x close

เกาะกูด อันดามัน แห่งทะเลตะวันออก



          ในวันที่อากาศแปรปรวน ชวนให้หัวใจเราปรวนแปร เหงาบ้าง เศร้าบ้าง มีความสุขบ้าง ก็ว่ากันไปตามอารมณ์ แต่... แต่... แต่... ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่เราจะมานั่งเหงาหรือนั่งหงอยกันนะคะ แทน แท่น แท้น... เราขอแนะนำให้เพื่อนๆ รู้จักกับสถานที่ท่องเที่ยวที่จะทำให้เราพบกับความสุขอย่างแท้จริง นั่นคือ "เกาะกูด" เกาะที่ได้รับการขนานนามว่า "อันดามันแห่งทะเลตะวันออก" เพราะมีน้ำทะเลสีใสมรกตนั่นเอง (วู้ว...)

         
"เกาะกูด" เป็นเกาะที่อยู่สุดท้ายทางทิศตะวันออกของประเทศไทยในน่านน้ำทะเลตราด และมีความใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากเกาะช้างในจังหวัดตราด และเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ ระยะทางห่างจากตัวเมืองตราด 80 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 105 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 65,625 ไร่ (โห... ใหญ่จริงๆ ด้วย) โดยมีขนาดความยาวของเกาะ 25 กิโลเมตร และขนาดความกว้าง 12 กิโลเมตร


          ลักษณะโดยทั่วไปของเกาะยังคงสภาพความเป็นธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ โดยมีภูเขาและที่ราบสันเขาซึ่งเป็นต้นกำเนิด ลำธาร สายน้ำ ทำให้เกาะกูดมีน้ำตกหลายแห่ง แต่ที่ขึ้นชื่อบนเกาะกูด คือ น้ำตกคลองเจ้า จะมีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีทั้งหมด 3 ชั้น โดยชั้นบนจะมีลักษณะเป็นลำธาร ส่วนชั้นล่างเป็นลำธารจากน้ำตกขนาดใหญ่ ซึ่งเหมาะแก่การเล่นน้ำอย่างมาก น้ำตกแห่งนี้ถือว่าเป็นน้ำตกประวัติศาสตร์ คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสเมื่อ พ.ศ. 2454 ทรงพระราชทานนามว่า "น้ำตกอนัมก๊ก" เพื่อเป็นที่ระลึกถึงองค์เชียงสือ กษัตริย์ญวนที่เคยเข้ามาลี้ภัยจากการจราจลในสมัยรัชกาลที่ 1

         
ทั้งนี้ ทางฝั่งตะวันตกของเกาะตั้งแต่อ่าวตาติ้น หาดคลองยายกี๋ แหลมหินดำ หาดคลองเจ้า หาดง่ามโข่ แหลมบางเบ้า หาดอ่าวพร้าว ไปจนสุดปลายแหลมเทียน และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางฝั่งตะวันออกที่น่าสนใจ ได้แก่ อ่าวสับปะรด แหลมศาลา อ่าวยายเกิด อ่าวคลองหิน อ่าวจาก ล้วนแต่เป็นหาดที่มีหาดทรายสวยงาม และน้ำทะเลใส มีธรรมชาติสงบเงียบ ร่มรื่นด้วยทิวมะพร้าวริมหาด เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ชื่นชอบท่องเที่ยวและพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ในแต่ละหาดจะมีที่พักไว้บริการนักท่องเที่ยว ในแบบบรรยากาศที่เป็นส่วนตัวอีกด้วย นอกจากนี้ บนเกาะกูดยังมีป่าชายเลนที่สมบูรณ์ แนวปะการังนานาชนิดและปลาทะเลสีสันสวยงาม ในบริเวณทะเลด้านในของตัวเกาะ รวมทั้งเกาะแรด และเกาะไม้ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเกาะกูด


          อย่างไรก็ตาม ชนพื้นถิ่นดั้งเดิมของเกาะกูดส่วนใหญ่เป็นคนไทย และคนเขมรในเกาะกงที่อพยพเข้ามา เมื่อเมืองปัจจันตคีรีเขตรตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ.2447 หมู่บ้านคลองมาดเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่ที่สุด ปัจจุบันชาวเกาะยังดำรงชีพด้วยเกษตรกรรม ทั้งทำสวนยางพารา สวนมะพร้าว สวนผลไม้เพียงเล็กน้อย และทำประมงชายฝั่ง
|

การเดินทาง

         

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เกาะกูด อันดามัน แห่งทะเลตะวันออก โพสต์เมื่อ 23 เมษายน 2551 เวลา 16:40:44 50,217 อ่าน
TOP