x close

ใครไม่ปราบยุงลาย โทษถึงคุก



             กรุงเทพมหานคร ลุยรณรงค์ตัดวงจรไข้เลือดออก กระตุ้นประชาชนยึดหลัก 5 ป. ปิด - เปลี่ยน ปล่อย ปรับ ปฏิบัติ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เผยสถานการณ์ไข้เลือดออกมีแนวโน้มระบาดสูงขึ้น เพราะสภาวะโลกร้อนทำอากาศเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคมพบผู้ป่วยแล้ว 970 คน สูงกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกัน เตรียมงัดพ.ร.บ.สาธารณสุขบังคับ บ้านไหนมีแหล่งเพาะยุงลาย โทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 2 พันบาท

             เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 มีนาคม นายจักรพันธุ์ พรนิมิตร ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. และนางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการกองควบคุมโรค สำนักอนามัย (สนอ.) ลงพื้นที่รณรงค์ตัดวงจรโรคไข้เลือดออกใน 3 พื้นที่ ได้แก่ เขตหนองแขม บางแค และบางขุนเทียน ซึ่งมีสถิติความชุกชุมของลูกน้ำยุงลายสูง พร้อมกระตุ้นให้ประชาชนให้ความสำคัญในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยยึดหลัก 5 ป. (ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับ ปฏิบัติ)

             นางป่านฤดี กล่าวว่า ปัจจุบันถือว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกมีการระบาดตลอดทั้งปี และมีแนวโน้มการระบาดสูงขึ้น เนื่องจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึงภาวะโลกร้อนส่งผลให้วงจรชีวิตยุงลายเปลี่ยนแปลงไป โดยมีชีวิตยาวนานขึ้น ยุงลายวางไข่มากขึ้นและสามารถถ่ายทอดเชื้อจากตัวแม่สู่ลูกน้ำได้ แม้ไม่ไปกัดคนก็สามารถมีเชื้อไข้เลือดออกได้

              ขณะเดียวกันคนเรามีโอกาสเป็นโรคไข้เลือดออกได้ 4 รอบ เพราะยุงลายมีอยู่ 4 สายพันธุ์ หากใครเป็นถึง 4 ครั้งก็มีโอกาสช็อกเสียชีวิตได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายและน่ากลัวมาก ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน มกราคม - 4 มีนาคม ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในกทม.แล้ว 970 คน แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต ซึ่งมีจำนวนสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่มีเพียง 781 คน

              สิ่งสำคัญในการควบคุมโรคไข้เลือดออก จะต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มากกว่าการพ่นสารเคมีที่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หลังจากพ่นสารเคมีไปแล้ว 1 สัปดาห์ ยุงลายก็เพาะพันธุ์ได้อีก ดังนั้น ชาวบ้านโดยเฉพาะชุมชนแออัด บ้านเดี่ยวที่มีการเลี้ยงปลา กระถางบัว ที่ถือเป็นจุดเสี่ยงจะต้องหันมากำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจุบัน กทม.ยังประสบปัญหาที่ประชาชนไม่ได้ให้ความร่วมมือมากนัก เมื่อพบว่าชุมชนตนเองมียุงลายก็ต้องการให้พ่นสารเคมีเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ช่วยกันปรับปรุงแหล่งที่อยู่อาศัยให้ปลอดจากโรคไข้เลือดออก นางป่านฤดี กล่าว

            นางป่านฤดี กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงให้แต่ละเขตที่มีการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออก ออกรณรงค์ขอความร่วมมือชาวบ้านช่วยกันจัดเคหสถาน หากบ้านหลังใดไม่ปรับปรุงแก้ไข ปล่อยให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายก่อเหตุรำคาญ ก็สามารถนำมาตรการทางกฎหมายมาบังคับใช้ได้ตามมาตรา 74 พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 โดยระบุความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเขตสามารถดำเนินการได้หลังจากไปสำรวจ โดยภายใน 1 เดือนหลังแจ้งเตือนหากไม่ดำเนินการ ให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้เลย ซึ่งปัจจุบันมีเขตบางขุนเทียนที่ออกประกาศดังกล่าวแล้ว

              นางป่านฤดี กล่าวอีกว่า กทม.ได้หารือกับทางองค์การอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ให้ประสานร้านขายยาแผนปัจจุบัน ร่วมตรวจสอบอาการผู้ป่วยเบื้องต้น หากมีอาการไข้สูงไปซื้อยาที่ร้าน เภสัชกรจะต้องทำรายงานผลอาการใน 4 โรค ประกอบด้วย โรคไข้เลือดออก ไข้หวัดนก โรคมือ เท้า ปาก เป็นต้น หลังจากนั้นให้ส่งรายงานมาที่กองควบคุมโรค กทม. เพื่อเข้าสู่ระบบควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากขณะนี้ถือว่าการควบคุมโรคเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะโรงพยาบาลที่ไม่อยู่ในสังกัด กทม. จะรายงานโรคเข้ามาช้า ทำให้ไม่สามารถส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วไปควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างทันท่วงที โดยภายใน 1 เดือนนี้ กทม.และ อย.จะลงนามในบันทึกข้อตกลงเอ็มโอยูร่วมกัน



ข่าวที่เกี่ยวข้อง


- สธ.เตือนระวัง พบยุงลายกัด ไม่เลือกเวลา
-

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ใครไม่ปราบยุงลาย โทษถึงคุก โพสต์เมื่อ 6 มีนาคม 2551 เวลา 00:00:00 5,240 อ่าน
TOP