x close

ภูมิชีวิตในโลกยุคไอที

เทคโนโลยี

          เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเครื่องมือเพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้มากมาย ทั้งในชีวิตประจำวัน ในการทำงาน หรือการติดต่อสื่อสาร ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ปัญหาสำคัญที่มักพบกันอยู่ประจำประการหนึ่งคือ ความกลัวต่อเทคโนโลยี (technophobia ) เพราะบางครั้งเทคโนโลยีมักเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่บางครั้งเราไม่คุ้นเคย เสมือนเป็นคนแปลกหน้า หรือบางทีใช้ไม่เป็นบ้าง ทำให้เกิดความยุ่งยากในการใช้งาน นอกจากนี้เทคโนโลยีมักมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนหลายครั้งเราตามไม่ทัน
 
คุณอนันต์ของเทคโนโลยี

           ช่วยทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น คอมพิวเตอร์สามารถจัดเก็บ รวบรวม ประมวลผล และเผยแพร่ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังทำให้การติดต่อสื่อสารทำได้ทั่วโลก ภายในเวลาที่รวดเร็ว
ทำให้เกิดการได้เปรียบในการแข่งขัน เช่น ช่วยลดต้นทุน ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่น การประชุมทางไกลแบบวิดีโอ คอนเฟอเร็นซิ่ง

โทษมหันต์ที่ควรระวัง

          ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ มีการศึกษาพบว่าการใช้คีย์บอร์ดมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการชาหรือเจ็บข้อมือ อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถป้องกันได้ โดยใช้คีย์บอร์ดให้ถูกวิธี มีที่รองมือในการใช้คีย์บอร์ดหรือเมาส์ มีการพักเป็นระยะ และนั่งให้ถูกวิธี นอกจากนี้ยังทำให้เกิดปัญหาด้านสายตา ซึ่งเราอาจป้องกันด้วยการใส่ที่กรองแสงไว้ที่หน้าจอ หรือหยุดพักสายตาเมื่อนั่งทำงานติดต่อกันราว 1 ชั่วโมง

          โรคเครียดจากเทคโนโลยี (technostress) อาการของโรคนี้คือ ไม่เป็นมิตรกับผู้คน เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหามักทำให้สถานการณ์แย่ลง ขาดความอดทน และอ่อนเพลียง่าย

          ขาดทักษะในด้านสังคม ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นได้ ชอบอยู่คนเดียว ใช้เวลากับครอบครัวน้อยลง และจะไม่ยอมออกนอกบ้านไปร่วมทำกิจกรรมอื่นๆ กับครอบครัว

          ปัญหาด้านจริยธรรม ปัญหานี้ครอบคลุมหลายเรื่อง เช่น ความเป็นส่วนตัว และอาชญากรรมคอมพิวเตอร์

          การพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป อาจทำความเสียหายได้มาก อาจารย์ทิพวรรณยกตัวอย่างว่า เมื่อ 6 ปีที่แล้ว สนามบินที่ฮ่องกงแห่งใหม่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์อัตโนมัติในการทำงานแทบทุกอย่าง จึงเป็นสนามบินที่ลงทุนสูงที่สุดในโลก แต่วันเปิดสนามบินครั้งแรก คอมพิวเตอร์มีปัญหาขัดข้องทำให้ข้อมูลต่างๆ ถูกลบไปหมด คาร์โกซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับสามของโลกหยุดทำงานทันที ผู้โดยสารไม่สามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับเที่ยวบินของตนเองได้ เกิดความโกลาหลวุ่นวาย และยังทำให้กระเป๋าของผู้โดยสารถูกทิ้งไว้ถึง 10,000 ใบ ภายในวันเดียว

ปัญญานำเทคโนโลยี

          พระพรหมคุณาภรณ์ ผู้เขียนหนังสือ เทคโนโลยีสารสนเทศภายใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา กล่าวว่าลักษณะของนักเสพเทคโนโลยี คือ มักง่าย เพราะเทคโนโลยีเป็นแบบกดปุ่มหมด ทุกข์ง่าย ทำอะไรโดยไม่ต้องเพียรพยายาม ขาดภูมิต้านทาน เมื่อขาดสิ่งอำนวยความสะดวกจะทุกข์ทันที เครื่องปรับอากาศเสีย ร้อน เกิดความทุกข์ เครื่องซักผ้าใช้งานไม่ได้ก็ทุกข์ร้อน

ท่านจำแนกมนุษย์ในสังคมไทยกับความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีเป็น 4 ประเภท คือ

          1. พวกตื่นเต้น เป็นพวกชอบเสพของใหม่ๆ แปลกๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารหรือเทคโนโลยี แต่การรับรู้เรื่องราวต่างๆ เป็นไปอย่างผิวเผิน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะรับฟังต่อจากคนอื่นมาอีกที เราจะพบคนกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก

          2. พวกตามทัน พวกนี้ดีกว่าพวกตื่นเต้น คือมีข่าวสารข้อมูลอะไรก็ตามทันหมด เกิดอะไร ที่ไหน เมื่อไร รู้หมด แต่ไม่เข้าถึงความจริง 

         3. พวกรู้ทัน นอกจากตามทันแล้ว ยังเข้าใจและเท่าทัน ว่าเป็นมาอย่างไร มีข้อดีหรือข้อจำกัดอย่างไร จะมีท่าทีอย่างไร

          4. พวกอยู่เหนือมัน พวกนี้ยิ่งกว่ารู้ทัน คืออยู่เหนือกระแส เป็นผูู้่ที่สามารถจัดการกับกระแสได้ เป็นผู้สามารถใช้การเปลี่ยนแปลงให้เป็นประโยชน์ และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง พวกนี้จะไม่ตามกระแสแฟชั่นของเทคโนโลยี หากกระแสที่มีอยู่สร้างผลเสียก็จะนำสิ่งที่ดีกว่า ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมมาใช้

เทคโนโลยี

ภูมิชีวิตในโลกยุคไอที

          สำหรับแนวทางแก้ไขในระยะยาว พระพรหมคุณาภรณ์เสนอแนะว่า ควรเริ่มจากการศึกษา คือ

          1. สร้างความใฝ่รูู้้ สร้างวัฒนธรรมแบบวิทยาศาสตร์ มีความอุตสาหะ สู้สิ่งยาก จะได้เป็นพื้นฐานและเป็นภูมิต้านทาน เพื่อจะได้ไม่มุ่งบริโภคเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว

          2. เทคโนโลยีสารสนเทศต้องอยู่ภายใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา นั่นคือ การพัฒนาคนให้เหนือเทคโนโลยี ไม่ตกเป็นทาสเทคโนโลยี หน้าที่หลักของเทคโนโลยีตามความเห็นของชูมัคเกอร์ ผู้เขียนหนังสือ "Small is Beautiful : Economic as if People Mattered" คือ ช่วยแบ่งเบาภาระให้มนุษย์ เพื่อจะช่วยให้มนุษย์มีชีวิตอยู่และพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้

เทคโนโลยีควรมีคุณลักษณะ 3 ประการ

          1. ต้นทุนต่ำและคนเข้าถึงได้ง่าย

          2. เหมาะสมกับการนำไปประยุกต์กับงานเล็กๆ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ

          3. สอดคล้องกับความต้องการของคนในการคิดสร้างสรรค์
  
          สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ชูมัคเกอร์เห็นว่าไม่ควรลอกเลียนแบบประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะไม่ช่วยแก้ปัญหาความยากจน เทคโนโลยีของประเทศที่พัฒนาแล้วมักมีลักษณะเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงและมีความซับซ้อน ใช้ต้นทุนมาก ต้องพึ่งพลังงานมาก รวมทั้งยังทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องพึ่งพาประเทศพัฒนาแล้วมากขึ้น

          ชูมัคเกอร์ เสนอให้ประเทศที่กำลังพัฒนาใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งมาจากแนวทางสายกลางของพุทธศาสนา เทคโนโลยีแบบนี้จะเหมาะกับสังคมในชนบท ซึ่งมีความยากจนและมีแรงงานเหลือเฟือ ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีแบบนี้ จึงจำเป็นต้องมีการคำนึงถึงความแตกต่างของสังคมเมืองกับสังคมชนบทด้วย
 
ความสุขเรียบง่ายในโลกดิจิตอล

          ในโลกของเทคโนโลยี ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนไปหมด วันแต่ละวันผ่านไปอย่างรวดเร็ว วรรณวิภาคิดว่าเราน่าจะลองมาใช้วิธีนี้ในการใช้ชีวิตประจำวันดูบ้าง

          1. ปิดมือถือบ้าง ลองหยุดการสื่อสารด้วยการปิดโทรศัพท์มือถือดูบ้าง แม้เพียงวันละไม่กี่ชั่วโมง จะช่วยให้เป็นอิสระและเป็นนายของตัวเองอย่างเต็มที่ เมื่อคนเราเป็นอิสระ ย่อมคิดและตัดสินใจได้อย่างเต็มที่และถูกต้อง

          2. งดรับข่าวสารในบางวัน เพราะหลายครั้งข่าวในโทรทัศน์หรือในอินเตอร์เน็ตทำให้เราหดหู่ใจ เพราะเนื้อหามีแต่การฆ่าฟัน ทำลายล้าง ในทางจิตวิทยาถือว่าอาจทำให้ชาชินกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นจนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา และทำให้จิตใต้สำนึกสะสมข้อมูลแย่ๆ เอาไว้โดยเปล่าประโยชน์

          3. ออกกำลังกายสมองเสียหน่อย สมองเป็นอวัยวะที่ต้องมีการฝึกฝนอยู่เสมอ จึงจะว่องไว ไม่หลงลืมก่อนวัยอันควร การอ่านหนังสือจะทำให้สมองมีการทำงานมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการดูโทรทัศน์ที่สมองทำงานเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะการอ่านหนังสือต้องอาศัยการคิด จินตนาการ การตีความ และประมวลความเข้าใจ

          4. ประโยชน์ของความเงียบ หัดตัวเองให้เคยชินกับความเงียบดูบ้าง หากอยู่ในบ้านก็ลองปิดวิทยุ โทรทัศน์ ถอดปลั๊กโทรศัพท์ ปลีกตัวเองไปนั่งๆ นอนๆ เอกเขนกในมุมโปรดที่สงบๆ หลับตาแล้วทอดใจไปกับความสบาย ฟังเสียงความเงียบให้ใจสงบ

          5. เข้านอนเร็วขึ้น เพราะในโลกปัจจุบัน เทคโนโลยีรอบตัวมักจะแย่งชิงเวลาพักผ่อนของเราไปอย่างไม่รู้ตัว ลองสังเกตดูว่าเราดูโทรทัศน์จนดึกดื่น คุยโทรศัพท์กับเพื่อนจนถึงเที่ยงคืน หรือนั่งคุยทางอินเตอร์เน็ตข้ามวันข้ามคืนอยู่หรือเปล่า ถ้าใช่ก็มาลองเข้านอนให้เป็นเวลา เช่นอาจจะไม่เกิน 4 ทุ่มและตื่นนอนแต่เช้า จะรู้สึกว่าสดชื่นกระปรี้กระเปร่าขึ้นเยอะเลย

          6. กินอย่างมีสติ ยิ่งใช้เทคโนโลยีมากเท่าไร เราก็จะกลายเป็นคนที่เร่งรีบมากขึ้น เพราะชินกับความรวดเร็ว แม้แต่จะกินข้าว ก็ยังต้องรีบกินให้เสร็จ ความจริงแล้วเราควรจะค่อยๆ เคี้ยวอย่างช้าๆ เพื่อซึมซับรสชาติของอาหารไปทีละนิดจนกว่าจะหมดรสชาติ เคี้ยวอาหารให้ได้สักคำละ 50 ครั้ง เป็นดีที่สุด



ข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภูมิชีวิตในโลกยุคไอที โพสต์เมื่อ 21 มกราคม 2551 เวลา 00:00:00 8,344 อ่าน
TOP