x close

เบื้องลึกพิธีลับทุบเขาพนมรุ้ง! ท้าทาย อำนาจ หรือ อวิชา-ทำซ้ำ


         "หากมองในเชิงสัญลักษณ์ การเคลื่อนย้ายศิวลึงค์ ซึ่งถือเป็นตัวแทนของพระศิวะ อาจหมายถึงการต้องการเคลื่อนย้าย หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากที่เป็นอยู่ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการก็เป็นได้"


         ดร.สรเชต วรคามวิชัย นักวิชาการโบราณคดีแห่งบุรีรัมย์ สะท้อนปรากฏการณ์เชิง "สัญลักษณ์" หลังเหตุทำลายรูปเคารพ-ย้าย "ศิวลึงค์" ในปราสาทหินเขาพนมรุ้ง โดยเชื่อว่า มีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้เกิดการ "เปลี่ยนแปลง" และ "ลดทอนพลัง" ต่อสถาบัน ที่เป็นตัวแทนแห่งอำนาจ ขณะที่มีความเห็นต่างจากบล็อกเกอร์ ในบล็อกโอเคเนชั่น ผู้ใช้นามว่า "ศุภศรุต" ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีอีกรายหนึ่ง วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นฝีมือของผู้เสียประโยชน์ หรือคนภายใน เพราะเลือกกระทำเฉพาะโบราณวัตถุที่ถูกจำลองขึ้นเท่านั้น 


         ดร.สรเชต วรคามวิชัย กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ อดีตอาจารย์สอนวิชาโบราณคดี ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ วิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้ได้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า ปกติสัตว์ในเทพนิยาย โดยเฉพาะ "ครุฑ" และ "นาค" เป็นสัตว์พาหนะของ "พระนารายณ์" ซึ่งเป็นตัวแทน "อำนาจ" ของประเทศที่รับวัฒนธรรมของพราหมณ์-ฮินดูเข้ามา 



         "การทำลายสัตว์ที่เป็นพาหนะ และบริวารที่ปกปักรักษาสัญลักษณ์ของพระนารายณ์ หรือพระศิวะ อาจจะเป็นการทำเพื่อข่มขู่ หรือกดดันอำนาจที่เกี่ยวข้องก็เป็นได้" ดร.สรเชตชี้ถึงวัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งในการทำพิธีกรรมครั้งนี้


         สำหรับพิธีกรรมสำคัญที่สุดในวันนั้น คือ การเคลื่อนย้ายศิวลึงค์ ดร.สรเชตวิเคราะห์ว่า


         "หากมองในเชิงสัญลักษณ์ การเคลื่อนย้ายศิวลึงค์ ซึ่งถือเป็นตัวแทนของพระศิวะ อาจหมายถึงการต้องการเคลื่อนย้าย หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากที่เป็นอยู่ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการก็เป็นได้"


         ดร.สรเชตขยายความอีกว่า หากไม่มีรูปเคารพสักการะอื่นใด ศิวลึงค์ ย่อมหมายถึง "ตัวแทนเชิงอำนาจ" ขององค์พระศิวะ


         ส่วนในเชิงชีววิทยา ศิวลึงค์ก็ได้รับการยอมรับให้หมายถึงต้นกำเนิดแห่งชีวิต เพราะถ้าไม่มีความรู้สึกทางเพศก็ย่อมจะไม่มีสิ่งมีชีวิตขึ้นมา ทุกอย่างก็จะนิ่งสงบ ไม่มีการเคลื่อนไหว จึงทำให้หลายประเทศในโลกให้การเคารพสักการะ และบูชาศิวลึงค์กันอย่างกว้างขวาง


         ดร.สรเชตให้ข้อมูลอีกว่า ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยปรากฏว่า มีการทำลายรูปเคารพในปราสาทหินเขาพนมรุ้งมาก่อน ด้วยเหตุนี้เขาจึงเชื่อว่า การทุบทำลายรูปเคารพ และเคลื่อนย้ายศิวลึงค์ครั้งนี้ น่าจะเป็นการ "จงใจ" เพื่อทำพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน และคนที่ทำก็น่าจะมีความเชี่ยวชาญทางไสยศาสตร์เป็นอย่างดี โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็น "หมอเขมร"


         "การบุกรุกเข้าไปยังโบราณสถานในยามวิกาลย่อม ถือว่าเป็นการบุกรุก และเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกับยามที่รักษาการณ์ ซึ่งถ้าเป็นคนธรรมดาอย่างเราๆ คงไม่กล้าบุกเข้าไป ดังนั้น คนที่ทำคงมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญกว่าชีวิตของตนอย่างแน่นอน"


         กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์กล่าวย้ำว่า วัตถุทุกอย่าง ถ้ามีการทำพิธีสักการะย่อมมี "พลัง" อยู่ในตัวของมันเอง และยิ่งเป็นโบราณวัตถุที่ผ่านการเคารพสักการะมานานนับร้อยๆ พันๆ ปี ก็ยิ่งจะมีพลังมากขึ้นเป็นทวีคูณ


         ฉะนั้น การทำลายรูปเคารพและเคลื่อนย้ายศิวลึงค์ จึงน่าจะส่งผลต่อการ "ลดทอนพลัง" ของอำนาจที่เป็นสัญลักษณ์ของรูปเคารพ และศิวลึงค์ ให้อ่อนแรงลงไปจนไม่สามารถที่จะป้องกันการกดดัน หรือการคุกคามที่จะเกิดขึ้นได้ 


บล็อกเกอร์ "ศุภศรุต" ซึ่งนำเสนอเรื่องทางมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี สหวิทยาการ และมุม Gossip ใน oknation.net ได้เสนอมุมมองอีกด้านที่น่าสนใจ ในหัวเรื่อง "ปรากฏการณ์พนมรุ้ง" การผลิตซ้ำ "อวิชชา" ของสังคมไทย


         บทความของบล็อกเกอร์ "ศุภศรุต" ให้ข้อมูลว่า อายุของวัตถุที่ถูกทำลาย 7 ชิ้น มีอายุเพียง 25 ปี เพราะเป็นชิ้นส่วนจำลอง ส่วนนาคประดับราวสะพานอีก 4 ชิ้น ก็มีการซ่อมแซมแต่งเติมให้ดูสมบูรณ์ โดยใช้ปูนซีเมนต์ทำสีโป๊ะตกแต่งเข้าไปใหม่ หากนับอายุของปราสาทหินเขาพนมรุ้งจะมีอายุประมาณ 850 ปี ในช่วงต่อสมัยระหว่างศิลปะแบบปราสาทบาปวน กับศิลปะแบบปราสาทนครวัด ไม่ใช่อายุ 1,000 ปี ซึ่งจะอยู่ในสมัยศิลปะแบบปราสาทพนมบาแค็ง อย่างที่ปรากฏในข่าว


         ประเด็นสำคัญที่เขาตั้งข้อสงสัย คือ เหตุการณ์นี้ไม่น่าจะเกี่ยวพันกับเรื่องของไสยศาสตร์ แต่น่าจะอยู่ที่ว่าใครทำ และทำไมระบบการรักษาโบราณสถานของชาติจึงหย่อนยาน หรือเพราะเป็นการขัดแย้งกันภายใน


         เขายกตัวอย่างด้วยว่า บางทีคนในกรมศิลปากรในท้องถิ่น ทั้งลูกจ้างและข้าราชการ ทะเลาะและขัดเรื่องผลประโยชน์ของร้านค้ารอบปราสาทเขาพนมรุ้ง แล้วจึงเกิดการประท้วงด้วยการทุบทำลายเฉพาะรูปที่เป็นซีเมนต์ แต่ก็กลัว จึงมีการกราบไหว้ก่อนทุบ เพราะถ้าเป็นไสยศาสตร์ เขาคงไม่ใช้เครื่องบูชาๆ ง่ายๆ เพียงแค่บุหรี่ หรือดอกไม้ธูปเทียน


         "ที่ว่าเลือกทุบ เป็นเพราะดูเหมือนว่ามาเฟียร้านค้า ที่มีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของลูกจ้างกรมศิลปากรเป็นหุ้นส่วน ต้องการแสดงศักดา แต่ก็ไม่กล้าไปทุบรูปที่แท้จริงที่มีอยู่มากมาย แต่เลือกทุบเฉพาะรูปจำลอง คนที่ทุบนี้รู้เข้าใจทุบ เพราะถ้าทำลายของจริงแล้วถูกจับได้ ยังไงก็ไม่พ้นโทษที่รุนแรงกว่าการทุบของจำลองที่สามารถซ่อมแซมและทำใหม่ได้ แล้วค่อยเสนอข้อเรียกร้อง หรือความอัดอั้นตันใจต่อสาธารณะชนต่อสังคม" บล็อกเกอร์รายนี้ระบุ


         บล็อกเกอร์ "ศุภศรุต" ยังตั้งคำถามด้วยว่า รูปสลักที่ถูกทำลายเป็นสัตว์และทวารบาล ล้มรูปศิวลึงค์ในคืน "วันวิสาขบูชา" บอกนัยอะไรหรือไม่ เพราะการทำลายสัตว์ที่ปกป้อง ล้มรูปสัญลักษณ์อำนาจของไศวะ ที่ล้วนสูญสิ้นไปจากดินแดนแถบนี้แล้ว เป็นอวิชชาหรือเปล่า หากใช่มันก็เป็นเรื่องของคนอวิชชาในท้องถิ่น ที่ใช้การทุบทำลายรูปจำลองของปราสาท มาเป็นจุดเรียกร้องความสนใจ ในสิ่งที่ตนต้องการผลประโยชน์ในเรื่องส่วนตัวล้วนๆ


         "ศุภศรุต" ยังทิ้งปมไว้ในตอนท้ายของบทความว่า แม้แต่ปรากฏการณ์พนมรุ้ง 2551 อวิชชาของผู้คน ยังคงผลิตซ้ำ ยัดเยียดปัญหาไปที่ไสยศาสตร์ ไปที่กลุ่มคนที่มาขอบูชา ไปที่สิ่งที่มองไม่เห็น ให้เป็นจำเลยในทันทีทันใด กระพือโหม ให้ความไม่รู้เหล่านั้น ต่อยอดผสมกับข่าวความเก่าแก่กว่าพันปี ของศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ แหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่า โดยข้ามความจริง เพราะนำ "อวิชชา" โดยรู้ตัวหรือไม่รู้จริงมาปกปิดไว้


         "มันอาจเป็นเพียงการทุบของจำลองโดยตั้งใจเลือกของ "กลุ่มคน" ผู้เสียผลประโยชน์ ทั้งลูกจ้าง ข้าราชการ แม่ค้า พระ ที่อยู่รายล้อม เป็นปัญหารอบซากปราสาทที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตหรือไม่"



ข้อมูลจาก
 
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เบื้องลึกพิธีลับทุบเขาพนมรุ้ง! ท้าทาย อำนาจ หรือ อวิชา-ทำซ้ำ โพสต์เมื่อ 23 พฤษภาคม 2551 เวลา 09:46:31 7,719 อ่าน
TOP