x close

เหลืองควายล้า กับชาวนาริมกรุง

เชือน สมัครรามัญ


เรื่อง : ณัฐธยาน์ ก้อนทอง
ภาพ : วธู ฤกษ์อุดม

เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม

          ต่อไปนี้คือเรื่องของ "ควายล้า" พันธุ์ข้าวชื่อแปลกที่กว่าจะ "สุก" ควายต้องรอนานจนล้า กับชาวนาที่ "สุข" เมื่อได้ใช้เวลากับท้องนาที่เขาผูกพัน แม้ข้าวจะสุกช้าจนควายล้า แต่การเป็นชาวนากว่า 70 ปี ไม่ทำให้ชายคนหนึ่งต้องเหนื่อยล้าแม้แต่นิด

          ในวัยเจ็ดสิบเก้า เชือน สมัครรามัญ แห่งบ้านคลองมอญ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ไม่เคยย้ายถิ่นฐาน ไม่เคยเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น ลูกชาวนาลาดกระบังที่รุ่นพ่อรุ่นแม่พอมีอันจะกิน มีนาให้ทำถึง 200 ไร่ โดยชายชราร่างผอมสูง ที่แม้อายุจะย่างแปดสิบแล้วแต่ยังแข็งแรง เตรียมจะเกี่ยวข้าวเบาที่กำลังออกรวงเหลืองอร่าม แกต้องเร่งเกี่ยวแข่งกับฝนเดือนเจ็ดที่กำลังอู้มา ก่อนข้าวใหม่จะเสียหายหมด และแข่งกับราคาที่กำลังแพงราวกับทอง

          ลุงเชือนมีเชื้อสายมอญตามนามสกุล ชุมชนที่อยู่นี้ก็เป็นชุมชนมอญเก่าแก่ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทำนากันมาตลอด แม้ว่าในยุคหลังยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมามีคนขายไปเป็นบ้านจัดสรรบ้าง นิคมอุตสาหกรรมก็ขึ้น เมืองขยายตัวออกมาถึง แต่เขาก็ยังไม่เลิกปลูกข้าว เช่นเดียวกับอีกหลายครอบครัวในคลองมอญ แกอาจแตกต่างจากชาวนาเพื่อนบ้านตรงความเป็นคนช่างคิดค้น มีภูมิรอบรู้ และที่สำคัญ รักที่จะปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง... พันธุ์พื้นเมืองของบางกอก

          "อ๋อ อีเหลืองน่ะหรือ…" โดยไม่ต้องทวนคำถาม แกเข้าใจตรงกันว่า "อีเหลือง" ที่พูดถึงนั้นคือ "เหลืองควายล้า" ข้าวพื้นเมืองที่ปลูกอยู่ในแถบหนองจอก-ลาดกระบัง และเป็นหนึ่งในพันธุ์ข้าว 81 สายพันธุ์ ที่มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์คัดเลือกมาใส่กล่อง ทำบัตรประจำสายพันธุ์เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายในหลวง

เชือน สมัครรามัญ


          เรื่องโบราณที่ฟังแล้วชวนให้อมยิ้มเกี่ยวกับข้าวที่สุกช้า ควายรอจนล้า ย่อมสะท้อนให้เห็นวิถีของชาวนาลึกลงไปในรายละเอียดที่ว่า ควายนั้นมีบทบาทอยู่ในท้องทุ่งมาแต่หนหลัง นับแต่ไถหว่านจนกระทั่งเกี่ยว ที่ต้องเอาข้าวไปขึ้นลานนวดที่ปูด้วยขี้ควาย เอาควายเดินย่ำ แต่ควายทำอะไรไม่ได้ถ้าข้าวยังไม่สุกเหลือง บางทีไม่ใช่ควายเท่านั้นแต่เป็นคนด้วยที่รออีเหลืองเสียจนล้า

          แต่เหตุที่ฤดูนี้แกไม่ได้ปลูก หรืออาจจะหลายฤดูแล้วที่ไม่ได้ทำ เพราะพันธุ์ข้าวชักแย่ ไม่เคยเปลี่ยนมาหลายปี จนเกิดเป็นเม็ดมะขาม แข็งแดง กินไม่อร่อย แต่เหนือสิ่งอื่นใดฤดูทำนาที่เปลี่ยนไป ไม่ได้ตรงตามรอบฤดูปีเหมือนเมื่อก่อน การปลูกอีเหลืองจึงเสี่ยงและไม่คุ้ม สู้ข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ต้นไม่สูง ให้ผลผลิตมาก สุกเร็ว เช่น สุพรรณ 20 ไม่ได้ นอกจากไม่เสี่ยงแล้ว ยังขายได้กำไรกว่า

          ในห้วงไม่ถึงสี่สิบปี ที่ดินอุดมผืนใหญ่ริมกรุงขายได้ราคาดี เพราะเมืองขยายตัวออกไปมาก โครงการนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ที่ดินนาหลายแปลงถูกขายไป บางผืนกลายเป็นโรงงาน ซึ่งก็เหมือนกับอีเหลืองควายล้าที่หายไปจากนาสมัยใหม่ หายไปพร้อมกับควายจริงๆ ที่เคยมีอยู่กันเป็นฝูงหลายร้อยตัวในท้องทุ่งลาดกระบัง เดี๋ยวนี้มองหาไม่เห็นควาย อาจเหลือเพียงรูปปั้นที่เด่นหราอยู่ที่บ้านชาวนาริมกรุงคนนี้ และถ้าหากใครก็ตามเห็นควายฝูงที่ใด ก็จงรู้ไว้เถิดว่ามันถูกเลี้ยงไว้เข้าโรงเชือด มิใช่เลี้ยงไว้ปลูกข้าวเหมือนเมื่อก่อน

          นอกจากชื่อพันธุ์ข้าว เหลืองควายล้า ที่พาหวนกลับไปหาเรื่องราวเก่าๆ ชีวิตของลุงเชือนก็ยังพาไปเห็นซึ้งถึงความผูกพันกับถิ่นเกิด แผ่นดินฝังรก ที่คนในกรุงไม่เคยได้ยินคำนี้ เพราะร้อยทั้งร้อยคลอดที่โรงพยาบาล

          "ผมเกิดที่คลองมอญ อยู่ที่นี่ ไม่เคยย้ายไปไหนเลย ตอนแม่ยังอยู่ผมก็ถามเขาว่า รกผมฝังที่ไหน ก็ใต้ถุนนี่เอง ที่ตรงนี้ แล้วเวลานี้เราจะทำอะไร เราคิดถึงอยู่ตลอด ใครอย่ามานอนเลยที่ห้องนี้ ห้องที่เขาคลอดลูกไว้น่ะ ผมอยู่เอง"

          คนเราถ้ารู้เสียอย่างหนึ่งว่าที่นี่มันคือบ้าน แม่คลอดในห้องนี้ รกตัวเองฝังอยู่ตรงนี้ คงไม่มีใครกล้าคิดชั่วช้าทำลายแผ่นดินเกิดตัวเองได้ลงคอ

          คงไม่ต้องบอกว่า เชือน สมัครรามัญ นี่ก็คนหนึ่ง



 ข้าวแต่ละเม็ด ไม่ได้มาง่ายๆ 




ข้อมูลและภาพประกอบจาก

นิตยสาร ฅ คน ฉบับที่ 32 ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 


นิตยสาร ฅ คน


นิตยสาร ฅ คน ฉบับที่ 32 ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551

 หมอลำ มหัศจรรย์ที่ราบสูง
          จากอดีตสู่ปัจจุบัน คนบ้านปลาค้าวเรียนรู้ร่วมกันอย่างหนึ่งว่า หมอลำ สำหรับพวกเขา เป็นมากกว่าสินค้าโอทอป มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

 ตามหาเหลืองควายล้า
          ข้าวหอมพันธุ์พื้นบ้านบางกอกที่ชาวนาวัยเจ็ดสิบเก้ารู้จักมันมาทั้งชีวิต แต่มาบัดนี้ทั้งข้าวทั้งควายใกล้สาบสูญไปพร้อมกัน

 คนกับวิถี

          พรนกการเวกกับชายตาบอด ทารกน้อยเกิดมามีกรรมหนัก ทำให้ตาพิการ แต่เมื่อเติบใหญ่ เขากลับตระหนักได้ว่ามีวาสนาสูงที่ได้รู้จัก และหัดเป่าแคนจนเป็นปรมาจารย์

 แฟชั่นชีวิต
          ชีวิตหน้าม่าน มีฉากหลังเคลือบสีสัน และแป้งรองพื้น สดใส สนุกไม่แพ้หน้าม่านที่อาบแสงไฟ

 สัมภาษณ์พิเศษ
          อาณาจักรข้าวในโลกที่เปลี่ยนแปลง ทำไมข้าวจึงแพง ทำไมชาวนายังจน ถ้าคุณตอบได้ทั้งสองข้อ ก็ไม่ต้องอ่านบทสัมภาษณ์เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ชิ้นนี้

 สกูปพิเศษ
          นิเวศน์ศิลป์ ศิลปินหนุ่มล่องเรือไปตามลำน้ำโขงและลำน้ำยม เป็นระยะทางกว่า 2,600 กิโลเมตร เขาเอาลำน้ำทั้งสายต่างกรอบเฟรม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เหลืองควายล้า กับชาวนาริมกรุง อัปเดตล่าสุด 19 มิถุนายน 2551 เวลา 15:23:38 36,490 อ่าน
TOP