ลุงตุ้ม พลังศรัทธาของชายบ้า ผู้ขี่เรือโฟม

จันทิวา บุญญากร

 

เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม

          ท่ามกลางเรือหาปลาที่ทยอยกลับคืนฝั่ง มีเรือลำหนึ่งที่ดูแล้วแทบไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถแล่นฝ่าคลื่นลมทั้งคืนมาได้ ภาพของเรือลำเล็กขนาดเจ็ดวา ที่ต่อขึ้นจากโครงไม้พื้นกรุด้วยโฟมก้อนจนเต็ม พยุงของทุกอย่างตั้งแต่เครื่องท้าย หม้อแบตเตอรี่ ข่ายไดหมึก ให้ลอยอยู่ได้นี้เป็นของชายผมเกรียน หน้าเสี้ยม ผิวคล้ำเกรียม นามว่า ลุงตุ้ม-จันทิวา บุญญากร หรือที่คนในหมู่บ้านเล็กๆ ปากคลองบางโหลง เรียกขานว่า ตุ้ม ไอ้ตุ้ม พี่ตุ้ม

          ด้วยความที่ชื่นชอบเครื่องยนต์กลไก เรือขนาดเจ็ดวาติดเครื่องท้ายสิบแรงที่ประกอบขึ้นจากโครงไม้ และที่สำคัญคือ เศษโฟม ซ่อมและปรับปรุงแบบลองถูกลองผิดไม่รู้กี่สิบเที่ยว จึงกลายเป็นผลงานที่เขาภาคภูมิใจยิ่งกว่าการตีราคาแค่เพียงเครื่องมือหากินคู่ชีพ

          "เขาหาว่าผมบ้า เอาโฟมมาทำเรือ มันจะวิ่งได้ยังไง แต่อย่างที่บอก ไอ้ผมมันยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุ พอมีคนบอกว่าทำไม่ได้ ผมยิ่งมีมานะมากขึ้นกว่าเดิม"

          ลุงตุ้มออกตระเวนไปทั่วเพื่อเก็บขยะโฟมจากบ่อกุ้งมาต่อเป็นเรือหาปลาแทนลำเก่าที่ถูกพายุร้ายจมหายไป สิ่งนี้มิใช่ความผิดประหลาดเพียงประการเดียวของเขา เพราะภาพที่เจนตาของทุกคนในหมู่บ้านเล็กๆ ของปากคลองบางโหลงคือภาพของชายที่นำเรือโฟมออกหาปลาในทะเลตามวิถีปฏิบัติและภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ โดยไม่สนต่อเสียงรอบกายที่มีต่อการกระทำของเขา

          คนค่อนหมู่บ้านจึงไม่ลังเลที่จะสรุปให้ว่า ทั้งบ้า ทั้งเพี้ยน เป็นความ บ้า เพี้ยน เพราะไม่คิดแบบคนทั่วไป, บ้า เพี้ยน เพราะมีความเป็นตัวของตัวเอง และแน่วแน่กับมัน, บ้า เพี้ยน เพราะไม่เจียมตัว, บ้า เพี้ยน ที่ยังหาปลาแบบคนโบราณ แต่คนที่ บ้า เพี้ยน อย่างลุงตุ้มนี้ เชื่อมั้ยว่าทุกคนในหมู่บ้านเล็กๆ ยังต้องค้อมหัวให้กับน้ำจิตน้ำใจของเขา

จันทิวา บุญญากร


          "สมัยก่อนเรือเครื่องก็ยังไม่มี ตายายผมนี่ยังแจวเรือออกทะเลอยู่เลย จำได้ว่าเหยียบแคมเรือคว่ำไปไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยหน คนโบราณเขาหากินกันโดยการใช้ภูมิปัญญา ใช้การสังเกตธรรมชาติ ดูลมฟ้าอากาศ ไม่เหมือนสมัยนี้ที่มีทั้งซาวเดอร์ โซนาร์ เรดาร์ หรืออะไรบ้าๆ ทั้งหลายคอยบอกตำแหน่ง เชื่อไหม ในรัศมีสามกิโลเมตรจากเรือนี่มันรู้หมดเลยว่ามีปลาอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง ผมว่าอุปกรณ์พวกนี้นอกจากทำให้ฝีมือในการจับปลาของชาวประมงลดลงจนหลงลืมภูมิปัญญาโบราณแล้ว มันยังเป็นการเอาเปรียบสัตว์ในทะเลอย่างน่าเกลียดอีกด้วย"
          

          โดยเขานั้นมีอาจารย์หลายคนที่ถ่ายทอดเคล็ดวิชาทะเลสารพัดให้กับเด็กหนุ่ม แต่ไม่มีใครเลยสักคนที่สอนให้เขาละโมบโลภมาก หามาก ไม่รู้อิ่มรู้พอ ดูเหมือนเคล็ดความสำคัญที่สุดที่เขาได้รับการปลูกฝัง มิใช่จำนวนปริมาณหรือขนาดของปลาในลำเรือ แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในหัวใจ

          "เขาไม่ได้สอนผมเฉพาะเรื่องประมงอย่างเดียว แต่ยังสอนเรื่องนิสัยใจคอในการหากินว่า หากินอย่างไรถึงจะไม่ทำร้ายธรรมชาติ หากินแค่ไหนถึงจะพอ ถึงจะไม่เอาเปรียบสัตว์ คนโบราณเขาจะหากินอย่างมีศีลธรรม เขาจะจับปลามาแค่พอกิน ที่เหลือก็แบ่งเพื่อนกับแบ่งขายอีกนิดหน่อย ถ้าปลาติดมากเกินเขาก็ปล่อย บางคนมันก็ว่าผมโง่เหมือนคนโบราณ มีโอกาสแล้วไม่รู้จักกอบโกย ผมก็สวนมันกลับไปเลยว่า ถ้าคนโบราณไม่ฉลาด พวกมึงก็ไม่มีแผ่นดิน ผืนทะเล เหลือไว้ให้ทำมาหากินหรอก"

          แต่รู้หรือไม่ว่าคนอย่างเขาก็มีความทุกข์เหมือนกัน นั่นคือทุกข์ต่อความห่วงกังวลว่าท่าเรือน้ำลึกกำลังจะมาทำให้บ้านของเขา แม่ทะเลของเขา เปลี่ยนไป ซึ่งมันอาจจะทุกข์เสียยิ่งกว่าแก้เครื่องยนต์เจ้ากรรมไม่ตกหรือต่อเรือโฟมให้วิ่งตัดคลื่นไม่ได้เสียอีก 

          ทว่าในความทุกข์ก็ยังมีความหวัง ความหวังที่มาจากความรักและความผูกพันกับทะลและแหล่งทรัพยากร ทำให้ชาวบ้านแห่งปากคลองบางโหลงเป็นหนึ่งในคลื่นขบวนคนจนที่ก่อตัวขึ้นทีละน้อยๆ และกำลังจะขยายออกไปเป็นคลื่นทะมึนที่ถาโถมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อขับไล่คลื่นเก่าเน่าเหม็นจากภายนอกที่ส่งเข้ามายังชุมชนในรูปแบบของการพัฒนาจอมปลอม...

          สามารถติดตามเรื่องราวของ ลุงตุ้ม - จันทิวา บุญญากร แบบเต็มๆ ได้ที่ นิตยสาร ฅ คน ฉบับประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2551 ค่ะ


ที่มาและภาพประกอบจาก
 
นิตยสาร ฅ คน 
ฉบับที่ 30 ประจำเดือน เมษายน พ.ศ. 2551 



นิตยสาร ฅ คน



           เรื่องจากปกพลังศรัทธาของตุ้ม เรือโฟม

          ชีวิตของลูกทะเลที่ยังเชื่อมั่นและศรัทธาในวิถีแบบโบราณ และการสร้างสรรค์ หลายคนยกย่องให้เขาเป็นอัจฉริยะ ขณะที่ไม่น้อยมองเห็นเขาเป็นเพียงคนบ้า

           คนของเรา โลกแห่งเสียงเพลงของอีฟ

          จากพิธีกรรายการทีวี มาเป็นนักร้องในค่ายเพลงเล็กๆ อีฟ-จริยา มุ่งวัฒนา เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตด้วยเหตุผลเพียงประการเดียว นั่นคือความรัก

           คนต้นฉบับต้นแบบการแชร์ความสุขของแป้ง ภัทรีดา

          นักวาดการ์ตูนลายเส้นหญิง บอกเล่าถึงความชื่นชมต่อครูสอนการแสดงท่านหนึ่ง ผู้เป็นต้นแบบในชีวิตและการแบ่งปันความสุข

           สกู๊ปพิเศษ เศรษฐศาสตร์ซี่โครงไก่ต้มฟัก

          ว่ากันด้วยเรื่องของราคาหมู เห็ด เป็ด ไก่ และบรรดาข้าวของในตลาดข้างบ้านนายกฯ ไปจนถึง อตก.

           ของฝากนัก(อยาก)เขียน

          วินทร์ เลียววาริณ แนะเคล็ดลับการสร้างเรื่องแต่งอย่างสมจริง ว่ามีวิธีการอย่างไร และข้อควรปฏิบัติอะไรบ้าง



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลุงตุ้ม พลังศรัทธาของชายบ้า ผู้ขี่เรือโฟม อัปเดตล่าสุด 26 มกราคม 2555 เวลา 15:34:46 15,998 อ่าน
TOP
x close