x close

แพง-แน่น ก็ต้องใช้! รถเมล์ไทย กี่ยุคก็ยังทุกข์อมตะ


         สถานการณ์ "น้ำมันแพง" สร้างความเดือดร้อนให้ผู้คนทั่วโลก รวมถึงกับคนไทย ซึ่งก็มิใช่เฉพาะกับคนมีรถ-ใช้รถส่วนตัว ที่เหน็บแนมกันว่าเป็น "ทุกข์คนรวย" กับคนที่ใช้บริการรถสาธารณะในการเดินทางก็ใช่ว่าไม่ทุกข์ เพราะอัตราค่าโดยสารก็มีการขยับปรับตัวสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายของผู้ที่ต้องใช้บริการก็ต้องเพิ่มขึ้นตาม...
 
         แม้แต่คนในกรุงเทพฯ เมืองหลวง...ก็ทุกข์เพราะเรื่องนี้ "ทุกข์ค่ารถเมล์" ที่ต้องทนใช้เพราะไม่มีทางเลือก !!!   
 
         ขณะที่รัฐบาลปัดฝุ่นจุดพลุเรื่องเปลี่ยนรถเมล์และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จะเปลี่ยน-ไม่เปลี่ยน จะอย่างไรก็ไม่รู้ล่ะ ที่รู้ ๆ เรื่องรถเมล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตอนนี้ ผู้ใช้บริการต่างโอดครวญกันมาก
 
         "ถ้าบอกว่านั่งรถเมล์ประหยัดนั้นไม่จริงแล้ว เพราะราคาแพงมากขึ้น แทบเป็นค่าใช้จ่ายหลักแล้ว รอก็นาน บางครั้ง 30 นาทีกว่าจะมา ตอนเช้า รถก็แน่น แถมด้วยรถติดอีกต่างหาก แม้แต่รถแอร์บางคันยังมียุงเยอะเลย" ...เป็นเสียงของ "นัด" อาชีพช่างอาคาร เงินเดือนหมื่นเศษ ๆ 
 
         นัดบอกอีกว่า... แต่ละวันต้องนั่งรถเมล์ 2 ทอด ไป-กลับก็ 4 ทอด  ค่ารถเมล์ต่อวันราว 50 บาท ต่อเดือนคือพันกว่าบาท ยังไม่รวมที่ไปไหนมาไหนเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควรเมื่อเทียบกับรายได้และรายจ่ายทั้งค่ากิน ค่าของใช้ส่วนตัว และอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งขึ้นรถเมล์ก็พยายามขึ้นรถร้อน เพื่อให้ประหยัด
 
         "ค่ารถเมล์ถึงจะขึ้นคราวละ 1.50 บาท หรือ 1 บาท หรือ 50 สตางค์ ก็สะเทือนคนที่มีรายได้ไม่มากอย่างเรา ๆ แล้ว" ...ผู้ใช้บริการรถเมล์เป็นประจำที่ชื่อนัดกล่าว
 
         "นัจกร" อาชีพพนักงานบริษัท เงินเดือนหมื่นกว่าบาท รายนี้บอกว่า... ค่าเดินทางต่อวันก็กว่า 40 บาท เพราะต้องนั่ง 3 ทอด ทั้งรถมอเตอร์ไซค์ และใช้รถเมล์อีก 2 ทอด ซึ่งรถเมล์ก็พยายามประหยัดสุดชีวิตด้วยการรอรถร้อน แต่ก็ต้องรอนาน ต้องอดทน บางทีจะไม่ทันจริง ๆ ก็ต้องขึ้นรถแอร์ ที่ถ้านั่งประจำคงจะไม่ไหวแน่  
 
         "นั่งรถเมล์แม้จะถูกกว่าขับรถ แต่ในแง่รายได้เทียบแล้วไม่ได้ประหยัดกว่าเลย ซึ่งถ้าเปลี่ยนรถเมล์เป็นรถแอร์หมด และขึ้นราคาหมด คงจะไม่ไหวแน่ เพราะยังไงราคาก็สูงขึ้นเยอะ" ...นัจกรระบุ 
 
         ด้าน "ต่อชัย" อาชีพล่าม รายได้ไม่แน่นอน เสียค่าใช้จ่ายเดินทาง ต่อวันมากกว่า 100 บาท เพราะมาจาก จ.นครปฐม เข้ากรุงเทพฯ เขาบอกว่า... รายได้บางเดือนกว่า 10,000 บาท แต่เสียค่ารถกว่า 3,000 บาท ถือเป็นสัดส่วนถึง 30% เรียกว่าไม่คุ้มกับพลังการทำงานที่เสียไป และต่อเดือนก็ไม่ค่อย มีเงินเหลือ 
 
         "ไม่ได้สบายเลย ชีวิตของคนนั่งรถเมล์เนี่ย ตอนเช้าคนแน่นมาก นอกจากรอนานแล้ว ต้องแย่งกันขึ้นอีก ค่ารถก็แพง ทุกวันนี้ก็ต้องเลือกนั่งรถร้อน เพื่อประหยัด ถ้าเปลี่ยนเป็นรถแอร์หมดคงแย่แน่ ๆ คงจะมีคนเดือดร้อนมากกว่านี้เยอะ โดยเฉพาะคนรายได้น้อย ๆ อย่างผม" ...ต่อชัยกล่าว
 
         "ขวัญใจ" หญิงสูงวัยที่ไม่ได้ทำงานแล้ว อาศัยรายได้จากเงินที่ลูก ๆ ให้ รายนี้บอกว่า... ทุกวันนี้ก็จะออกจากบ้านบ้าง ไปหาเพื่อนคุยแก้เหงา ไปไหว้  พระทำบุญ หรือไปซื้อของ ซึ่งออกจากบ้านแต่ละครั้งต้องวางแผนเดินทางก่อน  แต่ถึงอย่างนั้นค่ารถเมล์-ค่าเดินทางแต่ละครั้งก็มากกว่า 50 บาท ก็พยายามนั่งรถร้อนเข้าไว้ หรือถ้าระยะทางไม่ไกลมาก พอจะเดินไหว ก็เดินเอา ถือเสียว่าเป็นการออกกำลังกายไปในตัว
 
         "คิดว่าค่ารถเมล์ก็ยังสูงอยู่ดี ถึงจะมีการช่วยคนชราโดยลดครึ่งราคา แต่กระเป๋ารถเมล์บางคันก็ไม่ค่อยพอใจเรื่องนี้ จึงยอมจ่ายเต็มราคาไปเพื่อตัดปัญหา ซึ่งคิดว่าการแก้ปัญหานี้คงลำบากนะ เพราะต้นเหตุของปัญหาคือ ราคา น้ำมันอย่างเดียว ประหยัดยังไงก็ไม่ไหว"...ป้าขวัญใจว่า

         ลองไปถามคนยังเป็นนักศึกษาที่ใช้บริการรถเมล์ "ปิยะนุช" เรียน อยู่เทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้ค่าใช้จ่ายจากทางบ้านวันละ 120 บาท แต่เป็นค่ารถไปแล้ว 34 บาท ต้องนั่งรถเมล์ไปเรียนวันละ 2 ทอด เหลือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่ถึง 100 บาท รายนี้ก็เน้นนั่งรถร้อน เพราะไม่อยากรบกวนทางบ้านเพิ่มเติมอีก 
 
         "ใครคิดว่านั่งรถเมล์สบาย ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันแพง ทุกวันนี้เถียงใจขาด ไม่จริงเลย ค่ารถแพงกว่าเดิม รถแน่นเหมือนเดิม และรอนานเหมือนเดิม" ...ปิยะนุชระบาย 
 
         ขณะที่ "ธงธวัช" นักศึกษาราชภัฏสวนดุสิต บอกว่า... บ้านอยู่ฝั่งธนฯ เสียค่ารถวันละประมาณ 50 บาท ทั้งค่ามอเตอร์ไซค์รับจ้าง และรถเมล์ เมื่อก่อนได้เงินจากทางบ้านวันละ 120 บาท ตอนนี้ดีขึ้นมาหน่อยได้เพิ่มเป็น 200 บาท แต่คิดว่าคงมีเพื่อน ๆ นักศึกษาที่ได้ค่าใช้จ่ายเพิ่มแบบตนไม่มากนัก ค่ารถแพงจึงน่าเห็นใจ "ไม่ได้สบายหรือประหยัดเท่าไหร่นะครับ นั่งรถเมล์น่ะ เช้า-เย็นรถแน่นมาก ๆ"...ธงธวัชบอก
 
         ส่วน "รัตพงศ์" นักศึกษาเภสัชฯ ปี 5 ก็บอกเช่นกันว่า... ถึงจะได้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 200 บาท แต่ค่ารถต่อวันก็ประมาณ 60 บาท ก็ต้องพยายามประหยัดด้วยการนั่งรถเมล์แบบรถร้อนเป็นหลัก  "ขึ้นค่ารถเมล์แต่ละครั้งกระเทือนคนที่มีรายได้ไม่มาก แต่คุณภาพไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามราคาที่ขึ้นเลย ก็ยังแน่น ยังลำบาก และยังอันตรายเหมือนเดิม" ...อีกหนึ่งคนใช้รถเมล์ประจำกล่าว 
 
         ขณะที่ใครอาจกำลัง "ฝันหวานอร่อย ๆ กับรถเมล์ใหม่"
 
         คนที่ต้องใช้รถเมล์ก็ยัง "ทุกข์กับรถเมล์เก่า" เป็นปกติ
 
         โอดกันทุกยุค-ครวญกันทุกสมัย...ก็ยังเหมือนเดิม !!!




ข้อมูลจาก

ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แพง-แน่น ก็ต้องใช้! รถเมล์ไทย กี่ยุคก็ยังทุกข์อมตะ อัปเดตล่าสุด 18 มิถุนายน 2551 เวลา 16:04:31 10,711 อ่าน
TOP