยที่สุดผมคิดว่าเรามีสิ่งที่เป็นวัตถุดิบหรือสาระพร้อมมูลที่สุดในทุกเรื่อง นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ครบวงจร เพราะเราถือว่าเรื่องนี้สำคัญที่สุด

          เวลานี้เราต้องบอกกับประชาชนว่าการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องของอำนาจเก่าหรืออำนาจใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่คุณทักษิณจะกลับมาหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องใครเป็นนอมินีใคร ไม่ใช่เรื่องฝ่ายค้านเก่า ฝ่ายรัฐบาลเก่า เท่ากับว่าปัญหาของประเทศที่ประชาชนเผชิญอยู่ ปากท้องของแพง เศรษฐกิจไม่ดี คนไม่มีความเชื่อมั่น ความสามารถของประเทศลดลงเพราะปัญหาระบบการศึกษา ใครจะเข้ามาแก้ ปัญหายาเสพติดใครจะแก้ ปัญหาร้านเกมใครจะแก้ อันนี้เราต้องทำให้ได้ว่าการเลือกตั้งมันคือเรื่องนี้ นั่นแหละคือสิ่งที่ผมเรียกว่า "วาระประชาชน" มันเป็นเวลา เป็นโอกาสของประชาชน

          ไม่ใช่พอมีการเลือกตั้งก็มาบอกว่าใครมีอดีต ส.ส. มากที่สุด ใครจะเก่งเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองดีกว่ากัน ผมคิดว่าถ้าไปถามคนตอนนี้เวลาเขาเห็นข่าวย้ายพรรค รวมพรรค แยกพรรค เบื่อที่สุด เพราะเขามีความรู้สึกว่าสรุปแล้วจะให้การเมืองเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ใช่หรือไม่ นักการเมืองเล่นกันเองแล้วเมื่อไหร่จะถึงเวลาของประชาชน เมื่อไหร่เป็นเวลาที่จะมาแก้ปัญหาให้เขาบ้าง

           ที่พรรคทุ่มเงิน 50 ล้านบาท ประชาสัมพันธ์นโยบายก่อนใคร ผลตอบรับเป็นอย่างไร

          ผมคิดว่าความรับรู้เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ดีขึ้น เราเคยไปสำรวจเมื่อปี 49 ความที่เราถูกกันออกจากสื่อโทรทัศน์และวิทยุอย่างรุนแรง ตัวเลขที่เราพบซึ่งเราตกใจ คือเรื่องปัญหาความรับรู้ ไม่ใช่เรื่องคะแนนนิยม เขาไม่รู้เลยว่าประชาธิปัตย์คิดเรื่องนโยบายอย่างไร ก็น่าเสียดายเพราะส่วนหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่าประชาชนรับข่าวจากโทรทัศน์และวิทยุเป็นหลัก แต่วันนี้เขาชัดเจนแล้วว่าประชาธิปัตย์มีจุดยืนเรื่องหลักๆ อะไร ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร

          ส่วนเขาจะเลือกเราหรือไม่ เขาก็คงต้องรอดูคนอื่นด้วยเป็นธรรมดา เพราะยังไม่สมัครรับเลือกตั้งเลยแล้วจะไปคาดหวังว่าเขาตัดสินใจแล้วคงไม่ใช่ แต่อย่างน้อยเขารู้แล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความคิดอะไรเกี่ยวกับปัญหาของเขา เกี่ยวกับปัญหาของบ้านเมือง ถ้าเทียบกับก่อนที่เราทำการรณรงค์ก็คือเขาไม่รู้จักเราเลย รู้แต่ว่าเราเป็นฝ่ายค้านมั้ง แล้วก็นานๆ จะเห็นอภิปรายในสภาสักครั้ง

          ผมคิดว่าพอใจกับเสียงที่ประเมินมา โดยรวมถือว่าบรรลุเป้าหมายของการทำให้ประชาชนได้เข้าใจพรรคประชาธิปัตย์ดีขึ้น และถ้าถามผมว่าเงิน 40-50 ล้านบาทอย่างนี้ เทียบกับเวลาที่เขาพูดกันซื้อตัว ส.ส. เขตหนึ่งใช้เงินเท่าไหร่ ผมคิดว่าเราใช้เงินอย่างนี้สร้างสรรค์กว่าเยอะ ส่วนผลตอบรับต่อตัวผมก็มีโพลที่สะท้อนออกมาเป็นระยะๆ อยู่แล้ว แต่ก็ยังเร็วมาก เพราะตอนนี้ถ้าเป็นฟุตบอลยังไม่ทันเป่านกหวีดเริ่มเลย แค่ดูฟอร์มกันอยู่

           มีเสียงวิจารณ์ด้วยว่าแม้ออกตัวก่อนแต่กระแสพรรคยังไม่มีโดดเด่น

          ธรรมดาครับ บางพรรคเขาได้สื่อมานานเกือบ 6 ปีเต็ม และเรามาเจอปฏิวัติแล้ว พรรคถูกห้ามทำกิจกรรม วันนี้เป้าหมายของเราคืออยากให้เขารู้ว่าเราอยู่ตรงไหน อย่างไร ซึ่งผมคิดว่าได้แล้ว ส่วนเขาจะเลือกหรือไม่เป็นอีกขั้นหนึ่ง ผมเปรียบเทียบให้เห็นว่าเมื่อครั้งที่เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่คุณอภิรักษ์ลงสมัคร คุณอภิรักษ์ลาออกมาล่วงหน้าประมาณ 7-8 เดือน เดินหาเสียงอยู่ครึ่งปี แกยังบ่นกับผมเลยว่าโพลไม่ขึ้นเลย ผมบอกว่าไม่เป็นไรหรอก เพราะคนได้รับรู้ว่าคุณลาออกมา คุณเดิน คุณมีความตั้งใจมีความคิด แต่เขาก็ต้องรอดูก่อนสิว่ามีใครบ้าง แต่หลังจากสมัครไป 1 วัน โพลระบุคะแนนของคุณอภิรักษ์พุ่งขึ้นมา มันไม่ใช่ว่าทำวันนั้น แต่มันต้องรอจังหวะเวลาสมัครไปแล้วค่อยประเมิน แต่เราจะไปคาดหวังมากกว่านี้ผมคิดว่ามันไม่เป็นจริง

           จะทำอย่างไรให้ภาพมันดูเปรี้ยง เพราะคนมองว่าวันนี้อภิสิทธิ์เป็นเต็งหนึ่งนายกฯ

          ผมอยากให้รักกันยาวๆ มากกว่า ความเปรี้ยงปร้างทำลายทุกอย่างมาเยอะ บางเรื่องถ้าเราอยากให้มันสะใจ เราก็ทำได้ แต่ถามว่าทำแล้วมันดีต่อสังคมหรือไม่ในระยะยาว มันก็คงไม่ใช่ เช่น ผมบอกว่าเรียนฟรีจริง 12 ปี คนชอบก็เยอะ แต่บางคนบอกว่ามันเป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้วเพราะกฎหมายเขียนไว้แต่ไม่เป็นจริง แต่ผมอาจจะบอกเปรี้ยงเดียวเรียนฟรี 12 ปี จนจบปริญญาเอก คนก็จะบอกว่าทำไมให้เยอะอย่างนี้แล้วทำได้หรือ ทำแล้วคุณภาพการศึกษาเป็นอย่างไร เราก็ต้องชั่ง

          เบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุพอบอกว่าให้ 500 บาทแก่ทุกคน ก็จะมีคนบอกว่ามันไม่เปรี้ยง ถ้าให้เปรี้ยง ต้องบอกว่า 1,000 บาท 2,000 บาท แต่ผมคำนวณแล้วว่าสมมุติให้ 500 บาท 7 ล้านคน เดือนหนึ่ง 3,500 ล้านบาท แล้วปีหนึ่งเป็นเท่าไหร่ แต่ถ้า 1,000 บาทเพิ่มเป็นเท่าตัว ไหวหรือเปล่า เราก็ต้องดู สัญญากันว่าความยากจนจะไม่เหลือเลย ที่สุดจริงหรือไม่ เอาเป็นว่าประเทศที่รวยที่สุดไม่มีคนจนจริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นผมไม่ได้คิดว่าต้องเปรี้ยงปร้าง แต่ผมพยายามดูว่าเราสนองความต้องการของประเทศและประชาชนอย่างไร ถ้าเป็นแนวทางที่เขาสนับสนุนแล้วเราทำได้จริง ผูกพันกันยาว ผมถือว่าดีที่สุดสำหรับประเทศ

           ความพร้อมในการจัดตัวผู้สมัคร ส.ส.

          คาดว่ารายชื่อผู้สมัครจะออกมาได้ก่อนวันที่ 3 พ.ย. นี้ ที่จะมีการจัดงานปฐมนิเทศผู้สมัครทั้งหมด แต่พรรคประชาธิปัตย์คงส่งไม่ครบ เพราะเราเว้นให้บางเขตเลือกตั้งใน จ.พิจิตร และสุพรรณบุรี ส่วนการปฐมนิเทศผู้สมัคร ส.ส. หลักใหญ่ เน้นหลักใหญ่ คือ เรื่องการหาเสียงต้องเป็นไปตามกฎหมาย และเรื่องของวาระประชาชนให้ทำความเข้าใจและให้เป็นสิ่งที่เป็นตัวนำในการรณรงค์ครั้งนี้ อย่าไปยุ่งประเด็นอื่น อย่าไปหาเสียงตอบโต้ สาดโคลน ด่าทอ ต้องเดินหน้าบอกประชาชนอย่างเดียวว่าเราจะทำอะไร

           การลงพื้นที่ของพรรคยังไม่ได้ไปในจุดที่ไม่เป็นความหวัง

          เราก็ไปทั่วนะครับ อีสานก็ไป เหนือ กลาง ใต้ก็ไป ไม่มีที่ไหนที่เราไม่อยากไป เราต้องเข้าไปให้มากขึ้น แต่ก็เป็นธรรมดา แล้วถามว่าทำไมพลังประชาชนต้องไปบุรีรัมย์กับเชียงราย ทำไมไม่ไปภาคใต้ ทุกคนก็อยากไปทุกที่ แต่ต้องมีขั้นตอนว่าตรงไหน แค่ไหน ผมคิดว่าจะเป็นความเหมาะสม มันก็มีจังหวะเวลาของแต่ละเรื่องที่จะทำ ภาคอีสานผมยอมรับว่ายังยากอยู่ แต่ก็จะพยายาม เพราะคิดว่าเรามีนโยบายที่พี่น้องอีสานจะได้ประโยชน์แบบยั่งยืน เรื่องน้ำ เรื่องพืชผล ที่ทำกิน เราก็จะไปคุย

          ซึ่งถ้ายังไม่สามารถตีคะแนนขึ้นมาได้ก็ไม่เป็นไร แต่เราเป็นความตั้งใจ และอย่างน้อยเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลเราทำงานให้คนทั้งประเทศ ส่วนเรื่องสาขาพรรคที่ยังไม่ค่อยเข้มแข็งนั้น เราก็ต้องปรับปรุง เรามีหน้าที่ทำของเราไปให้ดีที่สุดแล้วประชาชนจะมองเห็นว่าเราเป็นอย่างไร ส่วนจะให้โอกาสเราหรือไม่ ไม่เป็นไร พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจอยู่แล้ว เราตั้งใจจะอยู่คู่พี่น้องคนไทย ต้องทำงานต่อเนื่อง

           ที่บอกว่าอีสานยาก เป็นเพราะทัศนคติหรือเพราะไม่มีอดีต ส.ส.

          มันเหมือนเป็นวงจร มาถึงช่วงนี้ที่คะแนนนิยมของเราไม่ดี ส.ส. ของเราก็มีน้อย ทำให้มีคนไปอธิบายว่าเราคิดอะไรอย่างไรก็มีน้อย แล้วพอคนฟังด้านอื่นมาก แต่ก็หวังว่าเราจะมี ส.ส. เพิ่มขึ้น ส่วนจะมากหรือน้อยอยู่ที่ประชาชนจะให้เรา แต่อย่าไปคิดว่า ส.ส. เก่าจะได้เป็น ส.ส. อีก ทุกครั้งก็เปลี่ยน 1 ใน 3 ผมคิดว่าประชาชนไม่ได้ดูยึดติดกับตัว ส.ส. อย่างเดียว แต่เขาจะดูอนาคตของบ้านเมืองและอนาคตของเขาด้วย ยอมรับว่าอีสานเป็นพื้นที่ที่ต่อสู้กันหนักและเป็นพื้นที่ที่พรรคใหม่เขาตั้งใจช่วงชิงจริงๆ ก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว

           ในพื้นที่ภาคใต้เป็นอย่างไร เพราะมีกลุ่มสัจจานุภาพเกิดขึ้น

          พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนจะมีการแข่งขันต่อสู้กันรุนแรงพอสมควร ไม่ประมาทเลย แต่เราต้องตั้งเป้าหมายไว้ช่วงชิง 2 เขต ที่ขาดไปกลับมาเพราะอยู่ในวิสัยที่ทำได้ แต่ว่าเหนื่อย ไม่มีสบายหรอกครับ ไม่มีการเลือกตั้งครั้งไหนที่พรรคประชาธิปัตย์สบาย ทุกพื้นที่แม้แต่ภาคใต้เราก็ต้องเหนื่อย เราทุกคนกำชับกันว่าห้ามประมาทเด็ดขาด ต้องทุ่มเทไม่ต่างกับภาคอื่น

           ที่ประเมินว่าต้องได้กรุงเทพฯ 30 ที่นั่ง จึงจะได้เป็นรัฐบาล

          คงไม่ใช่เป้าหมายเท่ากับการประเมินตามความเป็นจริงมากกว่า เราประเมินภาพรวมของประเทศแล้ว ถ้าเราอยากเป็นอันดับ 1 ผมคิดว่ากรุงเทพฯ เราต้องได้เยอะ มิฉะนั้นคงยากที่เราจะมาอันดับ 1 เราพูดตรงไปตรงมา แต่เราก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนกรุงเทพฯ เอง แต่นี่คือข้อเท็จจริงที่คนในพรรคต้องรู้

           คิดว่าต้องได้ ส.ส. เท่าไหร่ถึงจะมาอันดับ 1

          ผมคิดว่า 150 ที่นั่ง ไม่น่าจะมาอันดับ 1 ถ้า 200 ก็น่าจะมา น่าจะอยู่ระหว่าง 150-200 ที่นั่ง

           การวางตัวบุคคลที่จะเข้าไปบริหารประเทศ

          วันนี้มี 2 ประเด็น ประเด็นหนึ่ง คือ คนกังวลเรื่องรัฐบาลผสม เราต้องอยู่กับความเป็นจริงว่าถ้าที่ 1 ได้ไม่ถึง 200 ที่นั่ง ก็ต้องเป็นรัฐบาลผสมอยู่แล้ว หรือแม้จะได้ 200 ก็ยังเป็นรัฐบาลผสม เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีความละเอียดอ่อนเหมือนกัน ถ้าเราไปประกาศอะไรกับประชาชนเราต้องทำให้ได้ ถ้าไปบอกว่าคนนี้เป็นรัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีคมนาคม เกษตรฯ พาณิชย์ อุตสาหกรรม คิดว่าเมื่อไปเป็นรัฐบาลผสมแล้วจะได้ทุกกระทรวงหรือเปล่า อันนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่เราต้องพูดความจริงกับประชาชน แต่ที่สำคัญกว่าคือคนที่เข้าไปทำงานต้องเข้าใจนโยบาย ไม่เด่นไม่ดัง แต่เข้าใจนโยบายแล้วเข้าไปผลักดัน นั่นคือประโยชน์ของประชาชน ผมจึงเน้นเรื่องวาระประชาชนว่าต้องเป็นตัวตั้งในเรื่องของรัฐบาล

          สมมุติเป็นรัฐบาลผสมแล้วพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ดูแลกระทรวงเกษตรฯ ผมก็ต้องยืนยันว่าพรรคใดได้เป็นกระทรวงเกษตรฯ คุณต้องลงทุนเรื่องชลประทานให้ได้ เพราะนี่คือนโยบาย ผมตั้งเงื่อนไขเดียวว่ากระทรวงศึกษาธิการ พรรคประชาธิปัตย์ต้องดูแล เมื่อพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าการพัฒนาคนสำคัญที่สุดก็แปลว่ากระทรวงอันดับ 1 ของเราต้องเป็นกระทรวงศึกษาฯ การมีคนที่เข้าใจและผลักดันนโยบายนี่ถือว่าสำคัญ และประชาชนคงจะมองในกรอบนี้เหมือนกัน เขาเคยมีประสบการณ์แล้วว่าเวลามีคนมีชื่อเสียงมีประวัติดีแต่ถ้าทิศทางนโยบายไม่ชัด สุดท้ายงานก็ไม่ไปไหน ปัญหาไม่ได้แก้

           ถ้าได้เป็นผู้นำรัฐบาล จะป้องกันไม่ให้มีรัฐมนตรีทุจริตอย่างไร

          ถ้ามีรัฐมนตรีที่ทุจริตผมไม่ปล่อยหรอกครับ ปล่อยไม่ได้หรอก สุดท้ายมันอยู่ไม่ได้หรอก ถ้าจะบอกว่าผมไม่ได้ทำอะไรนะแล้วปล่อยให้มันเกิดขึ้น ก็อยู่ไม่ได้หรอก ต้องจัดการ แม้จะเป็นรัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาล ก็ต้องทำเหมือนกัน


พลิกปูมหลัง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สัมภาษณ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2550 เวลา 00:00:00 3,520 อ่าน
TOP