x close

3 ปัจจัย ให้ได้งาน เมื่อเรียนจบ

สมัครงาน


          ช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมานี้ เราคงจะรู้สึกว่ารถมันติดมากผิดปกติ สาเหตุหนึ่งก็มาจากเรามี บัณฑิตจบใหม่เข้ารับปริญญาบัตรกันแทบทุกสถาบันต่อเนื่องหลายวัน เป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศไทยจะได้คนรุ่นใหม่มาเป็นกำลังช่วยพัฒนาบ้านเมืองเพิ่มขึ้น ซึ่งในความน่ายินดีนี้คุณรู้ไหมว่าปีหนึ่งๆ มีเด็กจบออกมากว่าสองแสนคนแต่จะมีคนที่ได้งานทำทันทีประมาณห้าหมื่นคน นั่นเท่ากับทุกสี่คนจะมีคนต้องรองานถึงสามคนถ้าเราเป็นเด็กจบใหม่เราอยากให้ตัวเองเป็นหนึ่งคนที่ได้งานหรืออยู่ในสามคนที่ไม่ได้งานทันทีที่จบ ฉบับนี้เราขอเสนอ 3 ปัจจัยที่มีส่วนทำให้เราได้งานมากขึ้น พูดอีกแบบคือถ้าใครมี 3 ปัจจัยนี้แล้ว ก็จะช่วยให้เป็นแต้มต่อข้อได้เปรียบในการหางานนั่นเองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง


Internship


          นักศึกษาทุกคนต้องผ่านวิชาการฝึกงานมาแล้วทั้งนั้น แล้วถามว่ามันจะสร้างความได้เปรียบได้ยังไงในเมื่อทุกคนก็เคยฝึกงาน ขอบอกว่าต่างมากเลยล่ะ เพราะอะไร ก็เพราะว่าการฝึกงานก็เสมือนการที่เราได้มีโอกาสแสดงฝีมือให้รุ่นพี่มืออาชีพเขาได้เห็นกับตาตัวเอง ใครทำงานได้ดีแค่ไหน ใครเก่ง ใครขยัน ใครอดทน ใครสู้งาน ใครเป็นยังไงพี่ๆ เขาดูออกได้ไม่ยาก ซึ่งจะทำให้เขาเล็งเห็นถึงความสามารถในตัวเราถ้าเราทำให้เขาประทับใจได้ในขณะที่ฝึกงาน เมื่อใดที่เราเรียนจบ ก็เหมือนคนเคยรู้จักกันมาก่อน เคยเห็นฝีไม้ลายมือกันมาบ้างแล้ว สิ่งนี้ก็จะกลายมาเป็นแต้มต่อให้เขาเลือกเราเข้าทำงานจริงได้ ถ้าเด็กคนไหนรู้จักใช้การฝึกงานเป็นเวทีโชว์ฝีมืออย่างเต็มที่ เมื่อฝึกงานเสร็จ คุณอาจจะได้ยิน คำพูดทำนองว่า "น้องเรียนจบเมื่อไหร่ก็กลับมาหาพี่อีกทีนะ" และนี่ก็คือแต้มต่อที่คุณมีมากกว่าเด็กคนอื่นแล้วนั่นเอง


Network


          เราเรียกมันว่า สายสัมพันธ์ สิ่งนี้ก็สำคัญมันเกิดขึ้นได้จากการสร้างและสะสม ซึ่งมีอยู่สองวิธีคือ คุณสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง เช่น การขอเข้าไปฝึกงานอย่างที่บอกไปข้อแรก คุณก็จะได้พาตัวเองไปเจอกับพี่ๆ ในบริษัทนั้นๆ ซึ่งถือเป็นประตูบานแรกสุดที่จะทำให้คุณได้รู้จักคนมากขึ้น วิธีที่สองก็คือเมื่อคุณเข้าไปฝึกงานหรือทำงานที่ไหนสักแห่ง คุณก็ต้องพบเจอกับคนนอกบริษัทที่อยู่ในสายธุรกิจในวงการเดียวกันด้วยแน่นอน อาจจะมาจากการที่พี่เขาให้คุณช่วยติดต่อประสานงานกับคนนอกบริษัทหรือการที่คนภายนอกเข้ามาติดต่อทำงานร่วมกับบริษัทที่คุณฝึกงานอยู่ ถ้าคุณฉลาดพอที่จะทำความรู้จักเก็บเกี่ยวและสะสมคนรู้จักไปเรื่อยๆ คุณก็จะมีพี่ๆ ที่สามารถพูดคุยปรึกษาเรื่องการทำงานได้มากขึ้น ยิ่งคุณรู้จักคนมากเท่าไหร่ โอกาสในการมีงานทำก็มากขึ้นเท่านั้น ถ้าคนในบริษัทที่เราไปฝึกงานเขาไม่ถูกใจเรา ก็อาจจะมีคนอื่นนอกบริษัทที่เขาสนใจในตัวคุณก็ได้ การรู้จักคนมากๆ ยังไงก็ได้เปรียบ ลองคิดดูว่ามีคนรู้จัก 10 คนกับมี 100 คน ลู่ทางไหนจะมากกว่ากัน


Passion


          อยากจะบอกว่าเรื่องนี้สำคัญที่สุดก็ว่าได้ เพราะถ้าคุณมีแรงปรารถนาในสิ่งที่คุณทำมากๆ รัศมีความสนใจใฝ่รู้มันจะแผ่ขยายออกไปรอบๆ ตัวคุณจนคนอื่นเขารับรู้ได้เอง เวลาคุณไปทำงาน พี่ๆ เขาก็จะรู้สึกว่าน้องคนนี้มีความกระตือรือร้น เวลาสัมภาษณ์งานพี่เขาก็มองเห็นแววตาที่เปร่งประกายบ่งบอกให้เห็นความอยากทำงานด้วยความจริงใจ ใครมีความปรารถนาแรงกล้ามาก ก็จะได้เปรียบเด็กคนอื่นที่ไม่รู้ว่าอยากทำอะไร ไปฝึกงานก็ทำไปงั้นๆ ไม่สนใจไม่ขวนขวายมาทำ แค่ขอผ่านวิชานี้เท่านั้น เวลาสัมภาษณ์งานก็ไม่มีอะไรแสดงให้พี่เขาเห็นว่าน้องมีความทะยานอยากได้งานนี้จริงๆ พี่เขาก็ไปเลือกคนอื่นดีกว่า สุดท้ายขนาดตัวเราเองยังไม่มีความสนใจ แล้วใครจะมาสนใจในตัวเราได้ล่ะ


          ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ ถ้าเด็กคนไหนเริ่มตั้งแต่ตอนเรียนตอนฝึกงานทำงานอย่างเต็มที่ แสดงฝีมือให้เป็นที่ประทับใจของพี่ๆ ในวงการ จนเรียนจบสมัครงานและได้สัมภาษณ์งานจริง การได้งานก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากของชีวิต เพราะชีวิตมีอะไรยากๆ รอเราอยู่ในการทำงานจริงอีกเยอะ


          ขอให้น้องบัณฑิตจบใหม่ทุกคนโชคดี...



ข้อมูลจาก
 
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
3 ปัจจัย ให้ได้งาน เมื่อเรียนจบ อัปเดตล่าสุด 19 มิถุนายน 2551 เวลา 14:22:37 23,317 อ่าน
TOP