x close

ปิดตำนาน 43 ปี ตลาดสามย่าน แม่ค้าสุดอาลัย

ตลาดสามย่าน



          ปิดตำนาน 43 ปี ตลาดสามย่าน 9 มิ.ย.นี้ พ่อค้าแม่ค้ากว่า 200 ชีวิตสุดอาลัย หดหู่ ไม่มีทางเลือก จำใจย้ายไปอยู่ที่ใหม่ หวั่นรายได้ไม่ดีเท่าเดิม

          หลังจากส่วนบริหารการตลาด สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสร้างตลามสามย่านแห่งใหม่ขึ้นบริเวณซอยจุฬา 32-34 มีกำหนดแล้ว เสร็จให้พ่อค้าแม่ค้าจากตลาดสามย่านเดิมย้ายไปค้าขายยังที่ใหม่ ในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ บรรยากาศภายในตลาดยังคงมีผู้คนเลือกซื้อสินค้ากันจำนวนมาก ทว่าจิตใจของพ่อค้าแม่ขายต่างเต็มไปด้วยความสลดหดหู่ เนื่องจากใกล้ถึงวันจะต้องย้ายจากแหล่งทำกินที่ผูกพันมานานเกือบครึ่งชีวิต

          "อาคม อัจชราวงศ์" เจ้าของร้านสเต๊กอ้วนผอม วัย 45 ปี เป็นหนึ่งในนั้น อาคมเป็นคน จ.นครราชสีมา ดั้นด้นเข้ามาหางานทำใน กทม.เมื่อปี 2525 โดยเป็นลูกจ้างร้านข้าวต้มในตลาดสามย่านนี้เอง ได้เงินเดือน 1,000 บาท ทำอยู่นาน 5 ปี มีการปรับปรุงตลาดใหม่ ทั้งโครงสร้างและรูปแบบ พ่อค้าแม่ค้าบางคนไม่ขายต่อ บ้างก็เลิกกิจการไปเหมือนกับเถ้าแก่ร้านข้าวต้มที่ทำงานอยู่ อาคมจึงเปิดร้านข้าวต้มต่อ


ตลาดสามย่าน



          ยุคนั้นตลาดสามย่านชั้นล่างจะเป็นตลาดสดและร้านอาหารรวมกัน ส่วนชั้น 2 เป็นที่พักอาศัย กระทั่งปี 2530 มีการปรับปรุงตลาดใหม่ จึงให้ชั้นล่างเป็นตลาดสด แล้วย้ายร้านอาหารขึ้นไปอยู่บนชั้น 2 แทนที่อยู่อาศัยมาจนถึงปัจจุบัน

          เมื่ออาคมทำร้านข้าวต้มได้ระยะหนึ่งจึงเปลี่ยนมาเป็นร้าน สเต๊กอ้วนผอมจนถึงทุกวันนี้ ว่ากันว่าสเต๊กร้านนี้เป็นที่รู้จักกันดี จนอาจเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของตลาดสามย่าน จากวันแรกที่เข้ามาเป็นลูกจ้างร้านข้าวต้ม ถึงวันนี้ ที่อาคมเป็นเจ้าของร้านสเต๊กชื่อดังก็ปาเข้าไป 26 ปีแล้ว ชายหนุ่มจึงมีความผูกพันกับตลาดสามย่านจนยากจะทำใจได้ เมื่อรู้ว่าใกล้ถึงวันที่ต้องย้ายไปทำกินในที่แห่งใหม่ และที่นี่ก็จะเหลือเพียงแค่ความทรงจำเท่านั้น

         "ผมบอกได้เลยว่าตลาดสามย่านเป็นที่รู้จักของคนทุกวงการ บางคนให้สมญานามว่า ตลาดสดไฮโซ ถ้าคุณเข้ามาซื้อของคุณจะได้ของที่ดีที่สุดกลับไป ถามลูกค้าที่มาซื้อของที่นี่ได้ทุกคน พ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดไม่ว่าจะค้าขายอะไร ได้กำไรดีหมด" อาคมกล่าว


ตลาดสามย่าน



          ปฐมบทแห่งความเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 เมื่อสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สร้างตลาดสามย่านใหม่ขึ้น แล้วให้พ่อค้าแม่ค้าย้ายออกไปจากตลาดเดิม อาคม บอกว่า ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้มีการฟ้องร้องและเจรจากันมาหลายครั้ง เพราะพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ไม่ยอมอกจากที่ทำกินเดิม นอกจากความผูกพันแล้ว ยังมีเรื่องรายได้ที่เกรงว่าจะได้ไม่เท่ากับปัจจุบัน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถดึงดันได้อีกต่อไป

          อาคมบอกด้วยว่า เมื่อรู้ว่าจะต้องย้ายไปอยู่ที่ตลาดใหม่แน่นอนแล้ว เขาเครียดจนทำอะไรไม่ถูก ต้องพึ่งยานอนหลับหลายสัปดาห์ เพราะการย้ายร้านต้องเสียค่าใช้จ่าย ประกอบกับเมื่อย้ายไปแล้วก็ยังขายของไม่ได้ เพราะร้านยังไม่เสร็จดี อีกทั้งกฎระเบียบต่างๆ ก็มีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าสิ่งเดียวที่ทำได้ ณ วันนี้คือ การถ่ายรูปร้านสเต๊กอ้วนผอมไว้ทุกซอกทุกมุมเก็บไว้เป็นระลึก ซึ่งอาคมบอกว่าที่นี่คือชีวิตทั้งชีวิตของเขา

          ขณะที่ "พันธ์ ชิมสำโรง" พ่อค้าผักสดในตลาดสามย่าม วัย 52 ปี มีความผูกพันกับตลาดแห่งนี้มาอย่างยาวนานกว่าอาคมมากนัก พันธ์เข้ามาทำงานใน กทม.ตั้งแต่ปี 2515 ด้วยวัยประมาณ 14 ปี ก่อนจะหันมาทำร้านขายผักสดเล็กๆ ในตลาดสามย่านเลี้ยงตัวและครอบครัว จากวันนั้นถึงวันนี้นานกว่า 36 ปีแล้ว ที่ทำมาหากินอยู่ในตลาดสดแห่งนี้


ตลาดสามย่าน


          ด้วยระยะเวลาอันยาวนาน ทำให้พันธ์ผูกพันและเห็นความเปลี่ยนแปลงของผู้คน สิ่งแวดล้อม และความเป็นไปของตลาดสามย่านดี พ่อค้าแม่ขายหลายคนรู้จักมักคุ้นกันเหมือนญาติสนิท เมื่อแก่ตัวลงค้าขายไม่ได้ก็ให้ลูกเต้าเข้ามารับช่วงต่อ ดังนั้นจึงรู้สึกหดหู่ใจที่จะต้องย้ายไปอยู่ที่ใหม่

          "ผมพูดได้เลยว่าชุมชนนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ พ่อค้าแม่ค้าที่นี่คุ้นเคยเห็นหน้ากันอยู่ พ่อค้าหนุ่มสาวก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ลูกหลานพ่อค้าแม่ค้าที่เคยทำอยู่ก่อน ตอนนี้ทำไม่ไหวก็ให้ลูกมาทำมาขายแทน ลองนึกดูแล้วกันทุกคนมีความผูกพันกันยังไง อยู่ดีๆ จะต้องมาย้ายไป และเห็นภาพการรื้อทุบ มันอดสูใจอย่างไรบอกไม่ถูก" พันธ์กล่าว

          แม้จะเหลือเวลาอีกไม่กี่วันตลาดสามย่านแห่งนี้จะกลายเป็นอดีต ทว่าบรรยากาศการจับจ่ายซื้อสินค้ายังเต็มไปด้วยความคึกคัก มีชีวิตชีวา ประชาชน นิสิต นักศึกษา ต่างเดินจับจ่ายเลือกซื้อสินค้ากันขวักไขว่ แตกต่างกับความรู้สึกของบรรดาพ่อค้าแม่ขายที่ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์ถึงการ ย้ายไปอยู่ตลาดใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ ทุกคนรู้สึกใจหายที่ต้องเปลี่ยนที่ทำกิน นอกจากความไม่คุ้นเคยแล้ว ยังวิตกถึงเรื่องรายได้ด้วย

          นอกจากนี้ ประเด็นที่มีการพูดถึงมากที่สุดไม่แพ้เรื่องรายได้ก็คือ เรื่องค่าเช่าแผงที่สูงขึ้น โดยจ่ายล่วงหน้าราว 1.5 แสนบาท ค่าเช่ารายเดือนอีกแผงละ 3,800 บาท ไม่รวมค่าน้ำ ค่าไฟ ขณะเดียวกันยังมีข้อบังคับว่าด้วยเรื่องของแผงขายของต้องเป็นสเตนเลสเท่านั้น

          การตกแต่งร้านทางโครงการจะดำเนินการให้ โดยมีช่างไว้บริการ พ่อค้าแม่ค้าไม่สามารถนำช่างจากที่อื่นเข้ามาต่อเติมได้ เนื่องจากจะผิดแบบและจะไม่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน แม้ค่าแรงจะถูกกว่าก็ตาม ที่สำคัญคือ พ่อค้าแม่ค้ารายเก่าบางรายไม่สามารถเข้าไปจับจองแผงเช่าได้ โดยมีพ่อค้าแม่ค้ารายใหม่เข้ามาจับจองแทน มิหนำซ้ำบางรายขายของอยู่ที่ตลาดเก่าได้เช่าพื้นที่ 3-4 ล็อก แต่พอมาอยู่ที่ใหม่ได้เพียง 1 หรือ 2 ล็อกเท่านั้น

          "ภัชราพร กาฬสินธุ์" นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร บอกว่าแม้จะรู้สึกผูกพันกับตลาดสามย่านในฐานะลูกค้า โดยเธอและเพื่อนๆ มักจะมารับประทานอาหารที่นี่เป็นประจำ แต่ก็รู้สึกเฉยๆ กับข่าวการย้ายตลาดไปอยู่ที่ใหม่ คิดว่าที่ใหม่น่าจะดีกว่าที่เก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความสะอาด ความสวยงาม สบายตา

          "เวลานั่งรถผ่านตลาดสามย่านใหม่ เห็นข้างนอกก็น่าจะดีนะ เท่าที่รู้ร้านอาหารที่ตลาดเก่าจะย้ายไปทั้งหมด เพราะฉะนั้นรสชาติอาหารก็ถูกปากเหมือนเดิม แถมที่ใหม่กว่า"
ภัชราพรกล่าว

          ทั้งนี้ ตลาดสามย่านตั้งอยู่ในที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณจุฬาซอย 15 ตรงข้ามโรงภาพยนตร์สามย่านรามา (เดิม) ช่วงต่อหัวมุมถนนพระราม 4 กับ ถนนพญาไท มีพื้นที่ 2.92 ไร่ เป็นอาคารก่อสร้างมาพร้อมกับการทำสัญญาบูรณะปรับปรุง เขตอาคารพาณิชย์ ซึ่งบริษัท วังใหม่ จำกัด เป็นผู้ดำเนินงานการก่อสร้าง เริ่มเปิดกิจการเพื่อเป็นตลาดเอกชน ใช้ชื่อว่า "ตลาดสามย่าน" มาตั้งแต่ปี 2508

          ต่อมาได้มอบให้ฝ่ายทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ บริหารจัดการ โดยมีวัตถุประสงค์พัฒนาให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า และสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่ชุมชน ดังนั้นฝ่ายทรัพย์สินฯ จึงกำหนดแผนงานปรับปรุงอาคารตลาดสามย่าน โดยพัฒนาให้เป็นตลาดที่คงการบริการแก่ชุมชนในระดับเดิม แต่มีระบบสาธารณูปโภคที่ดี มาตรการด้านความสะอาดเป็นสำคัญ การจัดแผงต้องโปร่ง ไม่แออัด เช่นที่เป็นอยู่เดิม เพื่อพัฒนาให้เป็นตลาดตัวอย่างสมกับที่เป็นตลาดที่อยู่ข้างเคียงเขตการศึกษา เริ่มดำเนินการด้วยการศึกษาและวิจัยของคณะอาจารย์

          เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงเริ่มออกแบบปรับปรุง โดยคงสภาพโครงสร้างเดิม แต่ปรับปรุงด้านสถาปัตยกรรม การจัดแผงภายใน และเน้นหนักเรื่องระบบสาธารณูปโภค การปรับปรุงเริ่มดำเนินการเมื่อเดือนเมษายน 2530 แล้วเสร็จสมบูรณ์เดือนธันวาคมปีเดียวกัน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ชั้นล่างมีพื้นที่ใช้สอย 3,600 ตารางเมตร เป็นแผงจำหน่ายสินค้าประเภทของสด 238 แผง มีทางเดินสัญจรหน้าแผงกว้าง 2.50-4 เมตร เพื่อแก้ปัญหาความแออัดเช่นสภาพตลาดสดทั่วไป มีเนื้อหมู เนื้อวัว 38 แผง อาหารทะเลสด 42 แผง ไก่สด 22 แผง ผัก ผลไม้ ดอกไม้ 75 แผง เบ็ดเตล็ด 49 แผง ร้านของชำ 12 แผง

          ส่วนชั้น 2 มีพื้นที่ใช้สอย 2,500 ตารางเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่จัดเป็นแผงจำหน่ายอาหาร 56 แผง ซึ่งอาหารที่ขึ้นชื่อและรู้จักจากคนทั่วไปคือสเต๊กสามย่าน ที่ตั้งโครงการตลาดสามย่านแห่งใหม่จะอยู่บริเวณซอยจุฬา 32-34 มีพื้นที่ 4 ไร่ แบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นแผงค้า 98 แผง ชั้นบนมีร้านอาหาร 22 ร้าน และมีชั้นลอยเป็นสำนักงานและห้องประชุม



ข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปิดตำนาน 43 ปี ตลาดสามย่าน แม่ค้าสุดอาลัย อัปเดตล่าสุด 6 มิถุนายน 2551 เวลา 15:18:38 24,592 อ่าน
TOP