รางชีวิต ผู้ชายหัวใจรถไฟ

หอเกียรติภูมิรถไฟ

หอเกียรติภูมิรถไฟ

หอเกียรติภูมิรถไฟ


หอเกียรติภูมิรถไฟ

หอเกียรติภูมิรถไฟ

หอเกียรติภูมิรถไฟ

"จุลศิริ วิรยศิริ กับ ภารกิจใหญ่...ที่ถูกลืม ?"
 

          "สภาพตอนนี้ของ หอเกียรติภูมิรถไฟ ถ้าเทียบกับรถไฟมันก็เหมือนไม่มีรางให้มันวิ่งแล้ว ถ้าเทียบกับคนตอนนี้มันก็เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีหนทางเดินต่อไปข้างหน้าอีกแล้ว" ...เป็นคำจำกัดความสภาพปัญหาที่กำลังเผชิญของ "จุลศิริ วิรยศิริ" แต่บุรุษผู้นี้ก็ยังยืนหยัดปกป้องสิ่งที่รัก วันนี้มาดูชีวิต "ผู้ชายหัวใจรถไฟ" คนนี้...


          "หอเกียรติภูมิรถไฟ" เป็นอาคารหลังโต แต่กลับซุกซ่อนตัวอยู่ภายใต้เงาไม้ร่มครึ้มของสวนจตุจักร สวนสาธารณะใหญ่ใจกลางเมือง บรรยากาศ รอบๆ อาคารดูจะสงบเงียบ แม้จะเป็นช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่คนน่าจะพลุกพล่าน แต่ก็กลับเงียบเหงาอย่าง น่าใจหาย 
 

          "นี่ถือว่ายังพอมีคนนะ แต่พอเลยเที่ยงไปก็เรียกว่าแทบจะร้างก็ว่าได้ นี่ขนาดวันหยุดนะ วันธรรมดาไม่ต้องพูดถึง จุลศิริ วิรยศิริ" หรือ "ลุงตุ้ย" ผู้ดูแลหอแห่งนี้บอกเล่าเหมือนเดาใจได้ว่าเราคิดอะไรอยู่ 
 

          ลุงตุ้ยเป็นบุตรชายของ สรรพสิริ วิรยศิริ นักสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งหอแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2533 ภายหลังอาจารย์สรรพสิริล้มป่วยลง ลุงตุ้ยต้องรับหน้าที่หลักในการเป็นผู้ดูแลหอแห่งนี้แทนบิดา โดยปีนี้เป็นปีที่ 18 ที่หอเกียรติภูมิรถไฟแห่งนี้ยืนหยัดท่ามกลางลมฝน ลุงตุ้ยบอกว่า ตั้งแต่เปิดหอไม่มีสักปีที่ไม่เจอปัญหา ยิ่งปีนี้เศรษฐกิจตก จำนวนคนเยี่ยมชมและเงินบริจาคซึ่งเป็นรายได้หลักหล่อเลี้ยง ก็ลดลงอย่างน่าใจหาย 
 

          กับคำถามว่าทำไมไม่หารายได้เสริมเพิ่มเข้ามา ลุงตุ้ยชี้แจงว่าเป็นเพราะสัญญาที่เคยทำไว้สมัยคุณพ่อในช่วงขอสิทธิใช้พื้นที่ ที่ระบุว่าห้ามดำเนินกิจกรรมโดยมุ่งหวังรายได้ ซึ่งรายได้ที่นี้หมายรวมถึงรายได้ในการเลี้ยงตัวของหอแห่งนี้ ลุงตุ้ยจึงหาทางออกด้วยการให้บริจาคเงิน 20 บาทเพื่อแลกกับก๋วยเตี๋ยวแทน 
 

          "ที่นี่ไม่มีการขายสินค้า ไม่มีการเก็บค่าเข้าชม ถ้าคนที่เข้าใจระบบพิพิธภัณฑ์ดี จะรู้ว่าแม้จะขายบัตร ยังไงๆ ก็มีแต่ขาดทุน ทางแก้ที่ทำตอนนี้ถามว่าพอไหม ไม่พอหรอก แต่คิดแค่ว่าให้มีเงินพอที่ให้เราเดินทางมาเปิดหอก็พอแล้ว ถามว่าทำไมไม่ขึ้นรถเมล์มา อยากขึ้นใจจะขาด แต่มีปัญหาคือที่นี่ไม่มีน้ำ เราก็ต้องขนน้ำใส่ถัง บรรทุก จากบ้านมาทุกวัน 18 ปีแล้วนะครับ ถ้ามีน้ำผมไม่เอารถมาหรอก นี่เราประหยัดจนสุดขีดแล้วนะ ถามอีกว่าทำไมหอยังสกปรก ก็ต้องถามกลับว่าคิดว่าน้ำที่ขนใส่รถกระบะมานี่จะพอล้างไหม ไม่มีทาง ถามต่อว่าทำไมไม่ต่อประปา ก็ต้องบอกว่าเพราะที่นี่มันไม่มีเลขที่บ้าน ข้อสอง กทม.ไม่ยินยอม เราก็เข้าใจนะว่าเขาจะยอมได้อย่างไร เพราะเขาไม่อยากให้เราอยู่ นี่พูดกันตรงๆ ห้องน้ำยังลำบาก เพราะต้องเดินไปเข้าข้างนอก เพราะฉะนั้นตอนนี้เราอยู่ได้แค่พออยู่ สภาพหอมันเสื่อมลงทุกวัน" ลุงตุ้ยบอกเล่าเชิงระบายความอัดอั้น
 

          ก่อนจะเล่าต่อไปถึงปัญหาที่ตามติดเป็นลูกโซ่ จากปัญหาใต้พรมมากมายขนาดนี้ ถ้าย้อนเวลากลับไปจะยังเลือกทางสายนี้อยู่หรือไม่ เราถาม โดยลุงตุ้ยบอกว่า ทั้งคุณพ่อและเขาเห็นตรงกันว่าที่ทำตรงนี้ไม่ได้ตั้งใจว่าจะรักษาสมบัติไว้ แต่เพราะอยากสร้างหอนี้ขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างแก่หน่วยงานต่างๆ ว่าควรเริ่มอนุรักษ์ตรงนี้ไว้ก่อนที่จะสายเกินไป รถไฟเปรียบเหมือนกับเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ ทั่วโลกก็ถือว่ารถไฟเป็นตัววัดความเจริญ ถ้ารถไฟดีประเทศนั้นก็มีความเจริญมาก 
 

          "ไม่เสียใจเลยสักวันที่ต้องมารับผิดชอบหอแห่งนี้ ถ้าย้อนเวลาได้ก็ยังยืนยันว่าจะทำ ผมใฝ่ฝันมาตั้งนานแล้ว ถ้าผมมีโอกาส ผมอยากทำอะไรที่ไม่หวังผลตอบแทนสักอย่างหนึ่งในชีวิต เพราะตั้งแต่เริ่มต้น ผมเป็นพ่อค้า ผมทำเพราะหวังได้เงิน ได้กำไรอยู่เรื่อยๆ แต่พอถึงจุดหนึ่งผมมาคิดว่าผมอยากจะทำอะไรก็ได้ที่ทำแล้วผมสบายใจ ซึ่งตรงนี้มันก็คือความฝันตรงนั้น


          อีกส่วนคือผมอยากเก็บสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระราชทานไว้ อย่างเช่นรถราง เราก็ไม่เคยเก็บไว้ ทั้งที่เป็นยานยนต์อย่างแรกของเรา ทำไมเราไม่เก็บรถรางไว้สักเส้นเหมือนที่ซานฟรานซิสโก ให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึง กระทั่งโทรเลขเราก็ยังเลิก ทั้งหมดเพราะเราไม่มีความคิดในการอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่ต้น ขนาดพระองค์ท่านทรงบอกให้ทุกคนเก็บของฉันเอาไว้ ก็ยังไม่มีใครเก็บไว้เลย"
 

          เน้นถามว่ามีความคิดจะเลิกไหม? ลุงตุ้ยบอกว่า มี โดยวันที่จะปิดหอถาวรคือวันที่ไม่มีเงินบริจาคแม้สักบาทเดียว แต่ตราบใดที่ยังมีแม้เพียงหนึ่งบาทหอก็จะยังเปิดอยู่ เพราะถือว่ายังมีคนต้องการให้หอแห่งนี้อยู่ 
 

          "ทุกคนมีบุญคุณกับผมนะ..ต่อให้มีเงินบริจาคแค่เพียงแม้สักบาทเดียว ผมก็ต้องมาเปิด เพราะมีคนต้องการให้หอยังคงอยู่ ดังนั้น ทิ้งไม่ได้ ที่สำคัญมีหลายเรื่องที่รู้สึกไม่ดี คือเราไม่เคยเปิดเว็บไซต์รับบริจาค ไม่เคยเปิดบัญชีธนาคารขายของที่ระลึก พอมีคนโทรฯ มาบอกว่าโอนเงินให้เราแล้ว เราก็ตกใจ ซึ่งผมยืนยันว่าตรงนี้ผมไม่รู้เรื่อง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผมพูดตลอดว่าถ้าใครจะบริจาค ให้มาที่นี่ที่เดียว เพราะผมอยากให้คนบริจาคเขาได้เห็นว่าหอแห่งนี้มีคุณค่าแค่ไหน คุ้มไหมกับเงินบริจาคที่คุณให้มา 
 

          ถามว่าวันแรกถึงวันนี้ผมขายอะไรไปแล้วบ้าง เศษเหล็กยังเป็นเศษเหล็กอยู่ บางคนมาบอกผมว่าจะทำไปทำไมลุงตุ้ย ตัดเป็นเศษเหล็กขายไปซิ ในเมื่อเขาก็ขึ้นบัญชีเป็นเศษเหล็กอยู่แล้ว ปิดหอตัดขายก็หมดเรื่อง ผมถามว่าทำอย่างนั้นได้ไหม ถ้าทำก็เหมือนทำลายความหวังดีของหลายคนที่อยากให้เรายืนหยัดตรงนี้"


          "เราจะเจ็บแค่ไหน เราทนได้ แต่ให้ทำลายความหวังของอีกหลายๆ คน เราเลือกที่จะอยู่แบบเจ็บๆ อย่างนี้ดีกว่า" นี่ก็เป็นอีกความรู้สึกนึกคิด เป็นตัวตนที่เป็นอยู่ของผู้ดูแล "หอเกียรติภูมิรถไฟ" ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก กับภารกิจที่ทำด้วยความอดทนยิ่ง ของ "จุลศิริ วิรยศิริ" ผู้ชายหัวใจรถไฟ !!


          จากสภาพปัญหาที่เกิด ลุงตุ้ยบอกว่า ถ้าไม่ปิดก็ต้องสู้ การทำพิพิธภัณฑ์ไม่มีกำไรอยู่แล้ว คนที่จะเข้ามาดูมีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก ไม่มีทางกำไร เพียงแต่ว่ากำไรของพ่อค้ากับกำไรของเขาไม่เหมือนกัน ลุงตุ้ยคิดว่าแค่มีคนเข้ามาดูก็ถือว่ามีกำไรแล้ว แต่ถ้าสมมุติว่าไปไม่ไหว ไม่มีทุนบริจาค ก็จะทำอยู่ 2 ทางคือปิดตัวเองเลิกทำ และอีกทางคือขายรถจักรไอน้ำซึ่งเป็นของลุงตุ้ยโดยกฎหมาย คือ "รถจักรหมายเลข 10089" ที่เรียกว่า "รถดุ๊บ" ซึ่งอยู่นอกเหนือกฎหมายยุทธภัณฑ์ ที่สำคัญเป็น "รถจักรไอน้ำคันสุดท้ายของประเทศไทย"
 

          "คันนี้ผมคิดว่ายังวิ่งได้อยู่นะ เพราะมันไม่เคยวิ่งเลย คือตอนนั้นเอกชนเขาขอสัมปทาน ซื้อมาเพื่อวิ่ง แต่พอรถมาถึงรัฐกลับยกเลิกรถจักรไอน้ำ คันนี้มันก็เลยเป็นคันค้างสต๊อก ไม่เคยวิ่งเลย คันนี้ผมตั้งไว้ 20 ล้านบาท ซึ่ง 20 ล้านนี่ไม่ใช่ราคารถจักรนะ แต่ผมอยากได้เงินมาซ่อมแซมหอแห่งนี้ แล้วจัดทำเป็นมูลนิธิ หาคนมาสานต่อจากผม คืออยากทำให้หอแห่งนี้เดินไปข้างหน้าได้ แม้ในวันที่ผมไม่อยู่แล้ว แม้จะเสียดาย แต่ก็ต้องทำ"




ข้อมูลและภาพประกอบจาก
 
โดย : ศิริโรจน์ ศิริแพทย์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รางชีวิต ผู้ชายหัวใจรถไฟ อัปเดตล่าสุด 8 กรกฎาคม 2551 เวลา 13:56:13 10,315 อ่าน
TOP
x close