x close

อาการน็อคน้ำ หรือ โรคน้ำหนีบ ที่เกือบเอาชีวิต อิงค์-อชิตะ

อิงค์ อชิตะ


เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก และอินเทอร์เน็ต

          "อิงค์" อชิตะ หวิดดับกลางทะเล สอนดำน้ำน็อค ... อิงค์-อชิตะ น็อกน้ำทะเล หวิดม่องเท่ง … อิงค์-อชิตะ ดีขึ้นแล้ว หลังปากเบี้ยว-ลำตัวซีกซ้ายชา ... ทำเอาแฟนเพลงตกอ๊กตกใจกันเป็นแถว หลังจากนักร้องมาดเซอร์ "อิงค์-อชิตะ ปราโมช ณ อยุธยา" เกิดอาการน็อคน้ำทะเล จากการที่ลงไปดำน้ำลึก 21 เมตร จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด ล่าสุดแพทย์ออกมาระบุว่าอาการของ "อิงค์-อชิตะ" ดีขึ้นมากแล้ว

          นั่นแน่! เชื่อว่าหลังจากที่ได้รับฟังหรืออ่านข่าว หลายคนคงเกิดอาการงงพร้อมๆ กับอาการอยากรู้ว่า "อาการน็อคน้ำ" มันคืออะไร และเกิดได้อย่างไร เอาเป็นว่าเราตามเข้าไปทำความรู้จักกับ "อาการน็อคน้ำ" กันดีกว่า...

          "อาการน็อคน้ำ" หรือรู้จักกันดีในชื่อ "โรคน้ำหนีบ" (Caisson Disease) "โรคลดความกด" (Decompression Sickness หรือ Bends) เป็นโรคที่เกิดจากการเกิดฟองก๊าซในเลือดหรือในเนื้อเยื่อ เมื่อมีการลดความกดดันไม่เพียงพอ หรือไม่ลดความกดดันเลยหลังการดำน้ำลึกมากกว่า 30 ฟุตน้ำทะเล และดำเป็นเวลานานหลายชั่วโมง จนเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายได้รับก๊าซไนโตรเจนภายใต้ความกดดันจนเกิดภาวะอิ่มตัว ทำให้เกิดการรวมตัวกันเป็นฟองอากาศกระจายไปทั่วร่างกาย เมื่อก๊าซไนโตรเจนมีปริมาณมากกว่าก๊าซชนิดอื่นในอากาศผสม จึงละลายในเลือดและเนื้อเยื่อร่างกายในปริมาณมากเกิน 

          แต่ถ้ามีการลดความกดดัน (การดำขึ้นสู่ผิวน้ำ) เนื้อเยื่อจะคายก๊าซไนโตรเจนที่เกินออกมา ให้ได้สมดุลกับความกดดันที่ลดลงภายนอกโดยวิธีหายใจออกมา และถ้ามีปริมาณเล็กน้อยร่างกายสามารถกำจัดได้หมด แต่ถ้ามีการลอยตัวขึ้นเร็ว โดยไม่ได้หยุดลดความกดในน้ำเป็นระยะตามตารางลดความกด เพื่อให้ร่างกายมีเวลาขับไนโตรเจนออกมา หรือมีการขจัดก๊าซช้าผิดปกติระหว่างการลดความกด จะทำให้ไม่สามารถขับไนโตรเจนที่ละลายอยู่ออกทางปอดได้ทัน จึงเหลือปริมาณของก๊าซไนโตรเจนอยู่ในภาวะเกินความอิ่มตัว ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกายทั้งส่วนที่เป็นของแข็งหรือของเหลว เช่น เกิดฟองอากาศที่กล้ามเนื้อข้อต่อจะมีอาการปวด ถ้าเข้าสู่กระแสเลือดไปอุดเส้นเลือดที่ไขสันหลังหรือสมอง จะทำให้สลบหรือเป็นอัมพาต

ดำน้ำ


อาการน็อคน้ำแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่...

          1. อาการมักเริ่มภายใน 1 ชั่วโมงหลังขึ้นจากน้ำ โดยรู้สึกเพลียกว่าปกติหลังจากดำน้ำ มีผื่นคันเป็นผื่นนูนตรงจุดกลางสีม่วงคล้ำปวดแสบปวดร้อน มีอาการปวดตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ เนื่องจากมีฟองอากาศแทรกตามเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อ ทำให้เนื้อเยื่อเกิดความบอบช้ำและฉีกขาด ลักษณะปวดลึกๆ และรบกวน ไม่ปวดมาก มีความรู้สึกวูบวาบ หรือมีอาการชาตามผิวหนัง ขา เท้า มีอาการมึนงง อาการที่พบมากที่สุด คือ อาการปวดข้อไหล่ 

          2. อาการรุนแรงกว่าชนิดที่ 1 ผู้ป่วยที่มักมาพบแพทย์ในระยะนี้ มักมีการเกิดฟองอากาศจำนวนมากในอวัยวะสำคัญ ดังนี้ 

           หูชั้นใน...มีอาการหูหนวก มีเสียงดังหึ่งๆ ภายในหู เวียนศีรษะ ตากระตุก 

           กล้ามเนื้อและข้อต่อ...มีอาการปวดแนวสันหลังหรือสะโพก ปวดร้าวกลางหลังทั้งสองข้างลำตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ระยะการเกิดอาการ 50 % เกิดอาการครึ่งชั่วโมงหลังขึ้นจากน้ำ 85 % เกิดอาการภายใน 60 นาที 95 % เกิดอาการภายใน 3 ชั่วโมง 1 % เกิดหลัง 6 ชั่วโมงหลังขึ้นจากน้ำ 

           ไขสันหลังและเส้นเลือดรอบๆ...ฟองไนโตรเจนจะอุดกั้นเส้นเลือดดำประมาณ 80% อาการคือ เสียการรับรู้ อัมพาตครึ่งตัว ปัสสาวะไม่ออก 

           ปอด...พบน้อยและเกิดเนื่องจากปริมาณฟองอากาศมากเกินไปจนปอดกรองไม่ไหว หรือฟองอากาศอุดเส้นเลือดเล็กๆ ที่ถุงลมปอด ทำให้ขัดขวาง การแลกเปลี่ยนก๊าซ จึงเกิดอาการนี้ขึ้น และมักเสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาล อาการคือเจ็บหน้าอก ไอ เหนื่อย หายใจไม่ออก มีเสมหะปนเลือดและช็อก 

           สมอง...พบได้น้อยและเกิดจากปริมาณฟองอากาศมาก แล้วหลุดจากรอยรั่วหรือรอยฉีกขาดของถุงลมและปอดเข้าสู่เนื้อเยื่อสมอง อาการที่พบคือ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ปวดศีรษะข้างเดียวคล้ายไมเกรนหมดสติ อัมพาตครึ่งซีก
 

          ทั้งนี้ ปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดอาการนี้ง่ายขึ้น ได้แก่ เพศหญิง ความอ้วน อายุมาก ทำงานหนักเกินไป การดื่มเหล้า การอดนอน การบาดเจ็บในส่วนต่างๆ ของร่างกาย การขึ้นที่สูงหลังการดำน้ำลึก และการดำน้ำซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้ง

การป้องกันและการรักษา 

          ควรเริ่มตั้งแต่การป้องกัน ก่อนการดำน้ำร่างกายจะต้องสมบูรณ์แข็งแรง ปฏิบัติตามกฎและตารางการดำน้ำอย่างเคร่งคัด เมื่อพบผู้ป่วย DCI ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น แล้วให้หายใจด้วยออกซิเจน 100% และรีบนำส่ง โรงพยาบาลที่มีห้องปรับบรรยากาศความกดดันสูงโดยด่วนที่สุด

          อย่างไรก็ตาม การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การปฏิบัติตามกฎของการดำน้ำอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสริมต่างๆ



ข้อมูลจาก
 
http://www.navy.mi.th/
http://kanchanapisek.or.th/

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาการน็อคน้ำ หรือ โรคน้ำหนีบ ที่เกือบเอาชีวิต อิงค์-อชิตะ อัปเดตล่าสุด 10 มิถุนายน 2551 เวลา 06:42:22 33,389 อ่าน
TOP