ตลาดบองมาร์เช่ ตลาดดี ในเนื้อที่ของ พระพี่นาง

         


เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม

           ตลาดบองมาร์เช่ … อยู่ที่ไหน … แล้วมีอะไรขายในตลาดบองมาร์เช่บ้าง ? ทำไมต้องตั้งชื่อว่า บอง มาร์เช่ ???? และอีกมากมายหลากหลายคำถามที่ผู้คนต่างอยากรู้เกี่ยวกับ บอง มาร์เช่ หรือ BON MARCHE' เอาเป็นว่าเราไปรู้จัก "ตลาดบองมาร์เช่" แบบละเอียดยิบกันดีกว่าค่ะ

          ที่มาที่ไปของ "ตลาดบองมาร์เช่"

          ตลาดเป็นสัญลักษณ์ของสังคมไทย คนจะยากดีมีจนอย่างไรก็ต้องกินต้องใช้ และในปี พ.ศ. 2540 โครงการ บอง มาร์เช่ หรือในภาษาฝรั่งเศสแปลว่า "ตลาดดี" หรือ "สินค้าราคาถูก" ก็ถือกำเนิดขึ้นบนที่ดินจำนวน 17 ไร่ ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งอยู่ที่ถนนเทศบาลสงเคราะห์ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ตรงข้ามกับธนาคารทหารไทย สาขาประชานิเวศน์

          ตลาดบองมาร์เช่ เปิดดำเนินการในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2542 โดยจู่ ๆ หลุมลึกที่ขุดเอาหน้าดินไปถมเพื่อการก่อสร้างก็เกิดเป็นบึงขึ้นมาอย่างไม่คาดฝัน และกลายเป็นเอกลักษณ์ของตลาดไปในที่สุด ปัจจุบันหากทางตลาดจะทำการก่อสร้างเพิ่มเติมบนพื้นที่ของบึงก็จะถูกต่อว่ามากมาย

          โดยโครงการ BON MARCHE' ได้เช่าที่ดินจำนวน 17 ไร่ จากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เดิมเป็นสนามไดร์ฟกอล์ฟ และหมดสัญญาลง ทางโครงการได้เช่าที่ดินผืนนี้ โดยยังไม่มีโครงการว่าจะทำอะไร ซึ่งในขณะนั้น Big C ได้เข้ามาติดป้ายว่า ที่ดินผืนนี้ Big C จะเข้ามาดำเนินการ ทางโครงการได้ขอให้ถอดป้ายไปเพราะไม่มีความประสงค์จะเห็นโครงการประเภทนี้บนที่ดินนี้ ดังนั้น จึงได้เริ่มคิดว่าเราจะทำอะไร โดยขั้นแรกได้จัดทำถนนกว้าง 7 เมตร รอบพื้นที่ เพื่อในอนาคตมีโครงการก่อสร้างเกิดขึ้นจะได้ไม่กระทบกระเทือนกับเพื่อนบ้าน

          โดยใช้ถนนจากแนวรั้วเพื่อนบ้าน 1 เมตร เป็นตัวกั้นกลาง และเตรียมไว้เป็นที่จอดรถในอนาคตด้วย โดยได้แบ่งที่ดินออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหน้าจากถนนประชานิเวศน์ 1 ลึกเข้ามากในที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ ส่วนที่สองมีที่ดินประมาณ 1 ไร่ กำหนดให้เป็นสุสานสุนัขที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเลี้ยงไว้ และมีโครงการที่จะให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจในเรื่องสุนัข และกันที่ไว้สำหรับสร้างหอพักคนงาน

          ทางโครงการได้เริ่มทำถนน ทำสุสานเสร็จ เศรษฐกิจของประเทศเริ่มตกต่ำ ทำให้โครงการต้องหยุด แต่มิได้ทิ้งให้เป็นที่รกร้าง ทางโครงการได้ใช้ดินส่วนหน้า (15 ไร่) ทดลองปลูกผักปลอดสารพิษในมุ้ง ผลคือต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมากและผลตอบแทนไม่คุ้มค่าใช้จ่าย ที่ว่าปลอดสารพิษนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะอย่างไรเสียก็ต้องใช้สารเคมีช่วยอยู่ดี เมื่อใช้สารเคมีแล้วก่อนเก็บผลผลิตจะต้องใช้เวลานานเท่าใดให้สารเคมีหมดฤทธิ์ การปลูกผักบางอย่างในมุ้ง เพื่อกันแมลงก็ได้ผลในเรื่องกันแมลง แต่พืชผักไม่ออกผลเพราะขาดตัวแมลงมาผสมพันธุ์ ตามธรรมชาติ โครงการทดลองปลูกผักใช้เวลา 2 ปี เสียเงินไปเปล่า ๆ เป็นจำนวนมากพอสมควร ถึงปี 2540 ฟองสบู่แตก ต้องหยุดโครงการนี้และเริ่มคิดว่าจะทำโครงการอะไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ตกงานจำนวนมหาศาล คนเกษียณก่อนอายุคนด้อยโอกาสให้มีที่ทำกิน

          เมื่อคิดถึงคนดังกล่าวข้างต้น จึงได้เกิดความคิดที่จะสร้างตลาดขึ้น เพราะได้มองเห็นว่าตลาดเป็นสัญญาลักษณ์ของสังคมไทย คนจะยากดีมีจนอย่างไรก็ต้องกินต้องใช้ จึงเริ่มวางโครงการตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา โดยเริ่มคิดว่าจะทำตลอดอย่างไร ตลาดที่มีมีกันใน กทม. มีข้อบกพร่องอะไรได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อได้รูปแบบและหลักการแล้ว ก็เริ่มทำการก่อสร้างประมาณกลางปี 2541 โดยใช้โครงสร้างสนามไดร์ฟ กอล์ฟ เป็นฐานและพื้นที่ส่วนหน้าสนามไดร์ฟเป็นที่ลุ่มจึงต้องดันดินมาเสริมส่วนหน้า ให้มีความกว้างพอที่จะเป็นตลาดในรูปโครงสร้างของอาคารตลาดทั่วไป คือหลังคาสูงเปิดโล่งและดันดินอีกบางส่วนไปทางด้านทิศตะวันออกติดกับถนนที่ทำไว้แล้ว เพื่อเป็นพื้นที่หอพักให้แก่เจ้าหน้าที่



           ตลาดสามารถเปิดดำเนินการได้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 โดยเกิดบึงขึ้นมาอย่างไม่คาดฝันและกลายเป็นเอกลักษณ์ BON MARCHE' ไป ปัจจุบันเราจะทำอะไรในบึงไม่ได้จะถูกต่อว่ามากมาย

          ตลาดที่ก่อสร้างขึ้นมานั้นได้จัดแบ่งประเภทสินค้าไว้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ผลไม้, ของชำ, ของสด, ผัก, ขนม และอาหารสำเร็จรูป ทั้งนี้ ทางโครงการเปิดรับสมัครผู้ที่จะเข้ามาประกอบการในประเภทต่าง ๆ ซึ่งมีคนมาสมัครมากมายและ ได้ทำการสัมภาษณ์และคัดเลือกบุคคลที่กล่าวข้างต้น โดยแบ่งโควตาเป็น

          ผู้ตกงาน 30 %
          เกษียณก่อนอายุ 30%
          ผู้ด้อยโอกาส 30 %
          เหลืออีก 10 % กันไว้สำหรับผู้ที่มีเรือกสวนไร่นาและผลิตผลที่ไม่สามารถลงสู่ตลาดโดยตรงได้

           ผลปรากฏว่ากิจการของตลาดเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคได้ภายในเวลา 1 ปีเท่านั้น ในส่วนผู้ประกอบการคงเหลือผู้ด้อยโอกาสเกือบจะ 100 % ต่อมาเกิดปัญหาว่า มีบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ทำมาหากินโดยขายของบริโภคไม่เป็น มาขอร้องให้โครงการจัดพื้นที่เพื่อขายของประเภทเสื้อผ้า เครื่องใช้ จึงเกิดพลาซ่าขึ้น และโครงการพลาซ่านี้ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าทำการค้าขายสินค้าประเภทอุปโภคได้ประมาณต้นปี 2543

           หลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นมาทางโครงการ BON MARCHE' มิได้หยุดนิ่งแม้แต่วันเดียวจนถึงปัจจุบัน แผงขายของในตลาดได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยใช้ประโยชน์ของพื้นที่ให้เหมาะสมและดีที่สุด และเมื่อตลาดติดมีคนมาใช้บริการมากขึ้นก็เกิดปัญหาการจราจรติดขัด จึงมีความจำเป็นต้องหาเงินมาลงทุนเพื่อสร้างอาคารจอดรถ 5 ชั้น สามารถจอดรถได้ 350 คัน เมื่อต้องลงทุนสร้างที่จอดรถ ทางโครงการก็มีความจำเป็นต้องสร้างอาคารเพิ่มเติม เพื่อเสริมรายได้เพื่อให้ทางโครงการสามรถอยู่ได้

           โดยกำหนดให้อาคาร A เป็นอาคารสำหรับขายอัญมณีโดยเฉพาะอาคาร B ชั้น 1-2 จัดให้เป็นส่วนของใช้ ชั้น 3 เน้นหนักในเรื่องของการบริการและการศึกษาส่วนชั้น 4 กำหนดไว้เป็นส่วนของการส่งเสริมสุขภาพ และทางโครงการมีดำริที่จะก่อสร้างอาคารอีก 2 อาคาร โดยจะเป็นอาคารร้านอาหาร (ภัตตาคาร) โดยเฉพาะ

           และอีกอาคารหนึ่งอาจจะทำเป็นอาคารโชว์สินค้า ซึ่งทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับกำลังเงินและความจำเป็น และทางโครงการได้พยายามใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วให้เป็นประโยชน์ สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นโดยไม่รบกวนผู้ประกอบเดิม ไม่ทำให้ภูมิทัศน์ของตลาดและพลาซ่าดูแออัดเป็นสลัม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้คำนึงถึงผู้ที่เข้ามาใช้บริการรวมทั้งคนสูงอายุ โดยกำหนดให้ทางเดินส่วนกลางกว้างขวางพอสามารถใช้รถนั่งล้อเลื่อนได้ ทำทางลาดเพื่อสะดวกในการขึ้นลงต่างระดับ ทำห้องน้ำไว้หลายจุดและมีห้องน้ำสำหรับผู้รถล้อเลื่อนด้วย

           นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการเป็นต้นมา นับว่าโชคดีที่ทุกอย่างเป็นไปตามวัตถุประสงค์และ สามารถมีรายได้สำหรับการบริการรวมทั้งชำระดอกเบี้ยได้เท่านั้น ยังไม่มีส่วนเหลือสำหรับใช้หนี้เงินลงทุนเลย เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะโครงการนี้ดำเนินการโดยมิได้หวังจะสร้างความร่ำรวย แต่มีวัตถุประสงค์หลักที่จะช่วยให้คนที่ทำกินอย่างแท้จริง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ จึงมิได้เรียกเก็บเงินกินเปล่า ค่าเช่าพื้นที่ก็ถูกกว่าสถานที่อื่นๆ ทั้งหมด เพื่อความอยู่รอดของโครงการ ก็มีความจำเป็นต้องออกกฎระเบียบ ที่ว่างไว้ไม่ได้ก็เลิกสัญญาทันที ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โครงการนี้อยู่ได้ ้และเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในวงกว้าง ทางโครงการเองก็พยายามทำทุกอย่างให้ดีขึ้น และหวังเป็นยิ่งว่าในอนาคต ตลาด BON MARCHE' นี้จะเป็นสถานที่ของผู้บริโภคทุกรุ่นทุกวัย สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ครบทุกอย่างตามความจำเป็น และต้องการรวมทั้งเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจได้ด้วย

           นอกจากนี้ คุณสมพงษ์ ฝ่ายจำปา และ คุณกระบวน พรโสภณ ผู้บุกเบิกตลาด บอง มาร์เช่ เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของบอง มาร์เช่ ว่า ...  

           "ที่ดินตรงนี้ในอดีตเคยเป็นสนามไดรฟ์กอล์ฟ ซึ่งต่อมาหมดสัญญา ประจวบกับตอนนั้นเกิดเหตุการณ์ผันผวนทางเศรษฐกิจในปี 2540 ผู้คนเดือดร้อน ตกงาน คนจบมหาวิทยาลัยไม่มีงานทำ ขโมยโจรก็มี ท่านเจ้าของที่ดินท่านก็เลยคิดว่า เมื่อคนส่วนใหญ่กำลังเดือดร้อน เราจะมานั่งรับทรัพย์จากคนกลุ่มเดียวทำไม

           ... ถึงเวลาสุขควรสุขด้วยกัน เวลาทุกข์ก็ควรทุกข์ด้วยกัน ... ก็เลยมานั่งคิดว่าจะทำอะไรดี ที่จะช่วยผู้เดือดร้อนเหล่านี้ ... ก็เห็นว่าตลาดเป็นของคู่บ้านคู่เมือง แต่เดี๋ยวนี้คนรังเกียจตลาด บางทีคนแก่คนเฒ่าอยากไปก็ไม่ได้ไป เพราะลูกหลานไม่พาไป หาว่าสกปรกเฉอะแฉะ... พวกเราก็เลยคิดว่า มาลองทำตลาดดู ทำให้ดี ทำให้สะอาด เหมือนบ้านเมืองอื่นเขาให้ได้ ... ทำให้เป็นตลาดที่สมบูรณ์และเป็นที่ยอมรับเหมือนกับที่เคยเป็นมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย"


ข้อมูลและภาพประกอบจาก
kinnaree.net และ bonmarche.co.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตลาดบองมาร์เช่ ตลาดดี ในเนื้อที่ของ พระพี่นาง อัปเดตล่าสุด 5 เมษายน 2553 เวลา 17:01:35 97,311 อ่าน
TOP
x close