เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ครม.ไฟเขียวขึ้นเงินเดือนข้าราชการ - สว. มีผล เม.ย.54 ส่วน ส.ส.มีผลสภาชุดหน้า
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)
มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณ 13,000 ล้านบาท เพื่อขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 5% ส่วน ส.ส. และ ส.ว.
ปรับขึ้นเงินเดือนในอัตรา 14.3 - 14.7% เนื่องจากไม่ได้เงินเดือนให้ ส.ส.
และ ส.ว. มานาน 2 ปีแล้ว โดยเงินเดือนข้าราชการ และ ส.ว.
จะมีผลพร้อมกันในวันที่ 1 เมษายน 2554 ขณะที่
ส.ส.ให้มีผลภายหลังการเลือกตั้งใหญ่
ส่วนการขึ้นเงินเดือนให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.นั้น
นายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ
ไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบการพัฒนาส่วนอื่น อาทิ เทศบาล ส.ก. และ ส.ข.
ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย
ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการเงินการคลังสภาฯ
เปิดเผยถึงนโยบายการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ส.ส. และ ส.ว. ว่า การขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการการเมือง ควรพิจารณาจากผลงานเป็นรายบุคคล
ใครทำงานจริงก็ควรจะได้รับผลตอบแทนที่ดี
หากละเลยหน้าที่ก็ไม่ควรได้รับสิทธิ์
โดยส่วนตัวแล้ว เห็นว่า ควรขึ้นเงินเดือนให้กับ ส.ส. และ ส.ว.
เพราะบางส่วนอาจต้องใช้เงินทำกิจกรรมค่อนข้างสูง ขณะที่สังคมไทยกลับมองว่า
ส.ส. และ ส.ว. เกียจคร้าน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด
เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน ประเด็นสำคัญ คือ
ขึ้นเงินเดือนให้กับหน่วยงานใด
ในขณะที่รัฐต้องดูจำนวนรายได้ที่เข้าประเทศด้วย เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ไม่เคยพูดถึงการสร้างรายได้เข้าประเทศ มีเพียงแต่ขึ้นภาษี
ไม่รู้จักวิธีการหาเงิน และยืนยันว่า ข้าราชการการเมือง
ก็ต้องการเงินเดือนเพิ่ม เพื่อให้สอดคล้องกับรายจ่ายที่สูงขึ้น
แต่จำเป็นต้องบอกที่มาของรายได้เพื่อความโปร่งใสด้วย
สำหรับ
การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการในสภา ส.ส. และ ส.ว. นี้ นายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปรับขึ้นเงินเดือนดังกล่าว
ไม่ได้ขึ้นให้นักการเมืองชุดนี้ แต่จะไปปรับให้กับนักการเมืองชุดต่อไป
และการขึ้นเงินเดือนดังกล่าวก็ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อเป็นระบบ
ที่ต้องมีการปรับขึ้น คือถ้ามีการปรับให้ฝ่ายนิติบัญญัติ
ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายตุลาการ ก็คงต้องมีการปรับเพื่อความเหมาะสม
ถามว่าถ้าขึ้นเงินเดือน ส.ส. แล้ว สภายังจะล่มอีกหรือไม่นั้น หรือ ส.ส.
ทำงานไม่คุ้มกับเงินเดือนที่ได้รับนั้น นายกฯ กล่าวว่า ส.ส.
หลายคนทำงานหนัก และไม่คุ้มกับเงินเดือนด้วยซ้ำไป ส่วนที่หลายคนกังวลว่า
สภาจะล่มหรือไม่ล่มนั้น ตนตอบไม่ได้
อันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับประชาชนที่เลือกตัวแทน ส.ส. มาทำหน้าที่ในสภา
อย่างไรก็ตาม มีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการขึ้นเงินเดือน ส.ส. และ ส.ว.
เนื่องจาก ส.ส. มีสิทธิประโยชน์มากกว่า ฝ่ายอื่น ๆ
ทั้งการขึ้นเครื่องบินและสิทธิอื่น ๆ อีกหลาย ๆ อย่าง
ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงการปรับขึ้นเงินเดือนว่า
ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นเงินเดือน เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบัน
นักการเมืองได้รับสิทธิประโยชน์ อื่น ๆ มากมาย เช่นการขึ้นเครื่องบินฟรี
ทั้งนี้อยากถามนักการเมืองว่า
ปัจจุบันเงินเดือนก็ได้มากมายนั้นไม่เพียงพอหรืออย่างไร
และการที่เข้ามาทำหน้าที่ท่านมาทำด้วยใจ หรือมาเพื่อหวังเงินเดือนสูง ๆ
ทั้งนี้นายเรืองไกร กล่าวยกตัวอย่างว่า ส.ว. ได้เงินประจำตำแหน่ง
เงินเดือนรวมก็แสนกว่าบาท หักภาษีและหารแล้วก็ตกวันละกว่า 3,000 บาท
ซึ่งเงินจำนวนมากขนาดนี้คาดว่าน่าจะอยู่ได้สบาย ๆ แล้ว
ทำไมยังต้องเอาเงินภาษีประชาชนมาจ่ายเพิ่มเงินเดือนให้กับบรรดานักการเมือง