x close

ตุ๊กตาสร้างความสุข จิ๊กกี้-จิ๊กก้า ศิลป์จากเศษผ้าฝีมือ หนุ่มลำพูน








         เศษผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยหลายคนอาจมองไร้ประโยชน์ ทว่า ศุภชัย อมรกันทรากร หนุ่มวัย 28 ปี ชาว จ.ลำพูน กลับเห็นช่องทางทำเงิน โดยนำเศษผ้ามาประดิษฐ์ทำตุ๊กตาขายจนเกิดผลงานแฮนด์เมด "จิ๊กกี้" กับ "จิ๊กก้า" สร้างรายได้เข้ากระเป๋าหลายหมื่นบาทต่อเดือน 

         ศุภชัยเล่าว่า เดิมทำงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ การทำงานโดนตีกรอบความคิด นายจ้างเป็นผู้กำหนดขั้นตอนการทำงานทุกอย่าง ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง อีกทั้งระบบงานบริษัทไม่ให้โอกาสพนักงานเสนอแนวคิดใหม่ๆ บางครั้งทำดีเสมอตัว แต่ทำผิดพลาดโดนคาดโทษหนัก จึงคิดหาทางเดินออกจากวงจรมนุษย์เงินเดือนมาทำงานอิสระเป็นนายของตัวเอง 

        "ผมตัดสินใจลาออกจากงานเดินทางกลับมาปักหลักที่บ้านเกิด จ.ลำพูน ช่วงแรกปลูกผักสวนครัวขายตลาดสด รายได้พอเลี้ยงตัว แต่ไม่มีเงินเก็บ เพราะเป็นที่รู้กันว่า อาชีพเกษตรกรไม่ว่ายุคใดสมัยใดไม่เคยลืมตาอ้าปากได้เลย ไหนต้องต่อสู้กับโรคแมลง แล้วยังมีพ่อค้าคนกลางคอยกดราคาผลผลิต ทั้งที่ต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ" ศุภชัยเล่าเรื่องราวเมื่อไม่นานมานี้ 

        หนุ่มเมืองเหนือเล่าต่อว่า หลังทบทวนแล้วว่าเกษตรกรรมไม่สามารถเลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคง ก็มองหาช่องทางอื่น กระทั่งวันหนึ่งนึกได้ว่า แม่ซึ่งมีอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้ามีเศษผ้าทิ้งไว้จำนวนมาก เลยคิดนำวัสดุเหลือใช้เหล่านี้มาทำประโยชน์ อาศัยว่ามีความรู้ทางศิลปะเป็นทุนเดิม จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะสร้างงานแฮนด์เมดให้กลายเป็นเงิน 

        "ผมคิดอยู่นานในที่สุดก็ลงตัวที่การทำตุ๊กตาเศษผ้า รุ่นแรกเป็นตุ๊กตาผู้ชายกับผู้หญิงกอดกัน ขายคู่ละ 15-20 บาท ลูกค้ายังไม่นิยมมากนัก ต่อมามีโอกาสร่วมโครงการอบรมผู้ประกอบการใหม่ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่สอนเทคนิคออกแบบและดีไซน์ทันสมัย แล้วนำมาต่อยอดเป็นผลงานชุดปัจจุบัน ซึ่งผมวางคอนเซ็ปต์ให้ตุ๊กตามีความร่าเริงหน้าตาตลกๆ ยิ้มกว้างๆ ฟันซี่โตๆ เพื่อสร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้คนที่เห็นพวกมันและอยากได้เป็นเจ้าของ" ศุภชัยเล่าถึงแรงบันดาลใจในการให้กำเนิดตุ๊กตา "จิ๊กกี้" กับ "จิ๊กก้า" 

        เจ้าของผลงานตุ๊กตาจากเศษผ้าบอกว่า ในเมื่อโลกเรามีหลายสิ่งหลายอย่างที่สับสนวุ่นวาย มนุษย์แก่งแย่งทำมาหากิน จนบางคนมองข้ามการแสวงหาความสุขใส่ตัว เพราะมัวห่วงเรื่องของปากท้อง ยิ่งสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันหลายครอบครัวต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบเพื่อความอยู่รอด เขาจึงต้องการให้ "จิ๊กกี้" กับ "จิ๊กก้า" เป็นตัวแทนของความสุขให้ผู้ที่ครอบครองมีอารมณ์ขันทุกครั้งที่จ้องมอง 

        หลังจากทำออกขายได้ระยะหนึ่งลูกค้าอุดหนุนต่อเนื่อง ศุภชัยจึงดีไซน์ชุดตุ๊กตาออกมากว่า 10 แบบ เช่น ชุดไทย ชุดแต่งงานแบบสากล และแบบไทย ส่วนวัสดุเดิมที่ใช้เศษผ้า 6 ชิ้นเย็บต่อกัน ก็เพิ่มผ้าเนื้อดี เพื่อเป็นทางเลือกของลูกค้าที่มีกำลังจ่าย แต่ใบหน้ายังคงรอยยิ้มกว้างๆ ไว้เหมือนเดิม ผลงานของเขามีราคาเฉลี่ยตั้งแต่ตัวละ 29-320 บาท 

        "เมื่อนำไปวางขายที่ถนนคนเดินใน จ.เชียงใหม่ ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ลูกค้าอุดหนุนจำนวนมาก จากนั้นมีคนกลางสั่งออเดอร์นำไปขายที่กรุงเทพฯ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และประเทศเกาหลีใต้ รวมแล้วผมมีรายได้ตกเดือนละ 1.5-4 หมื่นบาท แม้ว่าหลายคนเป็นห่วงว่าจะโดนก๊อบปี้สินค้า แต่ผมไม่ห่วงตรงจุดนี้ เพราะมั่นใจในฝีมือที่ประณีตและสามารถคิดแบบใหม่ๆ ออกมาได้เสมอ" ศุภชัยกล่าว

        ที่สำคัญทุกวันนี้ "ศุภชัย" ถ่ายทอดความรู้การทำตุ๊กตาจากเศษผ้าให้กลุ่มสตรีในท้องถิ่นหลายราย ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้มีรายได้จุนเจือครอบครัวมากขึ้น

 



ข้อมูลและภาพประกอบจาก

โดย  เกรียงศักดิ์ เผ่าอินทร์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตุ๊กตาสร้างความสุข จิ๊กกี้-จิ๊กก้า ศิลป์จากเศษผ้าฝีมือ หนุ่มลำพูน อัปเดตล่าสุด 15 มิถุนายน 2551 เวลา 12:21:23 17,553 อ่าน
TOP