x close

ทหารพร้อมรับวิกฤติ 21 มิ.ย. อย่ากะพริบตา

ตำรวจ



          สถานการณ์การเมืองใกล้จุดเดือดเข้าทุกขณะเมื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศ "ทุบหม้อข้าว" เคลื่อนพลบุกล้อมทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับระดมคนจากทุกภูมิภาคเข้ากรุงเสริมกำลัง เป็นสถานการณ์ที่กองทัพไม่อาจละสายตา เพราะสถานการณ์เช่นนี้ อาจเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นได้ทุกเมื่อ

การเผชิญหน้าเป็นไปได้แค่ไหน และมาจากอะไร ?

          ธรรมชาติการชุมนุมแม้ว่าจะระดมคนมาเป็นจำนวนมากแค่ไหน หากไม่เคลื่อนที่ สถานการณ์ก็ไม่น่ากังวล แต่หากเคลื่อนที่เมื่อไร โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุ หรือบานปลายมีได้ทุกเมื่อ เพราะแน่นอนว่า พื้นที่เป้าหมายที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่จะไปยึดนั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์ และเป็นจุดเดียวกันกับที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องป้องกันรักษา ตำรวจประกาศชัดเจนแล้วว่า ยอมให้กลุ่มพันธมิตรมายึดทำเนียบไม่ได้

          ขณะที่กลุ่มพันธมิตรก็ประกาศว่าจะต้องยึดให้ได้ ก็เท่ากับว่า สถานการณ์เผชิญหน้ากำลังใกล้เข้ามาแล้ว เมื่อฝ่ายหนึ่งไม่ยอม แต่อีกฝ่ายต้องการ การหลีกเลี่ยงการปะทะกันย่อมเป็นไปได้ยาก แม้ที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างเอาตัวรอดไปได้ทุกครั้ง การปะทะกับเจ้าหน้าที่จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่สถานการณ์จะบานปลายออกไป ขณะเดียวกัน การเข้าสลายการชุมนุมด้วยการจับแกนนำผู้ชุมนุมก็ไม่ใช่ทางออกที่ดี

          สถานการณ์แบบนี้เคยมีบทเรียนมาแล้วว่า เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมไร้หัวไร้แกนนำ การชุมนุมก็ไม่เป็นขบวน เหมือนเมื่อครั้ง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ถูกจับที่ถนนราชดำเนิน และเป็นชนวนให้เกิดเหตุจลาจล ปฐมเหตุ "พฤษภาทมิฬ" 



ตำรวจ



          นอกจากนี้ กลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มพันธมิตรก็เป็นปัจจัยสำคัญ ประชา ประสพดี แกนนำกลุ่มมหาประชาชน ประกาศแล้วว่า จะรวมพลไปปักหลักรับกลุ่มพันธมิตร ที่ทำเนียบรัฐบาล ในขณะที่กลุ่ม นปก.ยังคงไม่เคลื่อนไหวอะไรหลังจากประกาศสลายการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงไปก่อนหน้านี้แล้ว...แต่ความเงียบจาก นปก.ก็ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มการเมืองกลุ่มนี้จะไม่เคลื่อนไหว พอๆ กับกลุ่มมอเตอร์ไซค์ ที่โพกผ้าแดงขี่มาวนเวียนส่งเสียงด่าทอ ท้าทายใกล้ๆ กับกลุ่มพันธมิตรในก่อนหน้านี้ ยังไม่นับ "มือที่สาม" ที่ไม่รู้ว่าจะโผล่มาป่วนเพื่อให้สถานการณ์บานปลายอีกเมื่อใด

          เมื่อเกิดสถานการณ์ที่บานปลายจนไม่สามารถควบคุมได้ ก็เท่ากับบีบให้มีการใช้กำลังทหารออกมารักษาความสงบ นั่นหมายถึงสถานการณ์เข้ามาสู่ความรุนแรง สู่ระดับที่ 4 มีการเผาทำลายสถานที่ราชการ มีการปะทะจนถึงขั้นเสียชีวิต โดยระดับ 1-2 นั้นเป็นเพียงการเตรียมพร้อมของกองทัพที่จะต้องประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ส่วนระดับ 3 คือระดับที่เริ่มเข้าสู่ความรุนแรง ที่กองทัพจะต้องได้รับคำยืนยันจาก "หน่วยข่าว" เพื่อนำมาประเมินสถานการณ์ขั้นสุดท้ายก่อนตัดสินใจสั่งเคลื่อนกำลัง

          คำสั่งจากหน่วยเหนือออกไปแล้วให้ผู้บังคับกองพันทั้ง 20 กองพัน เตรียมกำลังกองพันละ 1 กองร้อย แล้วให้ผู้บังคับหน่วยพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดเหตุรุนแรง ต้องเข้าประจำการได้ภายใน 1 ชั่วโมง ! คำสั่งของ ผบ.ทบ.ให้กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 เป็นศูนย์ติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง แม้มีคำยืนยันว่า ตำรวจสามารถรับมือกับการชุมนุมได้ และประเมินว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะมารวมกันไม่น่าจะเกิน 1.4 หมื่นคน แม้จะได้รับคำยืนยันเช่นนี้ ก็ไม่ได้ทำให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. คลายกังวล เพราะนี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ



ตำรวจ



          ที่ผ่านมา การเจรจาหรือประสานงานกับกลุ่มผู้ชุมนุมถูกทิ้งให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งแน่ล่ะว่า เงื่อนไขที่รับจากพันธมิตรเป็นเรื่องที่จะต้องนำไปเรียนนาย และนายก็ต้องนำไปเรียนรัฐบาล กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ไปหมดแล้ว ที่ผ่านมาระดับรัฐมนตรีของรัฐบาลที่พูดจาน่าเชื่อถือไม่เคยมีใครไป "ลดอุณหภูมิ" ของกลุ่มพันธมิตร จะมีก็แต่ราดน้ำมันเติมเชื้อไฟ สร้างประเด็นให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังมากขึ้น

          "ผมเคยสั่งและให้นโยบายกับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกไปนานแล้วว่า เราเป็นทหารของชาติ ศาสน์ กษัตริย์และประชาชน ดังนั้นเราต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นหลัก" พล.อ.อนุพงษ์ ให้สัมภาษณ์ย้ำถึงคำสั่งที่ส่งถึงหน่วยขึ้นตรง แม้ว่าทหารจะพยายามย้ำเตือน แต่ดูเหมือนว่ามีความพยายามให้วิกฤติเกิดขึ้นอีกครั้ง

          เสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ซึ่งมองเห็นเค้าหายนะ ตั้งคำถามในวันเดียวกันนี้ว่า "หรือว่าเราอยากให้มีปฏิวัติรัฐประหารอีก"

          บทเรียนมีมาแล้ว เมื่อใดที่ทหารออกมา เมื่อนั้นอำนาจรัฐก็สิ้น...21 มิถุนายน อย่ากะพริบตา


ข้อมูลและภาพประกอบจาก 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทหารพร้อมรับวิกฤติ 21 มิ.ย. อย่ากะพริบตา อัปเดตล่าสุด 20 มิถุนายน 2551 เวลา 11:13:59 18,578 อ่าน
TOP