x close

ในวันที่ ... ค่าโดยสารปรับราคาขึ้น!

รถเมล์


         ทุกๆ ครั้งที่มีการปรับอัตราค่าโดยสารรถประจำทาง หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาอย่างคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง มักให้เหตุผลตามมา 2 ข้อด้วยกัน

         ข้อแรก - เป็นเรื่องของค่าใช้จ่าย หรือต้นทุนค่าประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่วนมากมักหนีไม่พ้นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนข้อที่สอง คือการให้คำพูดหวานหู ทำนองว่าจะพยายามกำกับดูแลผู้ประกอบการปรับปรุงคุณภาพการบริการให้ดีขึ้น คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบรถโดยสารน่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นจริง ส่วนจะมากน้อยเพียงใดนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเรื่องนี้ยังต้องนำมาถกแถลงอย่างโปร่งใส และสังคมไทยต้องการทราบความจริงในเรื่องนี้

         ดังที่เมื่อวานนี้ทาง "เครือข่ายคัดค้านการขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะ" อ้างว่า ข้อมูลต้นทุนของผู้ประกอบการที่ทางเครือข่าย ได้มานั้น มีความแตกต่างอย่างมากจากที่คณะกรรมการขนส่งทางบกกลางมีอยู่ ซึ่งเข้าใจว่านั่นคงเป็นข้อมูลในการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อสั่งให้ความคุ้มครองฉุกเฉินในเรื่องนี้ ส่วนจะเป็นเช่นใดนั้นคงอยู่ที่ดุลยพินิจของตุลาการ 

         ส่วนคำพูดหวานหูเรื่องการปรับปรุงคุณภาพบริการนั้น หากพูดตามประสาชาวบ้าน เห็นจะต้องบอกว่า "อมพระมาพูด ก็ไม่เชื่อ" และหากให้สำนักโพลล์แห่งใดสำรวจคะแนนความนิยมที่มีต่อรถประจำทางสายต่างๆ ก็คงมีแต่ระดับ "แย่" กับ "แย่มาก" เท่านั้น ซึ่งนั่นย่อมสะท้อนให้เห็นว่าคนดูแลระดับนโยบายทำได้แค่เพียงดูแล "ราคา" มิใช่ "คุณภาพ"

         เพราะที่ผ่านมานั้น รถโดยสารประจำทาง ทั้งรถของ ขสมก.เอง และรถร่วมบริการ รวมไปจนถึงรถมินิบัส ต่างก่อเหตุหวาดเสียวบนท้องถนนมานักต่อนัก และสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นระยะๆ โดยที่ทางผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้แต่ออกมาแก้ปัญหาแบบ "วัวหายล้อมคอก" เท่านั้น

         ไม่มีใครสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนได้จริงๆ ว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นน้อยลงในอนาคตได้อย่างไร ไม่ว่าจะในเรื่องคุณภาพของผู้ขับขี่ การอบรม การให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการ รวมไปถึงการจัดตารางเวลาทำงานที่เหมาะสม

         นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางเองยังมองปัญหาในเรื่องการประกอบการรถโดยสารสาธารณะไม่ทะลุปรุโปร่งเท่าที่ควร เช่น เมื่อมีการขอขึ้นราคาจากผู้ประกอบการรถร่วมบริการ ทางคณะกรรมการมักจะอนุมัติให้โดยไม่มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เพียงพอ ซึ่งน่าจะเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้มีการปรับเพิ่มอัตราค่าบริการถึง 4 ครั้งในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผ่านมา

         เพราะโดยวิสัยของผู้ประกอบการนั้น หากขาดทุนจริงๆ คงไม่ออกมาวิ่งรถโดยสารอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคนิคการลดต้นทุนหลังชั่วโมงเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาสาย ตอนกลางวัน หรือช่วงเวลาค่ำ ตอนกลางคืน ด้วยการลดเส้นทางสัมปทานให้สั้นลงจากเดิม เป็นการวิ่งสั้นๆ ในพื้นที่ แทนที่จะข้ามเมืองมายังปลายทางที่กำหนดไว้ หรือการทิ้งช่วงเวลาการวิ่งรถให้มีความถี่ต่ำกว่าที่กำหนดบางเส้นทางนานเป็นชั่วโมง ทำให้ประชาชนตาดำๆ ต่างได้รับความเดือดร้อนจากวิธีการเอาเปรียบเช่นนี้อย่างมาก แต่น่าเสียดายว่าเรื่องทำนองนี้กลับไม่ค่อยเป็นข่าวไปถึงหูผู้บริหารเท่าใดนัก

         จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะมีเสียงเรียกร้องให้บุคคลระดับผู้บริหาร ทั้งสุรชัย ธารสิทธิพงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง หรือแม้กระทั่งผู้อำนวยการ ขสมก. ลองเปลี่ยนจากการนั่งรถยนต์ส่วนตัว แอบมาขึ้นรถประจำทางดูบ้างเพื่อจะได้รับรู้ว่าคำพูดหวานหูที่บอกแก่ประชาชนว่า "...พยายามปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น..." นั้นเป็นเช่นใด

         หากไม่สามารถทำได้เช่นนั้น ในการขึ้นอัตราค่าโดยสารรถประจำทางครั้งนี้ คณะกรรมการขนส่งทางบกกลางสมควรจัดให้มีการทำงานเชิงรุกมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ มิใช่ผู้ให้บริการรถร่วมบริการ ด้วยการตั้งหน่วยงานขึ้นมาตรวจสอบบริการของรถประจำทางเหล่านี้อย่างจริงจังเสียที …. อย่าให้เป็นการขึ้นค่าบริการ โดยที่ไม่มีเงื่อนไขใดตอบแทนกลับคืนมา เหมือนเมื่อครั้งก่อนๆ อีกต่อไปเลย

         อย่างไรก็ตาม แม้น้ำมันจะทะลุ40บาทต่อลิตร  ค่ารถเมล์จะปรับขึ้นอีก แต่เกิดเป็นคนไทยเราต้องไม่ท้อถอยค่ะ สู้ๆ ^-^




  เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ บนรถสาธารณะไหม?


ข้อมูลจาก

ภาพประกอบจาก online-station.net

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ในวันที่ ... ค่าโดยสารปรับราคาขึ้น! โพสต์เมื่อ 23 พฤษภาคม 2551 เวลา 17:08:45 5,801 อ่าน
TOP