x close

เหยื่อ....แชร์ลูกโซ่ เรื่องไม่เข็ดของคนไทย



           เพราะพิษน้ำมันแพง ราคาข้าวของเครื่องใช้ที่ถีบตัวแพงขึ้นมาก มนุษย์เงินเดือนที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องประหยัดกินประหยัดใช้เท่าที่จำเป็น หลายคนต้องหารายได้เพิ่ม ยอมเอาเงินออมมาลงทุนเพื่อความอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน 

           นั่นกลับเป็นช่องทางให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง ฉวยโอกาสหลอกลวงเอาเงินทองจากความไม่รู้ ชั้นเชิงการทำธุรกิจอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการหลอกล่อด้วยแผนการตลาดที่ลงทุนน้อย กำไรงาม ยิ่งลงทุนมากก็ยิ่งได้มาก กำไรเกิน 100% ซึ่งการทำธุรกิจโดยปกติทำไม่ได้ ทำให้หลายคนกลายเป็น "เหยื่อ" ในที่สุด และถึงแม้เหยื่อหลายคนจะมีฐานะดี แต่เมื่อมีผลตอบแทนล่อใจจึงกลายเป็นเหยื่อจากความโลภ และ "ไม่เข็ด" 

           พ.อ. ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชา การสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า แชร์ลูกโซ่ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย แต่ได้พัฒนารูปแบบวิธีการที่หลากหลายมากขึ้น โดยจับจุดที่ความ "อยากมี-อยากได้" ของกลุ่มเป้าหมายซึ่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะงานขายตรงหรือชวนลงทุน แล้วกระตุ้นด้วยกลยุทธ์การตลาด ทั้งจัดงาน แจกรางวัล หรือไปเที่ยวต่างประเทศ จากการชักชวนกันปากต่อปากสร้างความน่าเชื่อถือ จึงมีคนจำนวนมากหลงตกเป็นเหยื่อจากการเข้าเป็นสมาชิก หรือร่วมลงทุนกับมิจฉาชีพเหล่านี้ และนับวันก็จะสร้างความเสียหายเพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านจำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อและมูลค่าทรัพย์สิน 

           ตั้งแต่กลางปี 2550 จนถึงปัจจุบันมีผู้เสียหายคดีแชร์ลูกโซ่ร้องเรียนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นจำนวนมาก ทั้งแชร์ข้าวสาร แชร์ก๋วยเตี๋ยว แชร์ยางพารา แชร์น้ำมัน แชร์รถยนต์ แชร์พวงมาลัย แชร์จานดาวเทียม แชร์การท่องเที่ยว แชร์ลอตเตอรี่ และที่ร้ายกว่านั้น ปัจจุบันยังมีลักษณะหลอกลวงให้สมัครเข้าทำงาน เมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็ถูกบังคับเรียกเก็บค่าสมัคร และบังคับให้ลงทุนซื้อสินค้าและหาสมาชิก ซึ่งทั้งหมดเป็นคดีพิเศษที่บางคดีขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล

           พ.อ. ปิยะวัฒก์ ยังได้ยกตัวอย่างแชร์ข้าวสาร โดยเริ่มจากบริษัทอีซี่เน็ตเวิร์ค มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแชร์ข้าวสารที่จังหวัดเชียงใหม่หลายราย คือ บริษัทโกลเด้น กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทร่วมทุนค้าปลีก จำกัด และบริษัทสมคิดธุรกิจ จำกัด ที่ต่อ ยอดคิดแผนการตลาดให้ผลตอบแทนที่สั้นกว่า เช่น บ.อีซี่ฯ มีรอบการจ่ายผลตอบแทน 3 เดือน 6 เดือน แต่รายใหม่นี้แค่ 25-30 วันก็ได้แล้ว คนจึงทุ่มลงทุน สินค้ามีทั้งข้าวสารและสมุนไพร ทำให้มีผู้เสียหายหลายพันคน ทั้งชาวไทยและชาวเขา รวมวงเงินหลายร้อยล้านบาท และแชร์ข้าวสารก็ยังเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น บริษัทมาโชว์แมน จำกัด ที่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คนที่ถูกหลอกส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และชาวบ้านที่มีรายได้น้อย โดยแพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศ

           แต่ที่น่ากลัวและมีแนวโน้มที่อาชญากรจะนำไปใช้เป็นช่องทางหลอกลวงได้ง่ายก็คือ การชักชวนให้ลงทุนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตภายใต้เว็บไซต์ www.colonyinvest.net และ www.colonyinvest.com ซึ่งหากลงทุน 1,000 เหรียญ หรือ 38,000 บาท ได้รับเงินคืน 1,020 บาท/วัน 33 วันได้ทุนคืน เมื่อครบ 100 วัน จะได้คืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 3,000 เหรียญ หรือ 114,000 บาท ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่สูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินกำหนด และมีอีกหลายเว็บไซต์ที่มีการหลอกลวงในลักษณะนี้ 

           "การหลอกลวงในลักษณะแชร์ลูกโซ่ จะเน้นกลยุทธ์การตลาดและผลตอบแทนที่สูงเกินจริงมาล่อ ข้อสังเกตง่าย ๆ สำหรับประชาชนทั่วไปคือ ในทางการค้าตามปกติแล้วจะไม่มีการประกอบธุรกิจใดโดยชอบด้วยกฎหมายที่สามารถทำกำไรได้เกิน 20% ฉะนั้นใครก็ตามที่มาบอกว่า จะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก ๆ ในระยะเวลาอันสั้นจึงเป็นไปไม่ได้ และส่วนใหญ่บริษัทที่หลอกลวงมักไม่ได้แจ้งจดทะเบียนกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือมักจะดำเนินธุรกิจไม่ตรงตามแผนการตลาดที่ได้แจ้งไว้" 

           พ.อ.ปิยะวัฒก์ กล่าวว่า จากการตรวจพบบางคดีมีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนนับล้านคน และมีมูลค่าความเสียหายมหาศาล หากข้อมูลที่พบจากระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทเหล่านั้นเป็นจริง "แชร์ลูกโซ่" จึงเป็นมหันตภัยร้ายแรงที่จะเข้ามาคุกคามซ้ำเติมประชาชนในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลที่มีคือการเกิดของแชร์ลูกโซ่ในอดีตจะเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจเช่นเดียวกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน

          ดีเอสไอยังแนะอีกว่า ก่อนการลงทุนควรศึกษาและคิดให้รอบคอบก่อน และถ้าลงทุนก็ควรลงทุนในกิจการของรัฐจะปลอดภัยกว่า.


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมสอบสวนคดีพิเศษ

ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เหยื่อ....แชร์ลูกโซ่ เรื่องไม่เข็ดของคนไทย โพสต์เมื่อ 3 กรกฎาคม 2551 เวลา 15:53:12 5,736 อ่าน
TOP