x close

แนวทางปฏิบัติ ในคดีข่มขืน

 

          ไม่แน่ว่าเรื่องนี้อาจเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวเรา และหากเราเกิดโชคร้ายต้องพบกับเรื่องแบบนี้ เราจะทำอะไรได้บ้าง ศึกษาไว้ไม่เสียหายค่ะ...



การช่วยเหลือตนเองเบื้องต้นก่อนตัดสินใจดำเนินคดี


          ในระหว่างเกิดเหตุควรพยายามตั้งสติให้ได้ หากไม่มีทางเลือก ที่ดีไปกว่าการรักษาชีวิตไว้ก่อนแล้ว จำเป็นต้องโอนอ่อนผ่อนตาม ก็ควรจะยอมไปก่อน เพื่อหาทางหลบหนีเอาตัวรอดเมื่อมีโอกาส
พยายามหาทางออกจากจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด (โดยเฉพาะกรณีที่ถูกขัง) เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ต่อเนื่องต่อไป 

          เมื่อออกจากจุดเกิดเหตุสิ่งแรกที่ควรทำคือ หาผู้ช่วยเหลือที่ ใกล้ชิดที่สุด โดยเฉพาะถ้าคิดว่าตนเองไม่อาจทำอะไรต่อไปได้เอง เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือมีอาการบาดเจ็บมาก 

          รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาบาดแผล, ตรวจเชื้อกามโรค, โรค เอดส์, ป้องกันการตั้งครรภ์ และเพื่อตรวจหาหลักฐาน เช่น น้ำเชื้ออสุจิ, ร่องรอยการร่วมประเวณี, ขน, ผม, เป็นต้น รวมทั้งการหาสารประเภทยานอนหลับ หรือแอลกอฮอล์ในร่างกายสำหรับรายที่ถูกวางยาหรือมอมเหล้า เบียร์ ดังนั้นเพื่อให้ได้ประโยชน์ในการเก็บพิสูจน์หลักฐาน จึงไม่ควรเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ หรือชำระล้างสิ่งใด ๆ จากร่างกายก่อนพบแพทย์ 

          รีบแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที เพราะยังสามารถบอก รูปร่างหน้าตา จดจำลักษณะของผู้กระทำผิด ในกรณีเป็นคนแปลกหน้า เพื่อจะจับตัวผู้กระทำผิดให้ได้เร็วก่อนจะหลบหนีไป และต้องแจ้งความ ณ สถานีตำรวจซึ่งอยู่ในท้องที่เกิดเหตุ และจดจำชื่อ-ที่อยู่ของพยานในเกตุการณ์ให้ได้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ในการติดตามมาเป็นพยานและในการดำเนินคดี


การร้องเรียนทางวินัย

          ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดรับราชการ ลูกจ้างประจำ หรือเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ อาจารย์มหาวิทยาลัย กิจการเอกชนต่าง ๆ รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ที่มีองค์กรดูแลควบคุมจรรยาบรรณ เช่น แพทย์สภา, สภาทนายความ, ทันตสภา, วิศวกรสภา เป็นต้น ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนต่อหน่วยงานเหล่านี้ได้ ซึ่งอาจจะมีผลให้ต้องไล่ออก, ปลดออก, ลดขั้นเงินเดือน, ตัดเงินเดือน หรือภาคทัณฑ์ความประพฤติไว้ 


          เพราะนอกจากจะเป็นการลงโทษผู้กระทำความผิดได้ทางหนึ่งแล้ว ยังเป็นประโยชน์ในด้านพยานหลักฐานต่าง ๆ เมื่อผู้เสียหายนำคดีขึ้นสู่ศาล หรือแม้ในชั้นศาล พยานหลักฐานจะอ่อนจนไม่อาจลงโทษผู้กระทำผิดได้ เช่น คดีขาดอายุความ มีการถอนคำร้องทุกข์ยอมรับค่าเสียหาย การข่มขืนผู้เสียหายจริง จะมีผลในด้านความก้าวหน้าของหน้าที่การงาน ของผู้กระทำผิดได้ทางหนึ่ง


การแจ้งความร้องทุกข์


          นอกจากจะมีการลงบันทึกประจำวันแล้ว สำหรับกรณีที่รู้ตัวผู้กระทำผิด ผู้เสียหายจะต้องระบุตัวผู้กระทำผิด ว่าต้องการให้เอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษด้วย มิใช่แจ้งไว้เพื่อมิให้คดีขาดอายุความ หรือแจ้งไว้เป็นหลักฐาน จะไปตกลงค่าเสียหายกันก่อน เพราะเท่ากับยังไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ และควรขอคัดลอกบันทึกประจำวันการแจ้งความไว้ด้วย เพื่อป้องกันได้ว่ามีการลงบันทึกประวันจำไว้จริง

          ในกรณีที่เป็นผู้เยาว์ คือ อายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องให้พ่อหรือแม่เป็นผู้พาไป ถ้าพ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียน ต้องให้แม่เป็นผู้พาไป ถ้าเด็ก ๆ ไม่มีพ่อแม่ต้องให้ญาติพาไป


อายุความ


          สำหรับคดีที่ผู้ถูกข่มขืนอายุเกิน 15 ปี จะต้องมีการแจ้งความหรือฟ้องคดีภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันเกิดเหตุ มิฉะนั้นจะถือว่าคดีขาดอายุความ

          กรณีต่อไปนี้ ไม่อยู่ในอายุความ 3 เดือน สามารถแจ้งความได้แม้เกิน 3 เดือน
          - ผู้ถูกข่มขืน ได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือตาย 
          - ผู้ข่มขืนมีมากกว่า 2 คน อันเป็นการโทรมหญิง 
          - มีอาวุธปืน ใช้ขู่บังคับ หรือแสดงให้เห็นในขณะกระทำความผิด 
          - ผู้ข่มขืนเป็นพ่อ ปู่ ตา ทวด หรือ ครูอาจารย์


          อย่างไรก็ตามสำหรับรายที่สามารถแจ้งความได้แม้เกิน 3 เดือน แต่อาจจะมีปัญหาในเรื่องของพยานหลักฐานที่หาไม่ได้แล้ว หรือการจดจำพยานหลักฐานต่าง ๆ เช่น วันเวลาที่เกิดเหตุ หรือรูปพรรณสัณฐานคนร้ายในกรณีที่เป็นคนแปลกหน้า ฯลฯ 


          ทางที่ดีที่สุด จึงควรแจ้งความในทันทีที่เกิดเหตุ เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของผู้ถูกข่มขืน และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้



การยอมความ


          คดีข่มขืนที่ต้องแจ้งความ หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน เป็นคดีที่สามารถตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ ซึ่งการยอมความนั้นจะมีบันทึกหรือเป็นหนังสือหรือไม่ก็ได้ ฉะนั้นการที่จะตกลงรับเงินชดใช้ค่าเสียหายและมีพยานบุคคลเห็น ก็ถือว่าเป็นการยอมความแล้ว ไม่สามารถจะเปลี่ยนใจภายหลังได้อีก จึงต้องคิดให้รอบคอบเพราะค่าเสียหายเพียงน้อยนิดก็ถือว่าเป็นการยอมความแล้ว 


          ทางที่ดีเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาในภายหลัง จึงควรไปตกลงต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ และรับค่าเสียหายก่อนทำบันทึกตกลงยอมความ หากยังไม่ได้เงินค่าเสียหายครบถ้วนที่ตกลงกันไว้ ไม่ควรทำบันทึกไว้ก่อน เพราะในคดีข่มขืน แม้ผู้เสียหายไม่ตกลงยอมความ ผู้เสียหายก็ยังมีสิทธิที่จะได้รับชดใช้ค่าเสียหาย โดยฟ้องเรียกในทางแพ่ง ได้อยู่แล้ว 


          ในกรณีที่ผู้เสียหายอายุไม่เกิน 15 ปีและยินยอมให้กระทำชำเราโดยความเต็มใจ เช่น การหนีตามผู้ชาย หรือหลงเชื่อว่าผู้ชายจะพาไปอยู่กินฉันผัวเมีย หากพ่อแม่ไปพบและเอาตัวเด็กผู้หญิงกลับมาบ้าน และแจ้งความดำเนินคดีกับชายที่มาหลอกลูกสาวไป ในข้อหากระทำชำเราโดยเด็กหญิงยินยอม และข้อหาพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร แม้จะมีช่องทางช่วยเหลือฝ่ายชาย ให้ไม่ต้องโทษในคดีอาญา โดยการร้องขอต่อศาลคดีเด็กและเยาวชน ขอจดทะเบียนสมรส ถ้าหากเด็กอนุญาต ฝ่ายชายสามารถนำทะเบียนสมรสมาแสดงต่อศาลอาญาจะทำให้ไม่ต้องถูกลงโทษในคดีกระทำชำเราได้ ส่วนข้อหาพรากผู้เยาว์ในกรณีที่ได้ความว่า ฝ่ายชายไม่มีภริยามาก่อน ศาลมักจะใช้ดุลพินิจในการรอการลงโทษ เป็นการช่วยให้ฝ่ายชายไม่ต้องรับโทษในการพาเด็กหญิงหนีตาม 


          ดังนั้นหากพ่อแม่ฝ่ายหญิงเห็นตั้งแต่แรกแล้วว่า ฝ่ายชายไม่ได้จริงใจในการจะรับผิดชอบเด็กหญิง แต่ทำไปเพื่อให้หลุดพ้นจากคดีอาญาไปก่อน แล้วค่อยหาทางเลิกกับเด็กในภายหลัง และตัวเด็กหญิงเองก็ยังอยู่ในวัยต้องศึกษาเล่าเรียน เพื่อหาความรู้ในการประกอบอาชีพของตัวเองในวันข้างหน้า ทั้งยังด้อยวุฒิภาวะในการที่มีครอบครัวในขณะนั้น แม้จะมีกฎหมายเปิดช่องให้ฝ่ายชายทำเช่นนั้นได้ก็ตาม พ่อแม่ก็สามารถที่จะคัดค้านแถลงต่อศาลที่ฝ่ายชายไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสที่ศาลเด็กได้ รวมทั้งแถลงต่อศาลในคดีอาญาว่าประสงค์จะให้ฝ่ายชายได้รับการลงโทษ เพื่อให้การคุ้มครองแก่เด็กหญิง ซึ่งยังไม่มีวุฒิภาวะ พอปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2879/2540 ที่มีความเห็นออกมาคุ้มครองเด็กหญิง 


          หากยังมีข้อสงสัยหรือต้องการความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ติดต่อไปที่ คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 2822690, 2825296

 


 

ขอบคุณข้อมูลจาก

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, วันอังคารที่ 9 และ 16 กุมภาพันธ์ 2542

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แนวทางปฏิบัติ ในคดีข่มขืน โพสต์เมื่อ 16 พฤษภาคม 2551 เวลา 16:09:46 93,839 อ่าน
TOP