x close

พรรคร่วมรัฐบาลเสียงแตก เหตุจากแก้ไขรัฐธรรมนูญ



สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต


           เมื่อวานนี้ (2 เมษายน) นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) 2550 ว่า การขอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ผู้มีสิทธิขอคือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 50,000 ชื่อ และสมาชิกสภาผู้แทนาษฎร จำนวน 96 คน เป็นความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ไม่ใช่การใช้สิทธิที่ไม่ถูกต้อง หรือเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ส่วนตน เพราะการแก้ไขนอกจากเป็นไปตามผู้เสนอแล้ว ก็ต้องผ่านกระบวนการพิจารณา 3 วาระ นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขว่าห้ามแก้ไขทั้งฉบับ 

           นายสุขุมพงศ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ส.ส.ของพรรคแสดงความจำนงเกือบจะทุกคน รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคด้วย ซึ่งกำลังดำเนินการกันอยู่ มั่นใจว่าทุกพรรคมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน คือต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

           ด้านนายพีรพันธ์ พาลุสุข ส.ส.สัดส่วนพรรคพลังประชาชน (พปช.) ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวภายหลังประชุมวิปรัฐบาลว่า วาระหลักของที่ประชุมยังเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุป คงต้องไปหารือในที่ประชุมพรรคอีกครั้ง แต่เบื้องต้นพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบตรงกันว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สาเหตุที่ยังหาข้อยุติไม่ได้เพราะแต่ละพรรคเห็นต่างในรายละเอียด โดยพรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) เห็นว่าควรแก้ไขทั้งฉบับ สำหรับพรรคมัชฌิมาธิปไตยและพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา เห็นตรงกับพลังประชาชนคือ แก้ไขในบางมาตราและทำการศึกษาปัญหาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขทั้งฉบับควบคู่กันไป 

           ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า รัฐบาลต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างหลักนิติธรรมของบ้านเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้ไปยกเลิกองค์กรใด แต่ขอให้เปิดโอกาสให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมในการต่อสู้คดีของคนและการใช้กฎหมายต่างๆ อย่างเป็นธรรม และไม่ได้แก้ไขเพื่อหลีกเลี่ยงการยุบพรรค ที่ผ่านมาโดนลงโทษจากกฎหมายที่ย้อนหลัง จึงอยากทำให้ถูกต้อง ในอดีตพรรคไทยรักไทยมีอยู่ 111 คน มีคนดีอยู่หรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามีดีอยู่เยอะแยะ แต่ท้ายที่สุดโดน 5 ปี แล้วเป็นธรรมหรือไม่ 

           "จากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาฯ ในส่วนของ ส.ส. เพราะความเห็นส่วนใหญ่ยังสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งในที่ประชุมพรรคมีการพูดกันอย่างกว้างขวางและบางคนถึงกับเสนอให้มีการแก้ไขเพียง 2-3 มาตรา คือ 1.ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2.นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาประกาศใช้" นายชูศักดิ์ กล่าว

           อย่างไรก็ตาม นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การแก้รัฐธรรมนูญทำได้ตามกฎหมาย ผู้ไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิคัดค้านได้ แต่สุดท้ายแล้วประชาชนจะเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจดูว่า สิ่งที่ทำไปนั้นมีเหตุผลถูกต้องหรือไม่ แต่ยอมรับว่า ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญอาจจะทำให้เกิดความรุนแรงได้ แต่เชื่อว่าหากทุกคนเคารพกฎหมาย และทำตามกฎเกณฑ์ ก็คงไม่น่ากลัวว่าจะเกิดเหตุรุนแรง หรือเบานปลายออกไป ขอให้ยึดกติกาเป็นหลัก อย่าใช้กำลังปะทะกัน



ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- คุณคิดว่าควรแก้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พรรคร่วมรัฐบาลเสียงแตก เหตุจากแก้ไขรัฐธรรมนูญ โพสต์เมื่อ 3 เมษายน 2551 เวลา 11:35:28 5,085 อ่าน
TOP