x close

คุณคิดว่าควรแก้ – ไม่แก้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 237?

รัฐธรรมนูญ

เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

          เรียกว่าเป็นเรื่องเด่นประเด็นร้อนที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก หลังคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) มติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 (กรณียุบพรรค) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับ ส.ส. ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง

          ทั้งนี้ นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า การที่พรรคพลังประชาชนประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ สะท้อนให้เห็นว่า มีการเอาประโยชน์ของนักการเมืองเป็นตัวตั้ง  ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการพยายามแก้ไขมาตรา 237 ที่เกี่ยวกับการยุบพรรค ถือเป็นการนิรโทษกรรมล่วงหน้าให้กับผู้ทุจริตเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง

          "หากปล่อยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยผู้มีส่วนได้เสีย จะทำให้รัฐธรรมนูญไม่ได้รับการยอมรับและอาจเกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง จนกลายเป็นวิกฤติรัฐธรรมนูญได้ในที่สุด" นายสุริยะใส กล่าว

          ด้านมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นำโดยนายสมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยนำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มาเป็นต้นแบบ เพราะจากเหตุการณ์ วันที่ 19 ก.ย. 2549 ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมาจากกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่มีประโยชน์ต่อประชาชน

          "รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ฉบับอำมาตยาธิปไตย แต่เป็นฉบับอุบาทวาธิปไตย เนื่องจากอำนาจทั้งสามส่วนของประเทศมีการก้าวก่ายทับซ้อนไม่คานดุลกัน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มขยายตัวไปสู่การเผชิญหน้าอีกครั้ง ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จึงมีความจำเป็นไม่อาจหลีกเลี่ยงได้" อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

          ขณะที่ นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แนวโน้มทางการเมืองใน 4 - 5 ปีข้างหน้า จะมีเรื่องการทะเลาะกันในเรื่องใหญ่ คือ ระบอบการเมืองการปกครอง นโยบายเศรษฐกิจการเมือง ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นการแก้ไขเพื่อให้นักการเมืองได้อำนาจคืนมา แต่ประชาชนไม่ได้อะไรเลย สิ่งที่ควรแก้ไขมากกว่ารัฐธรรมนูญยังมีอีกมาก โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นการสร้างอำนาจรัฐซ้อนรัฐ ส่วนกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความพยายามที่จะรวบรัดโดยรัฐบาล จะทำเองโดยไม่เอาประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม สิ่งที่น่าวิตกหากยังคงดำเนินการแก้ไขกันไปเช่นนี้ คือ ประชาชนจะได้รับระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบที่ไม่เสรี

         ทางด้าน นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองขณะนี้กับตัวรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดการเมืองแบบปฏิปักษ์ หรือคู่ตรงข้ามที่กลับมารวมกันไม่ได้ คือ การปะทะระหว่างผู้สนับสนุนระบอบอำมาตยาธิปไตยใหม่ ที่ไม่วางใจนักการเมือง แต่ให้ความไว้วางใจและไม่มีความระแวงกับคนที่มาจากระบบราชการ กับกลุ่มที่หนุนระบบรัฐบาลภายในอำนาจของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่พยายามช่วงชิงอำนาจกันของนักการเมือง สิ่งที่สังคมไทยควรทำ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยคิดถึง สิทธิเสรีภาพของประชาชน การทำให้ระบบประชาธิปไตยที่มีพรรคการเมืองไทยกลับมาและการสร้างหลักนิติธรรม เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงในการแก้ไขมากกว่าความพยายามสร้างอำนาจของนักการเมือง


อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายฝ่ายที่ออกมาถกเถียงกันถึงเรื่องดังกล่าว แล้วคุณล่ะคะ คิดว่าควรแก้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คุณคิดว่าควรแก้ – ไม่แก้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 237? โพสต์เมื่อ 31 มีนาคม 2551 เวลา 14:22:10 37,190 อ่าน
TOP