x close

อึ้ง! วาฬตาย เพราะกินถุงพลาสติก นำกระดูกจัดระลึก

วาฬหัวทุยแคระ

วาฬหัวทุยแคระ



เต่าทะเล ก็มี เซ่นถุงพลาสติก นำกระดูก วาฬ ตาย จัดระลึก!

ภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ


          นำกระดูก "วาฬหัวทุยแคระ" เหยื่อขยะพลาสติก จัดแสดงให้ความรู้ ถึงประวัติความเป็นมา สาเหตุการตาย ให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยของขยะที่ถูกทิ้งลงทะเล พร้อมทั้งตั้งชื่อ "ยะหยา" เป็นที่ระลึก ชี้เป็นบทเรียนแม้เป็นสัตว์อยู่ท้องทะเลลึก แต่ได้รับผลกระทบจากน้ำมือมนุษย์ ขณะที่สัตวแพทย์ชี้ นอกจากวาฬยังมี "เต่าทะเล" ตกเป็นเหยื่อ ใน 1 ปีมาเกยตื้นตาย 20-30 ตัว ครึ่งหนึ่งกินพลาสติก เพราะเข้าใจว่าเป็นแมงกะพรุน ก่อนตายจะเจ็บปวดทรมานมาก กระเพาะไม่ย่อย อ้วก หมดแรงกระทั่งตาย

          จากเหตุการณ์สลด "วาฬหัวทุยแคระ" เพศเมีย ลำตัวยาวกว่า 2 เมตร หนักเกือบร้อยกิโลฯ ว่ายมาเกยตื้นที่ชายหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต ตรวจสอบเบื้องต้นมีบาดแผลเต็มตัว อยู่ในสภาพใกล้ตาย สัตวแพทย์ฉีดยากันช็อกระหว่างเคลื่อนย้ายไปรักษา แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ ตายระหว่างทาง เมื่อผ่าท้องและกระเพาะถึงกับผงะ มีขยะพลาสติกเต็มท้อง คาดเป็นสาเหตุทำให้ไม่ย่อยและขับถ่ายระบายออกมาไม่ได้ ทางนักวิชาการด้านทรัพยากรทางทะเลวอนนักท่องเที่ยวอย่าทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล หวั่นวาฬและสัตว์น้ำอื่นกินตายอีก ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

          ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. นางนิศากร โฆษิตรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลพยายามรณรงค์ให้ประชาชนใส่ใจ และดูแลทะเลโดยไม่ทิ้งขยะลงทะเล นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมเก็บขยะในทะเลอยู่เสมอ แต่ก็ไม่เพียงพอ เพราะท้องทะเลกว้างใหญ่มาก จากกรณีของวาฬหัวทุยแคระน่าจะบ่งบอกได้ว่าปัจจุบันขยะไม่ได้มีอยู่แค่ชาย ฝั่งเท่านั้น แต่ลุกลามออกไปไกลในท้องทะเลลึก เพราะปกติวาฬจะไม่ว่ายเข้ามาใกล้ฝั่ง อยู่ในท้องทะเลที่ไกลออกไป

          อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวต่อว่ากรณีนี้จึงน่าเป็นอุทาหรณ์ให้ทุกฝ่ายหันมาช่วยกันรณรงค์ดูแลท้องทะเลมากขึ้น เพราะขณะนี้ไม่เพียงแต่สิ่งที่เกิดจากพฤติกรรมมนุษย์เท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ก็ทำให้สภาพท้องทะเลเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของสัตว์ทะเลด้วย ดังนั้นสิ่งที่ต้องช่วยกันคือพยายามดูแลรักษาท้องทะเลอย่างดีที่สุด ไม่ทำลายด้วยการทิ้งขยะลงไป แม้จะเป็นชิ้นเล็กๆ ก็ส่งผลกระทบได้เช่นกัน นอกจากนี้ ในวันที่ 8 มิ.ย. เป็นวันทะเลโลก หรือ World Ocean day การตายของวาฬหัวทุยแคระน่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ตระหนัก และช่วยกันดูแลทรัพยากรทางทะเลให้มากขึ้น

          ด้าน น.สพ.สนธยา มานะวัฒนา สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ชันสูตรซากวาฬที่ตายเรียบร้อยแล้ว พบว่าสาเหตุน่าจะมาจากภาวะอุดตันของกระเพาะอาหาร ที่มีเศษขยะพลาสติกเข้าไปอุดตันจำนวนมาก ทำให้กระเพาะอักเสบ เป็นแผลหลุม และปื้นเลือดออกกระจายทั่วกระเพาะ นอกจากนี้ ยังพบภาวะท้องผูกบริเวณลำไส้เล็กส่วนท้าย บ่งชี้ถึงสภาวะขาดสารน้ำ คาดว่าเกิดจากการไม่ได้กินอาหารมาระยะเวลาหนึ่ง รวมทั้งพบภาวะติดเชื้อเป็นหนองในมดลูก ม้ามมีลักษณะหดตัวเล็กน้อย บ่งชี้ถึงการเสียเลือด เกิดจากแผลจำนวนมากในร่างกาย โดยภาวะทั้งหมดทำให้ร่างกายอ่อนแอ ขาดสารอาหาร และช็อกจากความ เจ็บปวด

          น.สพ. สนธยากล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้เคยพบสัตว์หลายชนิดที่ต้องตายเพราะกินถุงพลาสติกเข้าไป โดยเฉพาะพวกเต่าทะเล พบมาก ปีหนึ่งๆ จะมีเต่าเกยตื้นตาย 20-30 ตัว ครึ่งหนึ่งตายหรือพิการ เพราะติดเศษอวนของชาวประมง แต่อีกครึ่งหนึ่งตายเพราะกินถุงพลาสติกเข้าไป เนื่องจากมันเข้าใจว่าเป็นพวกแมง กะพรุน ถ้าหากสัตวแพทย์พบเร็วก็อาจจะช่วยชีวิตไว้ได้ แต่หากนานโอกาสมีชีวิตเหลือน้อย ที่พบส่วนใหญ่จะอยู่ในขั้นโคม่าแล้ว เนื่องจากสัตว์จะไม่เข้ามาใกล้ชายฝั่ง หรือมนุษย์ จนกระทั่งไม่ไหวแล้วเท่านั้นจึงถูกคลื่นซัดเข้ามา หากสัตว์ทะเลหรือสัตว์ต่างๆ กินพลาสติกเข้าไปจะเจ็บปวดและทรมานมาก เพราะกระเพาะไม่สามารถย่อยได้ จะทำให้ปวดท้องรุนแรง กินอาหารอื่นไม่ได้ อ้วกออกมาหมด ทำให้หมดแรงและตายในที่สุด

          ส่วน น.ส.กาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน (ภูเก็ต) กล่าวว่า หลังจากชันสูตรซากวาฬแล้ว ทางสถาบันจะนำซากกระดูกของวาฬตัวนี้มาจัดเป็นมุมให้ความรู้ อยู่ในบริเวณสถาบัน พร้อมทั้งประวัติ ความเป็นมา และสาเหตุของการตายทั้งหมด เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนถึงพิษภัยของขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเล รวมทั้งสร้างความตระหนักให้ประชาชน เพื่อช่วยกันดูแลท้องทะเล ไม่ทิ้งขยะลงไปสร้างความสกปรกให้ท้องทะเล และยังทำให้สัตว์ทะเลหายาก และสัตว์ทะเลอื่นๆ มีโอกาสตายจากการกินขยะเหล่านี้ด้วย

          นักวิชาการ กลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังตั้งชื่อให้วาฬหัวทุยแคระเพศเมียตัวนี้ว่า ยะหยา หมายถึงชุดท้องถิ่นของสตรีชาวภูเก็ต เพื่อเป็นที่ระลึกว่า มันได้มาตายที่ชายหาดป่าตอง ภูเก็ต และยังเป็นบทเรียนให้แก่มนุษย์เห็นว่า สัตว์ทะเลแม้อยู่ในท้องทะเลลึกก็อาจจะได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากผลงานของ มนุษย์ได้เช่นกัน อีกทั้งมันยังช่วยสร้างกระแสให้คนตื่นตัวในการให้ความสำคัญรักษาธรรมชาติ มากขึ้น หวังว่าเมื่อเอ่ยชื่อยะหยาก็จะทำให้ทุกคนตระหนักไม่ทิ้งขยะลงในท้องทะเล หรือช่วยกันเก็บขยะขึ้นจากทะเลมากขึ้นอีกด้วย



ข้อมูลและภาพประกอบจากจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อึ้ง! วาฬตาย เพราะกินถุงพลาสติก นำกระดูกจัดระลึก อัปเดตล่าสุด 6 มิถุนายน 2551 เวลา 14:16:40 6,068 อ่าน
TOP