x close

สรยุทธยก ชิลี-อังกฤษ ใช้ ซิโนแวค-แอสตร้าฯ ต้องกลับมาชัตดาวน์ หรือฝันไปเปิดประเทศใน 120 วัน


          TDRI วิเคราะห์แผนเปิดประเทศใน 120 วัน ชี้ ประสิทธิภาพของวัคซีน มีผลเป็นอย่างยิ่งต่อการเปิดประเทศ พร้อมเทียบโมเดล ชิลี-อังกฤษ ใช้ ซิโนแวค-แอสตร้าฯ ต้านไม่ไหวกลับมาปิดอีกรอบ

ข่าวเปิดประเทศ

          วันที่ 18 มิถุนายน 2564 เรื่องเล่าเช้านี้ รายงานว่า ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยบทวิเคราะห์เกี่ยวกับแผนการเปิดประเทศในอีก 120 วัน ของนายกรัฐมนตรี ว่า ถือเป็นเป้าหมายในอุดมคติ เป็นการคาดการณ์ในกรณีที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้น ได้ทั้งการควบคุมโรคระบาดและการกระจายวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก่อนจะเปิดประเทศ

ข่าวเปิดประเทศ

เชื่อ เปิดประเทศ 4 เดือนหน้า คนไทยยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ เสี่ยงเชื้อแพร่กว่าเดิม


          ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยคาดการณ์อย่างเร็วที่สุด ประชาชน 70% จะได้วัคซีน 2 โดส ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ถึงจะเปิดเศรษฐกิจได้ แต่เมื่อนายกฯ ตั้งเป้าเปิดประเทศภายในเดือนตุลาคม 2564 นั้น ซึ่งเร็วกว่า ธปท. คาดการณ์ไว้ถึง 4 เดือน ทาง TDRI มองว่า ต้องมองในมุมทั้งการควบคุมการระบาดและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป้าหมายที่นายกฯ ตั้งไว้ถ้าทำสำเร็จ เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาเกือบ ๆ จะ 5 แสนล้าน หรืออาจจะมากกว่านั้น เป็นการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคของประชาชน

          แต่ปัจจัยความสำเร็จและความเสี่ยงมันขึ้นอยู่กับปริมาณและเรื่องคุณภาพวัคซีน โดยปริมาณแผนวัคซีนของรัฐบาลที่จะฉีดเข็มแรกในเดือนมิถุนายน และอีก 4 เดือนข้างหน้า ต้องฉีดให้ได้ถึง 60% ของประชากร ซึ่งก็ยังไม่ถึงภูมิคุ้มกันหมู่ที่จะได้ 70% และยังมีปัญหาส่วนหนึ่งยังไม่ได้ฉีดเข็ม 2

ข่าวเปิดประเทศ

          ดังนั้น ถ้าเลือกจะฉีดเข็ม 1 ก่อน หมายความว่า รัฐบาลเลือกทางเสี่ยงที่จะเปิดประเทศในช่วงที่ยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ อีกทั้งในส่วนประสิทธิภาพของวัคซีนที่ไทยได้รับ ในทางการแพทย์ถือเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดไม่ดีนัก เสี่ยงที่จะมีการแพร่ระบาดในวงกว้างมากขึ้นหลังเปิดประเทศ

          ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบโมเดลของต่างประเทศที่เคยเปิดประเทศมาแล้วอย่างประเทศชิลีและอังกฤษ หลังฉีดวัคซีนแต่สุดท้ายเจอสถานการณ์เลวร้าย ทำให้ต้องกลับมาปิดประเทศอีกครั้ง เนื่องจากมีความเสี่ยงในการระบาดระดับสูง อาทิ ประเทศอังกฤษ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละกว่า 7,000 คน ซึ่งถ้าตัวเลขนี้เกิดขึ้นในไทย ก็จะเกินความสามารถของระบบสาธารณสุข

ข่าวเปิดประเทศ
ภาพจาก NMC2S / Shutterstock.com

TDRI มอง ยี่ห้อวัคซีน มีผลต่อการเปิดประเทศสูง ระบาดอีกรอบ เสียหายหนักกว่าเดิม


          ดร.นณริฏ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เรายังคุมการระบาดระลอก 3 ไม่ได้ และถ้ามีเชื้อกลายพันธุ์จากสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จะลำบากมากเกินกว่าระบบสาธารณสุขจะรับไหว

          สำหรับโมเดลเปรียบเทียบ 3 ประเทศที่เปิดประเทศหลังใช้วัคซีนคนละยี่ห้อ ทำให้การควบคุมโรคแตกต่างกัน ดังนี้

          - ประเทศชิลี ใช้วัคซีนซิโนแวค

          - ประเทศอังกฤษ ใช้วัคซีนแอสตร้าฯ

          - ประเทศอิสราเอล ใช้วัคซีนไฟเซอร์

ข่าวเปิดประเทศ

          โดยทั้ง 3 ประเทศฉีดเข็มแรกไปแล้ว 60% และเข็มสอง 40% เหมือนกัน แต่พอเปิดประเทศผลปรากฏว่า มีแค่อิสราเอลเท่านั้นที่ใช้วัคซีนไฟเซอร์ และสามารถกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

          ส่วนอังกฤษ ใช้วัคซีนแอสตร้าฯ ระยะแรกเหมือนจะดี แต่พอเจอสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ก็ต้านไม่ไหวต้องกลับมาปิดประเทศอีกครั้ง เช่นเดียวกับชิลี ที่ใช้วัคซีนซิโนแวค ก็ต้องกลับมาปิดประเทศอีกรอบ

          ดังนั้น ในมุมมองของ TDRI เชื่อว่าประสิทธิภาพของวัคซีนมีผลอย่างยิ่งต่อการเปิดประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยขณะนี้ใช้วัคซีนซิโนแวคเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นวัคซีนประเภทป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้

          หากการระบาดเพิ่มขึ้นหลังจากเปิดประเทศ และประชาชนยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่อย่างแท้จริง ก็จะทำให้กลับมาระบาดใหม่ ล็อกดาวน์กันใหม่ และจะเกิดความไม่แน่นอนกลายเป็นปิด ๆ เปิด ๆ ส่งผลกับเศรษฐกิจต่อไป

ข่าวเปิดประเทศ
ภาพจาก jaturonoofer / Shutterstock.com

ขอบคุณข้อมูลจาก เรื่องเล่าเช้านี้




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรยุทธยก ชิลี-อังกฤษ ใช้ ซิโนแวค-แอสตร้าฯ ต้องกลับมาชัตดาวน์ หรือฝันไปเปิดประเทศใน 120 วัน อัปเดตล่าสุด 18 มิถุนายน 2564 เวลา 14:58:18 16,471 อ่าน
TOP