x close

ไม้พระโกศพระพี่นาง จันทน์หอม ไม้มงคลชั้นสูงของไทย

ไม้จันทน์หอม


          "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดให้ใช้ไม้ที่ล้มแล้ว ไม่จำเป็นต้องโค่นใหม่ จากนั้นทางสำนักช่างสิบหมู่จะนำมาฉลุลวดลายแกะสลักเป็นพระโกศต่อไป..."
 
          ...เป็นการระบุของ นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ประธานคณะทำงานจัดสร้างพระเมรุสำหรับงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เกี่ยวกับสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่ง...
 
          - นั่นคือ "พระโกศ" ที่จะใช้ในพระราชพิธี

           - ซึ่งจะจัดสร้างขึ้นโดยใช้ "ไม้จันทน์หอม"
 
          ล่าสุดมีรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้พบ "ไม้จันทน์หอม" ขนาดใหญ่ซึ่งยืนต้นตาย ในป่าพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งไม้ต้นนี้อาจจะถูกนำมาใช้ในการจัดสร้าง "พระโกศ"
 
          ทั้งนี้ ไม้จันทน์หอม หรือชื่ออื่น เช่น... จันทน์, จันทน์ชะมด, จันทน์ขาว, จันทน์พม่า เป็นพันธุ์ไม้ที่มีชื่อภาษาอังกฤษ-ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mansonia gagei Drumm. วงศ์ STERCULIACEAE เป็นไม้ต้น ผลัดใบ เมื่อโตจะมีขนาดใหญ่ สูงกว่า 10-20 เมตร ขยายพันธุ์โดยเมล็ด
 
          ไม้ชนิดนี้เปลือกจะค่อนข้างเรียบ สีเทาอมขาว เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างโปร่ง, ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปรี แกมรูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่กลับ กว้าง 3-6 ซม. ยาว 8-14 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบเว้า เบี้ยวเล็กน้อย ขอบใบเป็นคลื่นห่าง ๆ, ดอกจะมีลักษณะเป็นดอกเล็กสีขาว ออกรวมกันเป็นช่อสั้น ๆ ตามปลายกิ่งและตามง่ามใบ ออกดอกช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค., ผลเป็นรูปกระสวย กว้าง 0.5-0.7 ซม. ยาว 1-1.5 ซม. มีปีกรูปทรงสามเหลี่ยมหนึ่งปีก กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 2.5-3 ซม. ผลจะแก่ช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค.
 
          ในทางนิเวศวิทยา "จันทน์หอม" เป็นไม้ที่ขึ้นดีในป่าดิบแล้ง ชอบขึ้นตามเขาหินปูน ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 200-400 เมตร ในประเทศไทยเคยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้
 
          ไม้จันทน์หอมเป็นไม้โตช้า อย่างไรก็ดี มีข้อมูลระบุไว้ว่ากล้าไม้ชนิดนี้พอหาได้ตามหน่วยงานป่าไม้ในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.เพชรบุรี ซึ่งไม้จันทน์หอมนั้นส่วนที่หอมคือแก่นจากต้นที่ตายเองตามธรรมชาติ
 
          และหากจะว่ากันถึงประโยชน์โดยสังเขปก็คือ...เนื้อไม้ กระพี้ สีขาว แก่นสีน้ำตาลเข้ม ไสกบตกแต่งง่าย ไม้ที่ตายเองจะมีกลิ่นหอม ใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ทำหวี ดอกไม้จันทน์ ธูป น้ำมันหอมที่ได้จากการกลั่นชิ้นไม้ ใช้ปรุงเครื่องหอม และเครื่องสำอาง ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ เนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้โลหิตเสีย แก้กระหายน้ำและอ่อนเพลีย เป็นต้น
 
          นอกจากนี้ จันทน์หอมยังเป็นไม้ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น "ไม้พระราชทาน" เพื่อปลูกเป็นมงคลในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศด้วย
 
          จากข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ข้อมูลซึ่งเรียบเรียงโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เทคโนธานี แจกแจงถึงเรื่อง "ไม้จันทน์หอม" ไว้ สรุปได้ว่า... เป็นไม้ที่คนโบราณถือ "เป็นไม้ชั้นสูง" เนื้อไม้มีกลิ่นหอม นิยมใช้ในพระราชพิธีต่างๆ พิธีสำคัญๆ ของราษฎรที่จัดเป็นวาระพิเศษ
 
          "ดอกไม้จันทน์" ที่ใช้ในงานเผาศพ ในอดีตเกือบทั้งหมดจะทำจากไม้จันทน์หอม เพราะถือว่ามีสีขาวบริสุทธิ์ และมีกลิ่นหอม เป็นการให้เกียรติกับผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย แต่ในยุคปัจจุบันมีการใช้วัสดุอื่นๆ ทำด้วย
 
          ผู้สันทัดกรณีระบุอีกว่า... จันทน์หอมมีเนื้อไม้หอม กระพี้มีสีขาว ส่วนแก่นมีสีน้ำตาลเข้ม เสี้ยนตรงเนื้อละเอียด แข็ง เลื่อยไสกบตกแต่งง่าย ไม้ที่ตายเองจะมีกลิ่นหอม ใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า เครื่องกลึงและแกะสลัก ทำหวี ดอกไม้จันทน์ ธูป พัด น้ำมันหอมที่ได้จากการกลั่นชิ้นไม้ ใช้ปรุงเครื่องหอมและเครื่องสำอาง
 
          ชาวกะเหรี่ยงและชาวพม่าใช้เนื้อไม้ซึ่งเรียกกาละแมะ มาฝนกับฝาหม้อดิน จนเป็นน้ำข้นๆ ใช้ทาหน้าจะมีกลิ่นหอมแก้สิวฝ้า ทำให้หน้านวลละเอียด ซึ่งในด้านสมุนไพรนั้น น้ำมันที่กลั่นจากเนื้อไม้ใช้เข้ายาบำรุงหัวใจ เนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้โลหิตเสีย แก้กระหายน้ำและอ่อนเพลีย
 
          ในอดีตเคยมีรายงานว่าในเมืองไทยมีจันทน์หอมขึ้นอยู่ทั่วไปทั้งในภาคตะวันออก และในภาคตะวันตกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันถูกตัดฟันไปจนเกือบหมด จนคนรุ่นใหม่แทบไม่รู้จักว่าจันทน์หอมมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง เพียงรู้จักกันก็เพราะเคยได้ยินชื่อเสียง หรือค้นหาเอามาจากตำรากันเท่านั้น
 
          "จันทน์หอมเป็นไม้ที่เติบโตได้ในเกณฑ์ปานกลางถึงค่อนข้างเร็ว ถ้าได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และปลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่ง  มีโอกาสจะเป็นไม้เศรษฐกิจ ใช้ประโยชน์ในด้านไม้หอมและน้ำมันหอม อาจปลูกลงแปลงขนาดใหญ่เหมือนไม้กฤษณาที่แพร่หลายในปัจจุบัน" ... ดร.ปิยะระบุไว้ประมาณนี้
 
          ทั้งนี้ เมื่อครั้งงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า นั้น มีการใช้ "ไม้จันทน์หอม" จากป่ากุยบุรีและป่าห้วยยาง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งกับพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ไม้จันทน์หอมจากประจวบฯ ก็อาจถูกนำมาใช้ในงานสำคัญอีกครั้ง
 
          ก็เป็นเรื่องราวโดยสังเขปของ "ไม้หอม-ไม้มงคล-ไม้ชั้นสูง"
 
          - ไม้ที่จะใช้ในการจัดสร้าง "พระโกศ" องค์ "พระพี่นางฯ"
 
           - "ไม้จันทน์หอม" ที่คนไทยรุ่นใหม่ๆ อาจรู้จักเพียงชื่อ!!



ข้อมูลและภาพประกอบจาก
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?ColumnId=51445&NewsType=2&Template=1
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไม้พระโกศพระพี่นาง จันทน์หอม ไม้มงคลชั้นสูงของไทย อัปเดตล่าสุด 16 พฤศจิกายน 2559 เวลา 10:23:33 10,298 อ่าน
TOP