x close

ประวัติสุเทพ เทือกสุบรรณ ศรีสกุล พร้อมพันธุ์ และครอบครัว


ประวัติ สุเทพ เทือกสุบรรณ
 สุเทพ เทือกสุบรรณ 

สุเทพ เทือกสุบรรณ

สุเทพ เทือกสุบรรณ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ), เฟซบุ๊ก เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ (ขิง), Instagram kempromphan, namtipsy, thaitan, karesang

          ประวัติ สุเทพ เทือกสุบรรณ ศรีสกุล พร้อมพันธุ์ ภรรยาคนปัจจุบัน พร้อมครอบครัว ผู้ซึ่งเป็นกำลังใจให้ นายสุทพ แกนนำผู้ชุมนุมค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

          หากกล่าวถึงสถานการณ์บ้านเมืองอันร้อนระอุในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 นี้ บุคคลที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคนหนึ่ง คงหนีไม่พ้นชื่อของ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นแน่แท้ เพราะ นายสุเทพ ได้ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส. เพื่อลงมานำมวลชนต่อสู้กับระบอบทักษิณอย่างเต็มตัว

          วันนี้ กระปุกดอทคอม จึงขอนำประวัติของผู้คร่ำหวอดทางการเมืองมาอย่างยาวนานคนนี้ มาแนะนำให้ได้รู้จักกันอีกครั้ง...



ประวัติ สุเทพ เทือกสุบรรณ
 สุเทพ เทือกสุบรรณ 

ประวัติสุเทพ เทือกสุบรรณ
 
          สุเทพ เทือกสุบรรณ เกิดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 มีบิดาชื่อ นายจรัส เทือกสุบรรณ กำนันตำบลท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี และนางละม้าย เทือกสุบรรณ มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน โดยนายสุเทพ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะศิลปศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Middle Tennesse State ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2518

          ภายหลังจากการจบการศึกษาระดับปริญญาโท นายสุเทพตัดสินใจเข้าสู่วงการการเมืองระดับท้องถิ่น ด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งกำนันตำบลท่าสะท้อนต่อจากบิดา และสามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้สำเร็จ เป็นกำนันดีกรีปริญญาโท ตั้งแต่อายุ 26 ปีเท่านั้น
 


ชีวิตครอบครัวของสุเทพ เทือกสุบรรณ


ครอบครัวสุเทพ เทือกสุบรรณ

ครอบครัวสุเทพ เทือกสุบรรณ (ลูกที่เกิดจากภรรยาคนแรก)

ครอบครัวสุเทพ เทือกสุบรรณ (ลูกที่เกิดจากภรรยาคนแรก)

ครอบครัวสุเทพ เทือกสุบรรณ (ลูกที่เกิดจากภรรยาคนแรก)



          นายสุเทพ แต่งงานกับภรรยาคนแรก คือ นางจุฑาภรณ์ เทือกสุบรรณ มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ นายแทน เทือกสุบรรณ, นางสาวน้ำตาล เทือกสุบรรณ และนางสาวน้ำทิพย์ เทือกสุบรรณ ต่อมา เมื่อนางจุฑาภรณ์เสียชีวิตลง นายสุเทพจึงต้องกลายเป็นพ่อหม้าย ภายหลัง นายสุเทพ จึงได้แต่งงานกับนางศรีสกุล พร้อมพันธุ์ น้องสาวของนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์


แทน เทือกสุบรรณ

แทน เทือกสุบรรณ

น้ำทิพย์ เทือกสุบรรณ

น้ำทิพย์ เทือกสุบรรณ

ลูกสาวสุเทพ เทือกสุบรรณ

น้ำตาล - น้ำทิพย์ เทือกสุบรรณ

น้ำทิพย์ เทือกสุบรรณ

น้ำทิพย์ เทือกสุบรรณ

ครอบครัวสุเทพ เทือกสุบรรณ



        ในส่วนของลูก ๆ ของนายสุเทพนั้น นายแทน เทือกสุบรรณ ซึ่งเป็นลูกชายคนโต จบการศึกษาปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์ จากเมลเบิร์นยูนิเวอร์ซิตี้ ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม และเคยตกประเด็นทางการเมืองกรณีการถือครองที่ดินบนเกาะสมุย ส่วนน้ำตาล และน้ำทิพย์ เทือกสุบรรณ ไม่ได้มีบทบาทในทางการเมือง แต่เคยปรากฏตัวในแวดวงสังคมอยู่ประปราย



รู้จัก ศรีสกุล พร้อมพันธุ์ นายหญิงใหญ่แห่งบ้านสุเทพ เทือกสุบรรณ

สุเทพ เทือกสุบรรณ ศรีสกุล พร้อมพันธุ์

ครอบครัวสุเทพ เทือกสุบรรณ

ครอบครัวสุเทพ เทือกสุบรรณ
ครอบครัวสุเทพ เทือกสุบรรณ



          นางศรีสกุล พร้อมพันธุ์ ปัจจุบันอายุ 58 ปี จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในสมัยที่เรียนอยู่ นางศรีสกุล เคยได้รับตำแหน่งดาวจุฬาฯ ภายหลัง ศรีสกุล พร้อมพันธุ์ ได้ลงเล่นการเมือง และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.นครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2531 พร้อมกับพี่ชาย คือ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ แต่เล่นการเมืองเพียงสมัยเดียวเท่านั้น นางศรีสกุล ก็หันหลังไปทำธุรกิจส่วนตัวด้านอสังหาริมทรัพย์แทน

          ด้านชีวิตสมรส นางศรีสกุล เคยสมรสกับ นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ พรรคประชาธิปัตย์ มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ นายสิทธิพัฒน์ เตชะไพบูลย์ (โขง), นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ (ขิง) และ นางสาวธีราภา พร้อมพันธุ์ (เข็ม) กระทั่งหย่าร้างกัน นางศรีสกุล จึงได้มาใช้ชีวิตกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ


เอกนัฏ พร้อมพันธุ์

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์

ลูกสาวสุเทพ เทือกสุบรรณ

เข็ม ธีราภา พร้อมพันธุ์

ครอบครัวสุเทพ เทือกสุบรรณ

ครอบครัวสุเทพ เทือกสุบรรณ


          ในจำนวนลูก ๆ ทั้ง 3 คนของนางศรีสกุลนี้ มีเพียง นายเอกนัฏ ที่เข้าสู่วงการการเมือง โดย นายเอกนัฏ จบการศึกษาปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และบริหารธุรกิจ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นก็ตัดสินใจเข้าสู่การเมืองด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขต 29 (หนองแขม-ทวีวัฒนา) เมื่อปี 2554 จนได้รับเลือกตั้ง ถือเป็น ส.ส. ที่อายุน้อยที่สุด ด้วยวัยเพียง 25 ปีเท่านั้น


สุเทพ เทือกสุบรรณ กับเส้นทางการเมือง

          หลังจากเป็นกำนันอยู่หลายปี ในที่สุด นายสุเทพก็ตัดสินใจขยับไปสู่การเมืองระดับประเทศ ด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อ ปี พ.ศ. 2522 ซึ่งนายสุเทพก็สามารถชนะใจประชาชน ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ตั้งแต่บัดนั้น จนถึงวันนี้นายสุเทพก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ติดต่อกันมากกว่า 10 สมัยแล้ว

          ส่วน การดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกของนายสุเทพ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2529 ในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ โดยนายสุเทพ ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้ดำรงตำแหน่งนี้อีกครั้งใน พ.ศ. 2535 ยุครัฐบาลชวน หลีกภัย สมัยแรก นอกจากนี้ นายสุเทพ ยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในปี พ.ศ. 2540 ยุครัฐบาลชวน หลีกภัย สมัยที่สอง



สุเทพ เทือกสุบรรณ ทรัพย์สิน เรื่อง สปก.4-01

          ถ้าใครติดตามแวดวงการเมืองมาพอสมควร คงจะจดจำเรื่อง "สปก.4-01" ได้เป็นอย่างดี จนดูเหมือนเป็นข้อครหาที่ติดตัวนายสุเทพไปเสียแล้ว เพราะมักจะถูกฝ่ายตรงข้ามหยิบยกขึ้นมาโจมตีในทางการเมืองอยู่เสมอ

          โดย เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ นายสุเทพ ดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ สมัยที่สอง ครั้งนั้น นายสุเทพถูกนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่อง การทุจริตแจกที่ดินทำกินแก่เกษตรกร (สปก.4-01) จนทำให้นายชวน ต้องตัดสินใจยุบสภาก่อนที่จะมีการลงมติ และหลังจากการยุบสภาครั้งนั้น นายบรรหาร ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ก็กลับไปเป็นฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตาม เรื่อง สปก.4-01 นี้ นายสุเทพไม่เคยถูกฟ้องร้องถึงชั้นศาลแต่อย่างใด แม้ว่าจะถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ตาม


ประวัติ สุเทพ เทือกสุบรรณ
 สุเทพ เทือกสุบรรณ - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

สุเทพ เทือกสุบรรณ กับบทบาทในพรรคประชาธิปัตย์

          นายสุเทพเริ่มมีบทบาทสำคัญใน พ.ศ. 2542 ด้วยการดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค ก่อนที่ใน พ.ศ. 2546 จะได้เป็นกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นเลขาธิการพรรค ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ มีการปรับโครงสร้างพรรคใหม่ ใช้บุคคลรุ่นใหม่ เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายกรณ์ จาติกวณิช เป็นต้น เพื่อสู้กับพรรคคู่แข่งอย่างพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นพรรคแรก โดยที่ผลงานของนายสุเทพในช่วงแรกของการเป็นเลขาธิการพรรคนั้น เป็นผู้ที่รวบรวมข้อมูลยื่นฟ้องพรรคไทยรักไทย และทำให้พรรคไทยรักไทย ถูกวินิจฉัยให้ยุบพรรค พร้อมกับตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 111 คน เป็นระยะเวลา 5 ปี



สุเทพ เทือกสุบรรณ บทบาทการจัดตั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

          ภายหลังการเลือกตั้งใหญ่ พ.ศ. 2551 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี ถึง 2 ครั้งในรอบไม่กี่เดือน ได้แก่ นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จากพรรคพลังประชาชน โดยเมื่อพรรคพลัง ประชาชนถูกตัดสินยุบพรรคในเดือนธันวาคม 2551 ทำให้การเมืองไทยเกิดภาวะสุญญากาศ นายสุเทพ ก็เป็นผู้ประสานงานดึงพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคพลังประชาชนอย่างพรรคชาติไทย พัฒนาและพรรคภูมิใจไทยมาร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์เป็นผลสำเร็จ โดยที่นายสุเทพ ก็ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง

          ทั้งนี้ ระหว่างที่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาล นายสุเทพก็ลาออกจากการเป็น ส.ส. ปี พ.ศ. 2552 เนื่องจากติดปัญหาการถือครองหุ้น แต่ยังคงเป็นรองนายกรัฐมนตรีเช่นเดิม กระทั่งในปี พ.ศ. 2553 นายสุเทพก็ได้ลาออกจากรองนายกรัฐมนตรี เพื่อไปสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สุราษฎร์ธานี แทนตำแหน่งที่ว่างลง ซึ่งเรื่องดังกล่าว หลายฝ่ายวิเคราะห์กันว่า ช่วงนั้นพรรคประชาธิปัตย์กำลังอยู่ในขั้นตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค นายสุเทพจึงต้องเป็น ส.ส. เพื่อที่เป็นนายกรัฐมนตรีสำรอง หากพรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบจริง แต่ผลสุดท้ายคือ ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ รอดจากการถูกยุบพรรคมาได้



สุเทพ เทือกสุบรรณ ตำแหน่งผู้อำนวยการ ศอฉ. และการชุมนุมของ นปช.

          ในช่วงปี 2553 ที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาชุมนุมกันกลางกรุงเทพมหานครเพื่อขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ในตอนนั้น นายสุเทพ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้น เพื่อรับมือการชุมนุมของกลุ่ม นปช. พร้อมกับนั่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ศอฉ. ก่อนที่ภายหลังเจ้าหน้าที่จะสามารถกระชับพื้นที่ผู้ชุมนุมที่สี่แยกราช ประสงค์ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก

          แม้สถานการณ์การชุมนุมจะสงบลง แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะยิ่งร้อนแรงขึ้น เมื่อนายสุเทพถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีด้วยถ้อยคำที่ว่า "สั่งฆ่าประชาชน" แต่นายสุเทพก็ตระเวนชี้แจงตามเวทีการปราศรัยต่าง ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์ช่วงนั้น กระทั่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 นายสุเทพ พร้อมด้วยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษสั่งฟ้องในคดีร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคน ตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ซึ่งทั้งสองคนได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป


ประวัติ สุเทพ เทือกสุบรรณ
 สุเทพ เทือกสุบรรณ 

สุเทพ เทือกสุบรรณ ลาออกจาก ส.ส. เป็นแกนนำคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

          ภายหลังจากที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ยุบสภาใน พ.ศ. 2554 และมีการเลือกตั้งใหม่ ผลปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย เป็นฝ่ายได้จัดตั้งรัฐบาล ผลักพรรคประชาธิปัตย์ให้ไปเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ได้บริหารประเทศไปได้ 2 ปี (พ.ศ. 2556) แต่สถานการณ์ทางการเมืองก็เริ่มร้อนระอุขึ้นเรื่อย ๆ จากกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล เนื่องจากไม่พอใจกับนโยบายการบริหารของรัฐบาล ที่ใช้ประชานิยมเต็มรูปแบบทำให้เกิดภาวะขาดทุนทางการคลัง เช่น โครงการรับจำนำข้าว, โครงการรถคันแรก, โครงการรถไฟความเร็วสูง กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท

          อย่างไรก็ตาม ฟางเส้นสุดท้ายของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลได้แก้ไข เนื้อหา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากที่นิรโทษกรรมแก่ประชาชน กลายเป็นนิรโทษกรรมแกนนำ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ในคดีทุจริตต่าง ๆ ส่งผลให้นายสุเทพ ได้ประกาศจัดการชุมนุมขึ้น ณ สถานีรถไฟสามเสน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 และในคืนนั้นเอง สภาผู้แทนราษฎรก็สามารถลงมติ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับดังกล่าว วาระ 2 และ 3 ภายในคืนเดียว เสร็จสิ้นทุกขั้นตอนภายในเวลา 04.30 น. ของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556

          ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 นายสุเทพ ในฐานะแกนนำผู้ชุมนุม ได้ประกาศย้ายสถานที่ชุมนุมจากสถานีรถไฟสามเสน มาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมกับเดินหน้าคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 นายสุเทพ พร้อมกับ 8 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. และประกาศมาตรการอารยะขัดขืน เพื่อกดดันรัฐบาล เช่น การหยุดงาน การยุดเรียน การเลื่อนจ่ายภาษี เป็นต้น

          วันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 นายสุเทพ ได้ประกาศยกระดับการชุมนุมขึ้น จากคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นต่อต้านระบอบทักษิณ ได้แก่ การล่ารายชื่อถอดถอน ส.ส. 310 คน ที่ลงมติให้ผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม, การต่อต้านสินค้าในเครือทักษิณ และการชวนข้าราชการหยุดงานทั้งประเทศ เป็นต้น อีกทั้งยังได้ประกาศรวมพล 1 ล้านคน ล้างระบอบทักษิณ และปฏิรูปประเทศไทย ในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้


ประวัติ สุเทพ เทือกสุบรรณ
 สุเทพ เทือกสุบรรณ 

ฉายาของสุเทพ เทือกสุบรรณ

          นายสุเทพ มีฉายาที่ค่อนข้างคุ้นหูประชาชนอยู่ก็คือ เทพเทือก ซึ่งมาจากการนำตัวสุดท้ายของชื่อ "สุเทพ" และตัวแรกของนามสกุล "เทือกสุบรรณ" มารวมกันนั่นเอง นอกจากนี้ บางครั้งก็ยังมีคนเรียกนายสุเทพว่า "กำนันสุเทพ" อีกด้วย เนื่องจากติดมาจากช่วงที่นายสุเทพเป็นกำนันสมัยลงเล่นการเมืองท้องถิ่น

          ส่วนฉายาของนายสุเทพ ตอนดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ก็ได้รับฉายาจากผู้สื่อข่าวสายทำเนียบรัฐบาล ดังนี้

          ปี 2552 ได้รับฉายาว่า แม่นมอมทุกข์ เนื่องจากเป็นผู้สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายอภิสิทธิ์กลับบริหารประเทศได้ไม่ดีตามความคาดหวัง มัวแต่ไปเอาใจพรรคร่วมรัฐบาล สร้างความหนักอกหนักใจแก่นายสุเทพเป็นอย่างยิ่ง

           ปี 2553 ได้รับฉายา ทศกัณฑ์กรำศึก เนื่องจากทำศึกหลายด้าน ทั้งหน้าที่เป็นแม่บ้านพรรค, คดีครอบครองที่ดินเขาแพง รวมถึงคดีถือหุ้น แต่สุดท้ายนายสุเทพก็รอดมาได้ดุจดั่งทศกัณฑ์ที่ทำศึกรอบด้าน



วาทะเด็ดของสุเทพ เทือกสุบรรณ

          นอกจาก 2 ประโยคเด็ดที่นายสุเทพ กล่าวในที่ชุมนุมว่า "หากล้มรัฐบาลไม่ได้ จะผูกคอตาย" และ "สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เคยทำ คือ ทุจริตคอร์รัปชั่น ตลอดชีวิตนักการเมือง" แล้ว ในช่วงการเลือกตั้งใหญ่ พ.ศ. 2554 นายสุเทพเคยประกาศไว้ก่อนการเลือกตั้งด้วยว่า "หากพรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้ง ผมจะยอมมุดดิน" ซึ่งผลการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็แพ้ให้แก่พรรคเพื่อไทย


ประวัติ สุเทพ เทือกสุบรรณ
 สุเทพ เทือกสุบรรณ 

ตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมดของสุเทพ เทือกสุบรรณ
 
          พ.ศ. 2524 - เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
          พ.ศ. 2524-2526 - เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
          พ.ศ. 2526-2529 - เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
          พ.ศ. 2529-2531 - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
          พ.ศ. 2535-2537 - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
          พ.ศ. 2540-2543 - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
          พ.ศ. 2551-2554 - รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง
 


          ทั้งหมดนี้ก็คือประวัติของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำผู้ชุมนุมค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร การชุมนุมจะออกมาเป็นรูปแบบใด คาดว่าไม่เกินเดือนพฤศจิกายนคงจะรู้คำตอบ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติสุเทพ เทือกสุบรรณ ศรีสกุล พร้อมพันธุ์ และครอบครัว อัปเดตล่าสุด 29 พฤศจิกายน 2556 เวลา 15:11:03 705,456 อ่าน
TOP