บทความ เกร็ดความรู้ เคล็ดลับ การแต่ง รูปภาพ ด้วยโปรแกรม Photoshop ซึ่งเป็นวิธีการตกแต่งรูปภาพที่มีความมืดเกินไป ให้มีสภาพแสงมากขึ้น รวมถึงจัดการองค์ประกอบ รูปภาพ ให้มีความสมดุลมากขึ้นด้วยโปรแกรม Photoshop
เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม
ในการถ่ายรูปเพื่อที่จะเก็บความทรงจำดีๆ ในสิ่งที่ได้ไปพบเจอมา ในบางครั้งก็ไม่สามารถที่จะได้องค์ประกอบของรูปให้สมบูรณ์ตามที่ต้องการได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับสภาพแสงและองค์ประกอบรอบข้างของสิ่งที่จะถ่าย จึงขอนำเสนอเทคนิคที่จะช่วยในการจัดองค์ประกอบรูปภาพด้วยโปรแกรม Photoshop
ขั้นตอนที่ 1
จากภาพจะเห็นได้ว่าวัตถุได้รับแสงน้อย เพราะการถ่ายภาพย้อนแสงจนภาพเกือบเป็นเงาดำอยู่แล้ว จึงต้องเรียกรายละเอียดกลับคืนมาด้วยคำสั่ง Image>Adjustments>Highlight>Shadow โดยใส่ค่าตามภาพ
ขั้นตอนที่ 2
จากข้อจำกัดด้านมุมของภาพจึงทำให้องค์ประกอบไม่ค่อยลงตัวนัก บริเวณด้านขวาของภาพดูโหว่ไปนิด จึงอุดรูนี้ด้วยใบมะพร้าวอีกใบ โดยเริ่มจากการ Copy ใบมะพร้าวมาเป็นอีก Layer หนึ่ง ลด Opacity ของภาพนี้ลงเพื่อให้มีความโปร่งแสง จากนั้นใช้เครื่องมือ Move และคำสั่ง Transform ย้ายและหมุนใบมะพร้าวให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ แล้วใส่ค่า Opacity ให้เป็น 100% เหมือนเดิม
ขั้นตอนที่ 3
ต่อมาก็ต้องทำการ Selection เฉพาะใบมะพร้าวที่ต้องการ โดยใช้คุณสมบัติของ Alfa Channel ใช้ Copy ตรง Blue Channel ซึ่งมี Contrast ระหว่างวัตถุกับพื้นหลังมากที่สุด แล้วเรียกคำสั่ง Level ขึ้นมาเพื่อเพิ่ม Contrast ให้เป็นขาวกับดำ ลบส่วนอื่นให้เป็นสีขาว จะได้ Channel ใหม่ที่มีสีดำเป็นรูปใบมะพร้าวอยู่บนพื้นที่สีขาว กด ctrl+i จะกลายเป็นใบมะพร้าวสีขาวบนพื้นสีดำ
ขั้นตอนที่ 4
Copy ตรง Channel ใบมะพร้าวเพิ่มอีก 1 Channel กด ctrl แล้วคลิกที่ Channel นี้ จะเกิดการ Selection ตามรูปใบมะพร้าว เลือกคำสั่ง Select>Modify>Contract ใส่ค่า 1 Pixel ส่วนที่ Selection จะกินพื้นที่น้อยลง เลือกคำสั่ง Select>Inverse แล้วเทสีดำลงไป ก็จะมี Alfa Channel อยู่ 2 Channel กด ctrl ค้างไว้แล้วคลิกที่ Channel ใบมะพร้าวอันแรกแล้วกลับมาที่ Layer ที่ต้องการ กด ctrl+j จะได้ใบมะพร้าวเพิ่มขึ้นมาใน Layer ใหม่ ปิดการแสดงผลของ Layer ที่ Copy มา
แล้วจะเห็นว่าได้ใบมะพร้าวเพิ่มขึ้นมาซ้อนกับภาพต้นฉบับ แต่จะเห็นว่าใบมะพร้าวที่เพิ่มขึ้นมานี้จะมีเส้นสีขาวอยู่ตรงบริเวณขอบของใบ และนี่คือเหตุผลที่ต้องสร้าง Alfa Channel ที่สองขึ้นมา สำหรับ Layer แรกนี้ให้เปลี่ยน Blending Mode เป็น Multiply ทำแบบนี้ซ้ำอีกครั้งหนึ่งโดยการกด ctrl แล้วคลิก Channel ของใบมะพร้าวอันที่สอง โดยให้ Blending Mode ยังคงเป็น Normal อยู่ และให้ Layer นี้อยู่บนสุด
ขั้นตอนที่ 5
ท้องฟ้าในภาพนี้ขาวจ้าเยอะไป จึงต้องไล่สีของท้องฟ้าในภาพนี้เสียใหม่ ในขั้นแรกจะสร้าง Selection สำหรับท้องฟ้าขึ้นมา ขั้นตอนจะคล้ายกับการสร้าง Selection ของใบมะพร้าว เพียงแต่ว่าเมื่อสร้าง Alfa Channel ขึ้นมาแล้วจะยังเห็นส่วนที่ไม่ใช่ท้องฟ้าปรากฏเป็นพื้นขาวๆ กระจายอยู่ตาม Contrast ของส่วนอื่นๆ ให้สร้าง Selection เพิ่มเติมด้วยเครื่องมือ Pen สร้างเส้นตามรูปร่างที่ต้องการ Selection เพิ่มเติม เส้นที่สร้างขึ้นจะไปปรากฏเป็น Work Path ในส่วนของ Path ให้กด ctrl ค้างไว้แล้วคลิกที่ Work Path จะเกิด Selection ตามเส้นที่สร้างขึ้น ต้องเทสีดำในส่วนที่ไม่ใช่ท้องฟ้า
แล้วกลับไปที่ Path ตรง Layer สร้าง Layer ขึ้นมาใหม่ ใช้เครื่องมือ Gradient เลือกสีฟ้าแล้วไล่สีดังภาพ กด ctrl ค้างไว้ แล้วคลิก Alfa Channel ที่เป็นส่วนของท้องฟ้า กลับมาที่ Layer ที่ได้ไล่โทนสีฟ้าไว้ คลิกที่สัญลักษณ์ add layer mask เปลี่ยน Blending Mode เป็น Darken แล้วปรับลด Opacity ของ Layer นี้ลงอย่าให้เด่นชัดนัก
ขั้นตอนที่ 6
ปรับค่าโทนเข้ม-สว่าง โทนสี และความอิ่มตัวของสี ด้วย Level และ Hue/Saturation เพิ่มความเข้มของภาพเป็นส่วนๆ ด้วยคุณสมบัติของการเปลี่ยน Blending Mode เป็นแบบ Multiply ร่วมกับ Layer Mask
ขั้นตอนที่ 7
ปิดท้ายด้วยการใส่ Flare ตามสไตล์ของภาพย้อนแสง และเพิ่มความคมชัดให้กับภาพด้วยคำสั่ง Filter>Sharpen>Unsharp Mask ให้แยกทำเป็นส่วนๆ ไป โดยใช้งานร่วมกับคุณสมบัติของ Layer Mask ที่จะเน้นให้ผิวของตัวแบบแสดงความหยาบกร้านที่กำลังพอดี และเมื่อกลับมาดูที่ Flare จะเห็นว่ามันไม่ได้เกิดจากการใช้คำสั่งสำเร็จรูป แต่เป็น Flare ที่สร้างขึ้นเอง ซึ่งจะดูแนบเนียนกว่า Flare สำเร็จรูป
และขั้นตอนทั้งหมดก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย หากช่วงปีใหม่นี้ใครไม่มีแผนจะไปเที่ยวไหน อยู่บ้านว่างๆ ก็ลองไปทำดูกันได้นะครับ
ศราวุธ รุจิราวัตถ์
ที่มาและภาพประกอบจาก นิตยสาร FOTOINFO ฉบับที่ 33