x close

ต้นตะกูยักษ์ ไม้เศรษฐกิจที่น่าปลูก

ต้นตะกูยักษ์

เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

          หากคุณมีที่ดินเปล่าๆ ไม่รู้จะทำอะไร เราขอแนะนำให้ปลูก "ต้นตะกูยักษ์" ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นที่สนใจอย่างมากมาย เพราะต้นตะกูยักษ์นั้น ปลูกง่าย ดูแลง่าย โตเร็ว ทำกำไรงาม และยังทนทานต่อสภาวะแวดล้อมอย่างน้ำท่วมหรือไฟป่าอีกด้วย  

ความเป็นมา                                                     

          ในปัจจุบันสถานการณ์การขาดแคลนไม้ทั้งในเมืองไทยและตลาดโลกทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุมาจากการใช้ไม้จำนวนมหาศาลของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการตัดไม้ธรรมชาติเพื่อนำมาสนองความต้องการ จนเมื่อมาถึงจุดวิกฤติ หลายประเทศได้มีการห้ามตัดไม้ธรรมชาติเพื่อนำมาใช้งาน ทางออกของการแก้ปัญหาที่จะตอบสนองอุปสงค์จำนวนมหาศาลเหล่านี้จึงมีอยู่ทางเดียวคือการปลูกไม้ขึ้นเองเพื่อใช้งาน จึงมีการศึกษาและเสาะแสวงหาพันธุ์ไม้โตเร็วที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตได้ดี ที่เหมาะกับภูมิประเทศและสภาพอากาศในประเทศนั้นๆ โดยเนื้อไม้ต้องสามารถตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจได้ ต้นตะกูจึงได้กลายมาเป็นไม้เศรษฐกิจที่ควรปลูก

ลักษณะต้นตะกู

          เป็นไม้ที่มีลำต้นสูงเปลา มีขนาดสูง 15-30 เมตร เนื้อละเอียดสีเหลืองนวล แข็งแรงน้ำหนักเบา เปลือกสีน้ำตาล ขรุขระเป็นร่องละเอียดตามแนวลำต้น ลักษณะกิ่ง แตกเป็นแนวทำมุมกับพื้นดินวางตำแหน่งเป็นคู่ในตำแหน่งตรงข้ามกันเป็นช่วงๆ ตามแนวลำต้นแต่ละช่วงสลับกัน ใบเป็นใบเดี่ยวทรงรีคล้ายใบสัก ผิวเนียนละเอียด หลังใบมองเห็นกระดูกใบชัดเจน ใบและก้านมีกลิ่นหอม

          โดยจะมีขนาดใบเฉลี่ยโดยประมาณ ด้านกว้าง 12-25 ซ.ม. ด้านยาว 18-30 ซ.ม. ดอกมีสีเขียวอมเหลือง เมื่อแก่จะกลายเป็นสีเหลืองเข้ม มีกลิ่นหอม กลุ่มดอกลักษณะกลม ความโตประมาณ 3.5-7 ซ.ม. กลุ่มดอกจะออกในตำแหน่งปลายกิ่ง ในกลุ่มดอกมีกลีบดอกอัดแน่นจำนวนมาก แต่ละดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ใต้กลีบดอกมีกระเปาะเมล็ด 4 กระเปาะ มีเมล็ดข้างใน เมื่อผลแก่เต็มที่จะร่วงลงตามธรรมชาติ ซึ่งจะมีลักษณะเด่นดังนี้

          โตเร็ว ต้นเปลา ตรง ไม่มีกิ่งตามต้นเกะกะเนื่องจากต้นไม้จะทำการสลัดกิ่งตลอดเวลาที่เจริญเติบโต แปรรูปได้ปริมาณไม้ต่อต้นสูง

          ทนแล้ง

          ทนน้ำหรือน้ำท่วมขัง ตะกูสามารถอยู่รอดได้ในพื้นที่น้ำท่วมขัง และสามารถเจริญเติบโตได้เมื่อไม้ฟื้นตัวหลังน้ำลด

          ตะกูจะมีการงอกขึ้นใหม่ได้อีกจากโคนเดิมหลังจากการตัดฟันซึ่งเป็นลักษณะของไม้โตเร็ว ทำให้ผู้ปลูกไม่ต้องลงทุนในการปลูกต้นกล้าหลายรอบ

คุณสมบัติเนื้อไม้  

          ไม้ตะกูเป็นไม้ที่มีสีเหลืองนวล เนื้อไม้ละเอียด น้ำหนักเบา มีความแข็งแรงทนทาน เนื้อไม้มีความเหนียว ไม่แตกหักง่าย ขึ้นรูปง่าย มีคุณสมบัติป้องกันแมลง, มอด, ปลวก จึงเป็นที่นิยมนำมาสร้างบ้าน ทำไม้พื้น ไม้กระดาน โดยส่วนประกอบอื่นๆ เหมาะสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์, เครื่องเรือน, เครื่องใช้ในบ้าน เพราะง่ายต่อการแปรรูป สามารถแปรได้ไม้หน้าใหญ่และยาว เนื่องจากตะกูจะทำการสลัดกิ่งตลอดเวลาที่มีการเจริญเติบโต ต้นจึงเปลาสูงทำให้ได้ขนาดและมีปริมาณเนื้อไม้มาก

วัตถุประสงค์ในการปลูก

          1. ปลูกเพื่อธุรกิจ เป็นการปลูกไม้ตะกูให้ได้ระยะ แล้วทำการตัดโค่นเพื่อขายไม้ท่อนหรือแปรรูป การปลูกลักษณะอย่างนี้จะเป็นการทำงานอย่างจริงจัง โดยจะมีการดูแลบำรุงรักษาอยู่เสมออย่างเป็นขั้นตอน เมื่อถึงระยะตัดโค่นจะทำให้ผู้ปลูกมีรายได้เป็นจำนวนมากและสามารถลงทุนต่อเนื่องได้

          2. ปลูกเป็นผลพลอยได้ เป็นการปลูกตามพื้นที่ว่างในที่ดิน หรือปลูกตามแนวที่ตามคันนา เป็นต้น การปลูกแบบนี้จะทำให้ผู้ปลูกสามารถตัดโค่นไม้ได้จำนวนหนึ่งเมื่อไม้ถึงระยะตัดฟัน เมื่อนำมาขายก็จะได้เป็นรายได้ เสริมที่ค่อนข้างดี การปลูกแบบนี้จึงเป็นเหมือนผลพลอยได้บนเนื้อที่ๆ ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์

          3. ปลูกเพื่อใช้ไม้ การปลูกแบบนี้จะทำการปลูกต้นไม้ไว้ให้เท่าที่ต้องการใช้ และเมื่อถึงเวลาลูกออกเรือนก็จะตัดไม้ดังกล่าวมาทำการปลูกเรือน

แบ่งตามลักษณะการปลูก

          1. ปลูกแบบสวนป่าระบบน้ำ เมื่อผู้ประกอบการต้องการทำการปลูกไม้เพื่อเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง การปลูกแบบนี้จะทำให้ได้ผลผลิตที่ได้คุณภาพ และให้ผลตอบแทนเร็วกว่าปกติ เนื่องจากสามารถควบคุมไม้ให้มีคุณภาพได้จากการบำรุงและดูแลรักษาที่ดี การปลูกแบบนี้จะสามารถควบคุมแปลงปลูกทั้งในเรื่องจำนวนการปลูก การให้ปุ๋ย ทั้งการดูแล โดยจะทำการตัดโค่นเพื่อทำกำไรช่วงแรกในปีที่ 5 เพื่อให้ไม้ที่เหลืออยู่มีระยะห่างในการเจริญเติบโต

          ในการปลูกแบบนี้อาจรวมถึงแปลงปลูกที่สามารถมีการจัดสรรปุ๋ยและน้ำ หรือการดูแลได้เพียงพอต่อความต้องการของต้นไม้ได้ เมื่ออายุ 7 ปีขึ้นไป ไม้ที่มีความสมบูรณ์จะสามารถให้เนื้อไม้ปริมาณมาก

          2. ปลูกแบบสวนป่าปล่อยธรรมชาติ การปลูกแบบนี้เป็นการปลูกสวนป่าที่นิยมมาก เพราะไม่ต้องดูแลหรือบำรุงรักษามาก เพียงแค่ดูแลเมื่อแรกลงกล้าพันธุ์ไม้จนกระทั่งแน่ใจว่าไม้อยู่รอดแล้ว จากนั้นก็ปล่อยไม้ให้เจริญเติบโตเองตามสภาพแวดล้อม การปลูกแบบนี้ผู้ปลูกจะดูแลรักษาเฉพาะช่วงแรกเพื่อให้ต้นไม้ไม่ตาย แต่ผลเสียคือ ไม้จะเจริญเติบโตเองตามสภาพแวดล้อม คุณภาพของไม้และปริมาณไม้จะได้น้อยเมื่อเทียบกับการปลูกแบบระบบน้ำ

          3. ปลูกตามแนวที่ สามารถปลูกได้ตามคันนา หรือพื้นที่ที่ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ โดยเมื่อถึงระยะการตัดโค่นแล้วก็จะได้ผลตอบแทนจากการขายไม้พอสมควร

ต้นตะกูยักษ์

การปลูกต้นตะกู

          ตะกูเป็นไม้ที่ทางกรมป่าไม้จัดอยู่ในประเภท "ไม้โตเร็วมาก" และสามารถเติบโตได้ดีในหลายสภาพดินฟ้าอากาศ ตะกูที่พบอยู่ในธรรมชาติจึงพบอยู่ในหลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และอีสาน อย่างไรก็ตามแม้จะพบไม้ตะกูกระจายในหลายพื้นที่ แต่ก็พบว่ามีจำนวนความหนาแน่นน้อยมากเนื่องจากตะกูขยายพันธุ์เองได้ยาก แต่ตะกูสามารถปลูกได้ในสภาพดินที่ค่อนข้างแล้ง หรือแม้แต่ในสภาวะน้ำท่วมขังตะกูก็ยังสามารถอยู่รอดได้

          ซึ่งได้มีกรณีศึกษาจากแปลงปลูกต้นตะกูในภาคเหนือที่มีน้ำท่วมขังนาน 3 เดือน แต่ต้นตะกูก็ยังอยู่รอดได้และสามารถเจริญเติบโตได้อีกครั้งหลังน้ำลด ขณะที่ไม้บางชนิดที่ปลูกในพื้นที่เดียวกันต้นจะเฉาและตายในที่สุด อย่างไรก็ตามการที่ต้นตะกูจะเจริญเติบโตได้ดีนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม รวมถึงมีการดูแลอย่างดี นั่นจึงทำให้จะได้ไม้ที่มีคุณภาพ และในปริมาณที่สูงด้วย

          การปลูกต้นตะกูให้เจริญเติบโตได้ดีต้องมีระยะการปลูกที่ไม่ชิดแน่นจนเกินไป ระยะที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับสภาพดินของแต่ละพื้นที่ โดยทั่วไปจะปลูกที่ระยะ 4 x 4 เมตร ใน 1 ไร่จะปลูกได้ประมาณ 100 ต้น ระยะตัดฟันอยู่ที่ 5 ปีขึ้นไป โดยจะได้รับผลตอบแทนตามขนาดและระยะเวลาที่ตัดโค่นไม้ และเมื่อทำการปลูกในปริมาณที่มากขึ้นรายได้ก็จะทวีคูณ หากถึงระยะตัดฟันแล้วแต่เกษตรกรยังไม่ทำการขายไม้ ต่อมาเมื่อต้นไม้โตขึ้นก็จะมีมูลค่าสูงตามขนาด ถ้าทิ้งไว้นานอาจจะกลายเป็นต้นตะกูยักษ์ก็ได้

วิธีการปลูก

          การปลูกต้นตะกู ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ระยะปลูก 2.5 x 2.5 ปลูกได้ไร่ล่ะประมาณ 266 ต้น หลุมปลูกควรมีขนาด 30 × 30 เซนติเมตร ลึก 40 เซนติเมตร โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์สูตรพิเศษรองก้นหลุมๆ ละ 250 - 300 กรัม คลุกเคล้าให้ทั่วหลุมแล้วนำต้นตะกูลงไปปลูกในหลุม ต้องระมัดระวังขณะฉีกถุงอย่าให้ดินในถุงแตก หลังจากนั้นให้กลบดินให้แน่นอย่าให้เป็นแอ่งหรือน้ำแฉะขังบริเวณหลุมปลูก และใช้ไม้ค้ำผูกติดไว้เพื่อป้องกันการล้ม ซึ่งมีวิธีการใส่ปุ๋ย ดังนี้

          ปีที่ 1 - หลังจากปลูก 1 เดือน ใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตราต้นละ 300 กรัม  โดยใสปุ๋ยครั้งที่ 2 ในช่วงปลายฤดูฝน (เดือนกันยายน - ตุลาคม) ใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 12-4-7 อัตราต้นละ 400 กรัม

          ปีที่ 2 - ครั้งที่ 1 ในช่วงต้นฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม) ใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตราต้นละ 350-400 ครั้งที่ 2 ช่วงปลายฤดูฝน (เดือนกันยายน - ตุลาคม ) ใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 12-4-7 อัตราต้นละ 400 กรัม

          ปีที่ 3-5 - ครั้งที่ 1 ช่วงต้นฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม) ใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 12-4-7 อัตราต้นละ 500 กรัม ครั้งที่ 2 ช่วงปลายฤดูฝน (เดือนกันยายน - ตุลาคม ) ใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 12-4-7 อัตราต้นละ 500 กรัม

          ปีที่ 6 ขึ้นไป - ให้ตัดต้นเว้นต้น เพื่อให้ต้นตะกูมีขนาดที่ใหญ่ออกทางด้านข้าง และมีเนื้อไม้ที่แข็งแรง การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ให้ใส่ช่วงต้นฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม) ใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 12-4-7 อัตราต้นละ 1 กิโลกรัม ครั้งที่ 2 ช่วงปลายฤดูฝน (เดือนกันยายน - ตุลาคม ) ใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 12-4-7 อัตราต้นละ 1 กิโลกรัม

          นอกจากการใส่ปุ๋ยตามที่กำหนด สิ่งที่ควรระมัดระวังในระยะเริ่มปลูกปีที่1-2 คือควรหาวิธีป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย แพะ และแกะ ซึ่งเป็นสัตว์กินพืชเข้าไปในแปลงปลูกต้นตะกูเพราะอาจเข้าไปกัดกินใบต้นตะกูจนเกิดความเสียหายได้

          โดยต้นตะกูอายุ 5 ปี จะมีขนาดสูง 15 – 20 เมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลางราวๆ 30 -50 ซ.ม. จะขายได้ต้นละประมาณ 3,000 – 5,000 บาท (แต่ถ้าอายุ 10 ปี จะได้ต้นละ 10,000 บาท) ซึ่งถ้า 1 ไร่ ปลูก 200 ต้นๆ ละ 3,000 บาท x 200 ต้น = 600,000 บาทเลยทีเดียว

          ต้นตะกูจึงเป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่สามารถจัดเป็นไม้เศรษฐกิจโตเร็วในอนาคตได้


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ต้นตะกูยักษ์ ไม้เศรษฐกิจที่น่าปลูก โพสต์เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 00:00:00 139,711 อ่าน
TOP