x close

แต๋วกรี๊ด หนุนใช้ นางสาว


         หลังจากที่ไทยมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. คำนำหน้านามหญิง พ.ศ. 2551 ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้หญิงแห่ไปขอเปลี่ยนคำนำหน้านามกันอย่างคึกคัก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. นางจุรี วิจิตรวาทการ ประธานศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ให้สัมภาษณ์ ถึงกระแสตอบรับหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.คำนำหน้านามหญิงว่าได้รับการตอบรับทั้งผู้ที่ดีใจ เฉยๆ และไม่เห็นด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกกับการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ ย่อมมีความเห็นต่าง แต่คนที่พึงพอใจก็มีมาก เพราะเป็นมิติใหม่ที่แสดงความเสมอภาคหญิงชายจากในอดีตผู้หญิงมักจะถูกบังคับ อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการคำนึงถึงการให้อิสระในการใช้คำนำหน้าที่ไม่สัมพันธ์ กับสถานภาพของการสมรส แสดงความเสมอภาคหญิงชาย แต่บางส่วนมีการเปลี่ยนโดยผิดวัตถุประสงค์เพื่อหวังมาเป็นสาวใหม่ หรือบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าเป็นการสร้างความแตกแยกในครอบครัว ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจ

         ขณะเดียวกัน การทำนิติกรรมก็ยังคงยึดกฎหมายเดิมที่ปฏิบัติกันมา ไม่ได้สร้างให้เกิดปัญหาและข้อมูลต่างๆ ก็ถูกบันทึกอยู่ในคอมพิวเตอร์ออนไลน์ 
ต่อข้อถามกรณีของเพศที่สามที่ออกมาเรียกร้องขอเปลี่ยนคำนำหน้าบ้าง นางจุรีกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเป็นกลุ่มที่มีความทุกข์มากกับความไม่เป็นธรรมที่ถูกกีดกันทางสังคม ทั้งด้านอาชีพ การขอสินเชื่อ การดำเนินการในบางเรื่อง ตนก็ได้ผลักดันเรื่องนี้มาแต่ไม่สำเร็จ จึงอยากฝากให้ผู้ที่อยู่ในสภาผู้แทนราษฎรให้ความสนใจสานต่อ ซึ่งขณะนี้สังคมมีความเข้าใจเพศที่สามมากขึ้น รวมทั้งสื่อก็ให้โอกาสในการแสดงความคิดเห็น เพราะคนที่แปลงเพศเป็นหญิงแล้ว ต้องผ่านระบบการตัดสินใจทั้งทางจิตใจและทางแพทย์ที่ดีแล้ว เรื่องนี้ต้องสร้างความเข้าใจไปเรื่อยๆ และต้องเปิดใจกว้าง เพราะเวลาทำอะไรที่เป็นทางการมักจะมีเสียงต่อต้าน

         นางจุรียังกล่าวถึงกรณีการจัดระเบียบนักศึกษาชายที่มีพฤติกรรมเป็นหญิงในสถาบันอุดมศึกษาว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัยจะดำเนินการหรือไม่ หากมีไม่มากก็อาจไม่จำเป็นต้องจัดระเบียบ แต่ไม่ควรทำเป็นเรื่องใหญ่ เพราะอาจจะทำให้ดูเป็นเรื่องประหลาด แต่อยากให้เปิดใจว่ามนุษย์มีหลายเพศ แต่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน ส่วนข้อเสนอที่จะให้มีการระบุเพศที่สามในใบสมัครเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษานั้น ต้องดูรายละเอียด เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่อยากให้มุ่งเน้นการสร้างโอกาสและความเสมอภาคให้กับกลุ่มคนเหล่านี้มากกว่า ไม่ให้ถูกรังแกและถูกละเมิด ไม่ใช่ทำแล้วเป็นการแบ่งแยกไปอยู่ชายขอบ

         ด้านนายปัณฑารีย์ ศิลปารียาภรณ์ คณะกรรมการ กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศแห่งประเทศไทยกล่าวว่า เห็นด้วยกับการเปลี่ยนคำนำหน้านามกลุ่มที่แปลงเพศแล้ว แต่ไม่ต้องให้มีการเปลี่ยนประวัติหรือเปลี่ยนชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้ กลุ่มที่มีการแปลงเพศไปหลอกลวงผู้ชาย ที่ผ่านมาตนและเครือข่ายกลุ่มที่มีการแปลงเพศเคยเรียกร้อง แต่ก็ติดปัญหาระหว่างกลุ่มแปลงเพศด้วยกันเองบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความคิดดังกล่าวได้รับการตอบรับดีขึ้น เนื่องจากผู้หญิงที่แปลงเพศโดยไม่มีการเปลี่ยนคำนำหน้านามจะมีปัญหาการทำธุรกรรม และการเดินทางไปต่างประเทศ ส่วนการตอบรับของสังคมเท่าที่สอบถามส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนคำนำหน้า เนื่องจากปัจจุบัน สังคมเปิดกว้างมากขึ้น

         อย่างไรก็ดี มีความเห็นแตกต่างจาก น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้เพศที่สามเปลี่ยนคำนำหน้านาม โดยกล่าวว่า เพราะเกี่ยวข้องกับทะเบียนราษฎรการแจ้งเกิดที่ต้องระบุเพศที่ชัดเจน จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องปรับเปลี่ยน แม้โดยสรีระกลุ่มคนเหล่านี้จะเปลี่ยนรูปร่างและจิตใจให้ เป็นหญิงได้ โดยการผ่าตัดศัลยกรรม เพราะเป็นคนละเหตุผลกับการเปลี่ยนนางเป็นนางสาวที่ยังคงความเป็นเพศหญิงแต่กำเนิด หากมีการให้กลุ่มเพศที่สามเปลี่ยนคำนำหน้าได้ จะเกิดความสับสนแน่นอน บางคนอาจจะมีคดีความและใช้ช่องทางมาฟอกตัว และไม่แน่ใจกระทรวงมหาดไทยจะว่าอย่างไร รวมทั้งต้องถามว่ามีกลุ่มเพศที่สามต้องการปรับเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งต้องดู ประเทศอื่นๆด้วย

 



ข้อมูลจาก
 
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แต๋วกรี๊ด หนุนใช้ นางสาว อัปเดตล่าสุด 14 มิถุนายน 2551 เวลา 21:34:24 36,862 อ่าน
TOP