x close

นักสู้หญิง รสนา โตสิตระกูล

รสนา โตสิตระกูล


เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

         หลายคนคงคุ้นชื่อเธอคนนี้ดี รสนา โตสิตระกูล ว่าที ส.ว. กรุงเทพมหานคร แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จัก เราจะพาไปพบกับผู้หญิงแกร่งคนนี้ ที่พร้อมทำเพื่อสังคมและผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยแต่ละเรื่องที่เธออาสาคัดค้านหรือเปิดโปงเธอจะสู้จนถึงนาทีสุดท้าย ชนิดกัดไม่ปล่อยเลยทีเดียว 

         รสนา โตสิตระกูล นั้นเกิดวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2496 เธอเรียนจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม และไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรีจนจบจากคณะวารสารสาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเธอนั้นเคยผ่านงานตั้งแต่ เลขาธิการ มูลนิธิสุขภาพไทย, กรรมการอิสระ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิโกมลคีมทอง, แกนนำเครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อผู้บริโภค, กรรมการเตรียมการจัดตั้งสภาพัฒนาการเมือง และยกร่างแผนแม่บทพัฒนาการเมือง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, กรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามกระบวนการและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภานิติบัญญัติ, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค 2 สมัย อีกทั้งเธอยังมีงานแปลและงานเขียนด้วย อาทิ เดิน : วิถีแห่งสติ, วีรชนต้านคอร์รัปชั่น 

         ซึ่งเธอนั้นเริ่มทำงานเพื่อสังคมตั้งแต่สมัยที่เธอเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับโครงการพัฒนาชนบทที่เธอได้ดรอปเรียนเพื่อไปพัฒนาชนบทที่ อ.ระโนด จ.สงขลา เพราะผิดหวังกับระบอบประชาธิปไตยที่ถูกย่ำยีโดยผู้มีอำนาจ แต่เกิดการล้อมปราบเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่รัฐบาลสั่งกวาดล้างผู้ที่วางตัวเป็นปฏิปักษ์และกล่าวหานักศึกษาที่ทำโครงการพัฒนาชนบทว่าเป็นคอมมิวนิสต์แบ่งแยกแผ่นดิน ทำให้เธอต้องทิ้งโครงการที่ทำอยู่และกลับมาอยู่บ้านที่กรุงเทพฯ จนได้กลับมาเรียนต่อที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

         โดยเธอได้เล่าถึงเหตุการณ์นั้นว่า "ตอนนั้นนักศึกษาถูกท้าทายว่าเป็นพวกกระฎุมพี ไม่รู้จักการทำงานเพื่อรากหญ้า เราก็เลยลงไปลองทำนาดูซิ ดรอปเรียนไปเลย จนเกิด 6 ตุลาฯ 2519 ก็เลยอยู่ที่นั่นไม่ได้ต้องกลับขึ้นมา เพราะรัฐบาลจับตาว่าเราเข้าไปแทรกซึมในกลุ่มชาวบ้าน ตอนขึ้นมากรุงเทพฯ นี่เขาจับกันเละเทะหมดแล้ว เราอยู่ภาคใต้เลยไม่โดน(หัวเราะ) พอจบออกมาเรารู้สึกว่าการทำงานในระบบมันไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้สังคมได้ เลยหันไปทำงานเป็นเอ็นจีโอ"

         นั่นจึงเป็นที่มาของการทำงานเพื่อสังคม ซึ่งผลงานที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักของสังคมก็คือ การตรวจสอบทุจริตยา และ การยับยั้งการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยในการตรวจสอบทุจริตยานั้นเธอเป็นหนึ่งในแกนนำการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อยื่นตรวจสอบการทุจริตยาของกระทรวงสาธารณสุข จนทำให้นายรักเกียรติ สุขธนะ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 15 ปี และถูกยึดทรัพย์เป็นจำนวนเงินกว่า 234 ล้านบาท จากการเคลื่อนไหวเกือบ 6 ปี ส่วนกรณียับยั้งการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่เธอกับกลุ่มเอ็นจีโอได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองในการยับยั้งการแปรรูปอันนำมาซึ่งคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฏีกาแปรรูป กฟผ. ทั้ง 2 ฉบับ 

         ส่วนบรรดารัฐวิสาหกิจที่กำลังดำเนินการแปรรูป รวมทั้งที่แปรรูปไปแล้วอย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ได้กลายเป็นของเอกชนไปแล้วนั้น เธอกับกลุ่มเพื่อนก็ยืนยันที่จะเคลื่อนไหวเรียกร้องให้หน่วยงานเหล่านี้กลับมาเป็นของคนไทยทั้งประเทศอีกครั้ง 

         และการทำงานเพื่อสังคมของเธอ หลายครั้งทำให้เธอต้องเจอกับการคุกคามและการข่มขู่เอาชีวิต แต่เธอก็กล้าที่จะเดินหน้าเพื่อสิ่งที่ถูกต้องและผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยเธอได้บอกไว้ว่าไม่ว่าวันนี้หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ความคิดของเธอก็ยังคงเหมือนเดิมคือต้องการทำงานเพื่อประเทศไทยซึ่งเป็นแผ่นดินเกิด 
 

ข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักสู้หญิง รสนา โตสิตระกูล โพสต์เมื่อ 4 มีนาคม 2551 เวลา 00:00:00 3,761 อ่าน
TOP