ราชกิจจานุเบกษา ประกาศแก้ไขกฎหมาย ว่าด้วยการทำโทษบุตร ต้องไม่เป็นการทารุณกรรม หรือทำร้ายด้วยความรุนแรง ต่อร่างกายและจิตใจ มีผลบังคับใช้แล้ว

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
วันที่ 25 มีนาคม 2568 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2568 ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้
เพื่อกำหนดสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองในการทำโทษบุตรให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี
ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2568"
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความใน (2) ของมาตรา 1567 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"(2) ทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรม
โดยต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรม
หรือทำร้ายด้วยความรุนแรงต่อร่างกายหรือจิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ"
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ
โดยที่ปัจจุบันประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ที่กำหนดสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองว่ามีสิทธิทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนนั้น
มีการบังคับใช้มาเป็นระยะเวลานาน
อีกทั้งพบว่าการลงโทษนั้นหลายกรณีกลับกลายเป็นการกระทำในลักษณะทารุณกรรมหรือทำร้าย
อันส่งผลกระทบต่อร่างกายหรือจิตใจของบุตร เป็นการเฆี่ยนตีบุตร หรือทำโทษ
ด้วยวิธีการอื่นอันเป็นการด้อยค่า
ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของบุตรและไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการกระทำผิด
หรือพฤติกรรมของบุตรที่จำเป็นต้องว่ากล่าวสั่งสอน
ประกอบกับการปรับแก้ไขสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครอง ในการทำโทษบุตรนี้
เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี
ข้อเสนอแนะทั่วไป ฉบับที่ 8 (ค.ศ. 2006) (General Comment No. 8 (2006)
The Right of the Child of Protection from Corporal Punishment and other
Cruel or Degrading Forms of Punishment)
ที่ออกตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
และประเทศไทยได้ตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจ ที่จะปฏิบัติตามภายใต้กลไก
Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 (พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2563)
อีกด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
แสดงความคิดเห็นเรื่องประกาศแก้ไขกฎหมาย ทำโทษบุตร ย้ำชัด ห้ามทารุณกรรม-ทำร้ายรุนแรง บังคับใช้แล้ว