x close

โลกร้อนตัวการ ภัยพิบัติรุนแรง

โลกร้อน


         หลังจากที่ทั่วโลกต้องประสบกับภัยพิบัติจากธรรมชาตินานัปการ ทั้งฝนตก พายุถล่ม น้ำท่วมสูง ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่าน่าจะเกิดมาจากภาวะโลกร้อน ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ก.ค. นายพิจิตต รัตตกุล ผอ.องค์กรระหว่างประเทศ ว่าด้วยภัยพิบัติแห่งทวีปเอเชีย (เอดีพีซี) เปิดเผยว่า จากการที่เอดีพีซีได้ใช้เครื่องมือทันสมัยติดตามและเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในภูมิภาคเอเชีย โดยได้ ดำเนินการร่วมมือกับกรมอุตุนิยมวิทยาของ 12 ประเทศ ได้ค้นพบเบื้องต้นว่า แบบแผนของพายุนานาประเภทและสภาพอากาศรุนแรง กำลังถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะผลของสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น อันได้แก่ตัวอย่าง เช่น การค้นพบว่าพายุไซโคลนในอ่าวเบงกอล ตอนใต้ ของพม่า ซึ่งมักจะมาในเดือนมิถุนายนนั้น ปรากฏว่าบัดนี้ทิศทางของการขึ้นบกของพายุไซโคลนจากอ่าวเบงกอลเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น ในอดีตกรณีพายุไซโคลนในอ่าวเบงกอลมักขึ้นฝั่งที่บังกลาเทศ ซึ่งเคยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 3 แสนคน ในปี พ.ศ.2513 มาในปัจจุบันพายุไซโคลนนาร์กีสได้ปรับเปลี่ยนทิศทาง ไปขึ้นฝั่งที่บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำอิระวดี ประเทศพม่า ซึ่งชุมชนยังมีการเตรียมรับมือน้อย ความสูญเสียจึงเกิดขึ้นอย่างรุนแรง

         นายพิจิตตกล่าวอีกว่า สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทิศทาง และความรุนแรงของพายุไซโคลนไปจากเดิมนั้น กรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศพม่า ได้ประชุมหารือกับเอดีพีซี และได้มีข้อประเมินเบื้องต้น นับเป็นหลักฐานที่สำคัญประการแรกว่า อุณหภูมิของน้ำทะเล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการก่อเกิดภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่ตรวจพบบริเวณเกาะทางพม่าในอ่าวเบงกอล ทิศตะวันตกของพังงา ด้านมหาสมุทรอินเดีย มีอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นเกือบ 5 เปอร์เซ็นต์ ของอุณหภูมิเฉลี่ยดั้งเดิม ดังนั้น โอกาสการก่อตัวของพายุรุนแรงในบริเวณดังกล่าวจึงเพิ่มขึ้น

         สาเหตุประการที่ 2 กลุ่มมรสุมที่มักจะก่อตัวขึ้นในช่วงเริ่มต้นของฤดูมรสุมในอ่าวเบงกอลนั้น จะเลื่อนมาทางตอนใต้จาก 20 องศาเหนือ มาเป็นที่ 10 องศาเหนือ ใกล้ชายฝั่งลุ่มน้ำอิระวดี

         "จากเหตุผลทั้งสองที่กล่าวมานี้ จะทำให้ทิศทางความรุนแรงและความถี่ของพายุไซโคลนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และจะกระทบกับประเทศพม่ามากขึ้น" นายพิจิตตกล่าว

         ผอ.เอดีพีซีกล่าวอีกว่า ส่วนในประเทศไทยนั้น ขณะนี้ เอดีพีซีกำลังแลกเปลี่ยนข้อมูลของภูมิภาคกับกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย เพื่อให้กรมอุตุฯไทยนำข้อมูลภูมิภาคดังกล่าวไปประมวลกับข้อมูลของไทย เพื่อนำไปใช้ ในการพยากรณ์และเตือนภัยให้กับประเทศไทยในอนาคต

         นายพิจิตตยังได้สรุปว่า การค้นพบดังกล่าวถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ให้ความชัดเจนว่า ภาวะโลกร้อนมีผลทำให้เกิดอุบัติภัยแน่นอน ซึ่งเอดีพีซีเพิ่งได้รับมอบหมายจากองค์การสหประชาชาติ ให้ทำโครงการนำร่องใน 4 ประเทศจาก 4 ทวีป ที่จะนำไปสู่การวางแผนความปลอดภัยของชีวิตในการรับมืออุบัติภัย อันเนื่องมาจากสภาวะอากาศรุนแรง วางแผนการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวพืชอาหาร ที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะอากาศรุนแรง ซึ่งจะนำไปสู่ ภาวะโลกขาดแคลนอาหารได้ในที่สุด  และวางแผน โยธาธิการเพื่อการก่อสร้าง และการระบายน้ำในชุมชนเมืองและพื้นที่เสี่ยงภัยจากดินถล่มในเขตภูมิภาค



ข้อมูลจาก

ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โลกร้อนตัวการ ภัยพิบัติรุนแรง อัปเดตล่าสุด 14 กรกฎาคม 2551 เวลา 14:59:36 12,008 อ่าน
TOP