x close

การปฏิวัติประชาธิปไตย โดยคนไทยทั้งมวล

นพ.ประเวศ วะสี


ประเวศเสนอดุปฏิวัติโดยประชาชน

          "ประเวศ" เสนอหนทางผ่าทางตันการเมือง "ปฏิวัติประชาธิปไตยโดยคนไทยทั้งมวล" ไม่นองเลือดไม่ทำให้คนตาย แต่หากไม่ทำ "มิคสัญญีกลียุค" แน่ เผยมีหลักการ 9 ข้อ

          เริ่มที่จิตสำนึก กระจายอำนาจ สื่อ ภาคประชาชน "คุณภาพนักการเมือง" ทำยากสุด แค่ข้ามคืนคำพูดนายกฯ ไหลลงโถส้วมเหมือนกดชักโครกซะแล้ว เลิกแนวคิด "ยานเกราะเอ็นบีที" เปลี่ยนไปให้ "พีทีวี" เสียบรายการแทนเลย "กองทัพ-ปชป." บี้คดีดา ตอร์ปิโด

          เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้เขียนบทความเรื่อง การปฏิวัติประชาธิปไตยโดยคนไทยทั้งมวล โดยระบุว่า ประเทศไทยพยายามเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แต่ไม่สำเร็จ เพราะทำกันแต่รูปแบบ ไม่ได้ปฏิวัติจิตสำนึกประชาธิปไตย ทำให้ปัจจุบันการเมืองไทยเกิดวิกฤติ เพราะเต็มไปด้วยตัณหา มานะ ทิฐิ

          "การเลือกตั้งก็กลายเป็นเพียงเครื่องมือ ที่กลุ่มคนที่มีจิตสำนึกอันคับแคบใช้ในการเข้าไปสู่การยึดกุมอำนาจรัฐรวมศูนย์ ความไม่เป็นธรรมจึงเกิดขึ้นทั่วไป บ้านเมืองระส่ำระสาย แก้ปัญหาไม่ได้ ขัดแย้ง แตกแยก และเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงนองเลือด เคลื่อนเข้าสู่มิคสัญญีกลียุคมากขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องมีปฏิวัติประชาธิปไตย" นพ.ประเวศ ระบุ

          ราษฎรอาวุโสผู้นี้อธิบายความต่อว่า การปฏิวัติดังกล่าวทำโดยคนไทยทั้งมวล ไม่ใช่โดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ซึ่งการปฏิวัติก็จะเป็นไปด้วยสันติวิธี เพราะความรุนแรงอาจไม่ใช่การปฏิวัติ แต่สันติวิธีก็เป็นการปฏิวัติได้ ถ้าเปลี่ยนจิตสำนึก วิธีคิด ระบบคุณค่า และระบบการปกครอง เพราะคนไทยและประเทศไทยลำบากมามากพอแล้ว จึงถึงเวลาที่คนไทยทั้งมวลทุกหมู่เหล่า ทุกองค์กร ทุกสถาบัน จะรวมตัวกันปฏิวัติประชาธิปไตย

          สำหรับหลักการปฏิวัติประชาธิปไตยประกอบด้วย 9 ข้อ คือ 

           1. ปฏิวัติจิตสำนึกประชาธิปไตย ที่เคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เคารพประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งจิตสำนึกประชาธิปไตยเป็นรากฐานของประชาธิปไตย

           2. การกระจายอำนาจอย่างทั่วถึง เพราะประชาธิปไตยคือการกระจายอำนาจ เผด็จการคือการรวมศูนย์อำนาจ โดยการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น จะช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ด้วย

           3. สิทธิในการสื่อสารโดยประชาชน เพราะปัจจุบันประชาชนตกเป็นผู้รับสารที่สื่อมาจากภาครัฐและธุรกิจ อำนาจรัฐและอำนาจเงินกำหนดการรับรู้ของประชาชน ประชาชนจึงต้องเป็นผู้สื่อสารเองโดยทุกๆ ทาง ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต สิ่งพิมพ์ โดยสิ่งที่ด่วนที่สุดคือการสร้างเครือข่ายวิทยุชุมชนที่ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้สื่อ ซึ่งการมีระบบสื่อสารโดยประชาชนอย่างทั่วถึง จะเป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคม พื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง 

           4. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจ ทางนโยบายในโครงการพัฒนา และในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 87 คือการเมืองภาคพลเมือง โดยการมีสภาผู้นำชุมชน หรือสภาประชาชน และภาครัฐจะต้องนำข้อเสนอแนะ หรือเข้าร่วมรับฟังปัญหาต่างๆ ด้วย

           5. ระบบความยุติธรรมที่อิสระและเข้มแข็ง โดยทุกฝ่ายในสังคมต้องสนับสนุนค้ำจุนให้ระบบความยุติธรรมมีความเป็นอิสระ มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ 

           6. เสรีภาพของสื่อมวลชน 

           7. กลไกการตรวจสอบและการคานอำนาจฝ่ายบริหาร ซึ่งควรมีการบัญญัติการได้มาซึ่งกรรมการให้รัดกุมมากขึ้น โดยผู้รู้จริงต้องเข้ามาช่วยกันวางระบบเพื่อเอาผิดผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการเมืองภาคพลเมืองที่เข้มแข็งจะช่วยให้การทำงานขององค์กรอิสระได้ผลยิ่งขึ้น และควรมีผู้รู้รวมกันเป็น ป.ป.ช. ภาคประชาชน

           8. คุณภาพของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นปัญหามากที่สุด เพราะอิทธิพลของเงินขนาดใหญ่ หรือธนกิจการเมืองเป็นปัจจัยทำลายระบบการเมืองมากที่สุด จึงต้องหาทางขจัดอำนาจเงินที่เข้ามาสู่การเลือกตั้งทุกวิถีทาง และต้องไม่ให้อำนาจที่ได้มาจาการเลือกตั้งเป็นอำนาจเดี่ยวและเป็นอำนาจที่ไม่รับผิดชอบ เราจะต้องเลิกแนวคิดที่ว่าเป็นสิทธิของนักการเมืองที่จะดำรงตำแหน่งหรือให้ใครดำรงตำแหน่งก็ได้ ต้องปฏิวัติความคิดตรงนี้ใหม่ว่าเป็นสิทธิของประเทศที่จะได้คนดีที่สุดมาบริหารประเทศ ซึ่งคุณภาพของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังเป็นเรื่องที่ต้องการการพัฒนาอีกมาก

           9. การเมืองภาคประชาชน โดยเฉพาะเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถือเป็นเครื่องมือที่ให้การศึกษาทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน แม้พันธมิตรฯ อาจผิดบ้างถูกบ้าง แต่ภาพใหญ่คือการให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน ซึ่งการปฏิวัติประชาธิปไตยจะเป็นไปได้ต่อเมื่อประชาชนมีจิตสำนึกและมีการศึกษาทางการเมืองโดยมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง และเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการปฏิวัติประชาธิปไตย จึงควรทำให้การเมืองภาคประชาชนมีความเป็นสถาบัน เป็นที่ยอมรับของสังคม

          "การคิดชอบ พูดชอบ ทำชอบ แสวงหาความรู้ และให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สังคม ต้องไม่เข้าไปสู่การมีอำนาจเสียเอง แต่เป็นผู้กำกับให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจอย่างถูกต้องเป็นธรรม เหมือนกรรมการมวย ต้องไม่เข้าไปชกแทนนักมวย ซึ่งการต่อสู้ทางการเมืองดำเนินมานานพอสมควรจนบ้านเมืองบอบช้ำและไม่สามารถหาจุดลงตัวได้ เกิดสภาวะเสี่ยงมิคสัญญีกลียุค คนไทยทั้งมวลทุกหมู่เหล่า องค์กร และสถาบัน ทั้งนักวิชาการ ทหาร และพลเรือน ตลอดจนพรรคการเมืองต่างๆ ควรหันมาร่วมกันปฏิวัติประชาธิปไตย ที่เป็นการปฏิวัติด้วยสันติวิธี ไม่มีใครตาย การเมืองจึงจะไปสู่จุดลงตัวใหม่ เป็นปัจจัยให้ประเทศไทยเกิดความเจริญอย่างแท้จริงและมีศานติสุข" นพ.ประเวศ ระบุทิ้งท้าย



ข้อมูลจาก

ภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การปฏิวัติประชาธิปไตย โดยคนไทยทั้งมวล อัปเดตล่าสุด 22 กรกฎาคม 2551 เวลา 11:24:57 5,827 อ่าน
TOP