x close

นักสู้กู้เขมร เตีย บัญ เชื้อสายไทยเกาะกง

เตีย บัญ



          ...สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ หลีกเลี่ยงสงคราม เพราะสงครามคือ อสุรกายแห่งการประหัตประหารที่น่ากลัวที่สุดของมนุษย์...

          ถ้อยคำนี้เป็นของ พล.อ.เตีย บัญ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา ผู้มีบทบาทอย่างสูง ในการเจรจาเพื่อหาข้อยุติเรื่องพื้นที่เขาพระวิหารระหว่างไทยกัมพูชา กับฝ่ายไทยซึ่งนำโดย พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2551 ที่โรงแรมอินโดจีน จังหวัดสระแก้ว 

          การเจรจาแม้จะไม่สมวาดหวัง แต่ก็ฉายภาพอะไรหลายอย่าง ระหว่างชาวไทยกับกัมพูชา 

          เหตุที่ไม่บรรลุข้อตกลง ทั้งที่ใช้เวลานานถึง 8 ชั่วโมง เป็นที่ทราบกันว่า "ใครยอมใครไม่ได้ เพราะเราถือแผนที่คนละฉบับ" พล.อ.บุญสร้างแจกแจงในวงแถลงข่าว 

          ส่วน พล.อ.เตีย บัญ บอกว่า "เป็นเรื่องสุดวิสัยที่จะหาทางออกในเรื่องนี้ได้ เราจะต้องไปตามทางที่เราควรไป" ส่วนความรุนแรงนั้น พล.อ.เตีย บัญ บอกว่า "เชื่อว่าจะไม่มีความรุนแรง หรือการเผชิญหน้ากันระหว่างสองประเทศ"

          เสียงภาคภาษาไทยของ พล.อ.เตีย บัญ นั้นดัง และฟังชัด ผู้สื่อข่าวฉบับใด สายใด แม้ไม่มีพื้นความรู้ภาษาเขมรเลย ก็สามารถฟังและเข้าใจได้เป็นอย่างดี เพราะท่านพูดเป็นภาษาไทยให้คนไทยฟัง

          หลังการแถลงข่าวมีเสียงชื่นชม พล.อ.เตีย บัญ จากคนไทยว่า พูดภาษาไทยได้ชัดถ้อยชัดคำเหลือเกิน คนไทยบางคน...ได้ฟังแล้วยังต้องยอมรับว่า พูดภาษาไทยได้ดีไม่เท่า พล.อ.จากประเทศกัมพูชา

          จริงๆ แล้วคนกัมพูชาที่พูดภาษาไทยชัดเจน และเป็นคนใหญ่คนโตของกัมพูชาหาได้มีเพียง เตีย บัญ เท่านั้น แต่ยังมี ใส ภูทอง ผู้มีบทบาทเป็นอย่างสูงในพรรคประชาชนกัมพูชาของ สมเด็จฮุน เซน และยังมี จา เรียง หรือกำนันเง้า ผู้ว่าการธนาคารกัมพูชาอีก 1 คน 

          บุคคลที่ทั้ง 3 แท้จริงเป็นคนกัมพูชา เชื้อสายไทย

          รุ่งมณี เมฆโสภณ บอกไว้ในหนังสือ คนสองแผ่นดินว่า บ้านเกิดของคนทั้ง 3 อยู่ที่จังหวัดปัจจันตคิรีเขตร ชื่อจังหวัดนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระบรมราชโองการประกาศขนานนามเมื่อ พ.ศ.2398 เพื่อให้พ้องกับชื่อจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

          จังหวัดปัจจันตคิรีเขตร...ปัจจุบันชื่อเกาะกง

          สาเหตุที่ต้องกลายเป็นของกัมพูชาไปเพราะว่า แรงบีบของนักล่าอาณานิคมจากแดนไกลชื่อ ฝรั่งเศส สยามต้องลงนามในพิธีสารฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2447 ส่วนการมอบจังหวัดปัจจันตคิรีเขตรให้ฝรั่งเศสนั้น อยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          เมื่อแผ่นดินเป็นของฝรั่งเศส ชาวเกาะกงที่ทำมาหากินอยู่และไม่ เคลื่อนย้ายออกก็ตกเป็นของฝรั่งเศสไปโดยปริยาย เมื่อกัมพูชาได้เอกราชจากฝรั่งเศส ชาวเกาะกงจึงกลายเป็นชาวกัมพูชาไปอย่างสมบูรณ์

          พล.อ.เตีย บัญ ก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน ชื่อของ พล.อ.เตีย บัญ ที่เรียกขานกันนั้น เจ้าของชื่อบอกว่า "ชื่อจริงผมคือ สังวาลย์" ส่วนชื่อใหม่ เตีย บัญ คำว่า เตีย มาจากแซ่ของก๋ง แซ่เตีย คำว่า "บันห์" ที่เรียกขานกันนั้น จริงๆ ต้องเขียนว่า บัญ ในภาษาเขมร บัญ แปลว่า ยิง 

เส้นทางชีวิต เตีย บัญ ยอกย้อนยาวไกล


          เดิมเป็นลูกชาวนาเกิดที่เกาะกงเมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2488 พ่อตายตั้งแต่เด็กๆ แม่ทำนาเลี้ยงครอบครัว รายได้น้อยมาก ผลผลิตแต่ละปีพอเลี้ยงชีพได้ครึ่งปี อีกครึ่งปีหลังต้องออกรับจ้างมาเลี้ยงชีพ สภาพการณ์ เช่นนี้นอกจากครอบครัวของเตีย บัญ แล้ว ชาวบ้านอื่นๆ ไม่น้อยอยู่ในลักษณะเดียวกัน 

          การศึกษาจบแค่ชั้น ป. 4 ที่เกาะกง สาเหตุเหมือนเพื่อนๆ บ้านคือฐานะ ทางบ้านไม่เอื้อ แม่ต้องหาเช้ากินค่ำ ทำให้ลูกๆ ต้องออกมาต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดไปวันๆ

สมัยเด็กๆ เตีย บัญ ฝันอยากเป็นทหาร 

          สาเหตุที่มาเป็นทหาร เพราะถูกกดขี่จากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนนั้นอายุ 63 ต้องการบังคับน้องของเตีย บัญอายุเพียง 13 ปี ไปเป็นเมีย แต่เตีย บัญ ไม่ยอม นี่เป็นแรงกดดันแรกๆ เพราะเป็นคนไม่ยอมคน เมื่อเติบโตขึ้น ข้าราชการสมัยนั้นยัดเยียดข้อหาว่าเป็นพวกหัวแข็ง ชอบซ่องสุมผู้คนเอาไว้ไม่ได้ แล้วก็ส่งคนมาเก็บ

          เหตุการณ์ครั้งนั้น เตีย บัญ เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารแพรว ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ.2536 ไว้ว่า...

          "ถูกจับตากแดด ไม่ให้กินอาหารสี่วันสี่คืน ขีดวงเอาไว้ ห้ามเราออกมาทำนองว่าเป็นเด็กปากเสีย จำได้ว่ารอดตายเพราะกินน้ำหล่อเลี้ยงไว้ แต่พอพ้นออกมา กินข้าวไปได้สามคำ เราก็สลบไปเลย"

          เวลานั้นเตีย บัญ อายุเพียง 16 ปี หลังเหตุการณ์นั้น เตีย บัญ อาสาเป็นครูอยู่ในหมู่บ้าน เพราะเห็นว่าคนไม่มีการศึกษาถูกกดขี่ และยังรวบรวมผู้คนช่วยเหลือคนที่โดนกดขี่ข่มเหง เมื่อทหารรู้เข้าก็มาจับอีก แต่พระมาบิณฑบาตไว้ได้ทัน จึงรอดมาได้ 

          เตีย บัญ เล่าต่อว่า ต่อมาช่วงอายุ 17-18 ทหารรู้ว่าตนและพรรคพวกซ่องสุมผู้คน เมื่อหาหลักฐานไม่ได้ก็สั่งฆ่า "เขาไปคุมตัวเราจากบ้าน แล้วพาตัวเข้าไปในป่า ตั้งใจว่าจะยิงเป้าในระยะที่ห่างไกล ไม่ให้ผู้คนได้ยินแล้วฝังเสีย ไม่ให้เหลือหลักฐาน ทหารก็มีประมาณ 7 คน คุมพวกเราไป 3 คน"

เหตุการณ์ครั้งนี้เองเป็นที่มาจากคำว่า บัญ

          เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อทหารนำเตีย บัญ และเพื่อนอีก 2 คนไปยิงทิ้ง เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2508 ขณะทหารลั่นไก เตีย บัญ หลับตา คิดว่าอย่างไรก็ตายแน่นอน ปรากฏว่าเลือดเพื่อนๆ ไหลมาเปื้อนตัว และล้มลงไปด้วยกัน
เมื่อได้ยินเสียงทหารพูดกัน จึงลองขยับตัวดูแล้วรู้ว่ายังไม่ตาย เมื่อทหารคนหนึ่งหันมาเห็นหน้าเข้า แล้วรีบไปหยิบปืนมายิงซ้ำ แต่ปืนกลับด้าน สร้างความตกใจให้ทหารเป็นอันมาก ระหว่างนั้นเตีย บัญ จึงวิ่งหนีเข้าป่า 

          บัญ ภาษาเขมร แปลว่า ยิง เมื่อลูกผู้ชายสกุล เตีย ถูกยิงแล้วไม่ตาย...ชื่อเตีย บัญ เรียกขานกันมาจากประวัติช่วงนี้เอง

          ต่อมาเตีย บัญ เข้าร่วมกับเขมรแดงต่อต้านรัฐบาล แต่ไม่นานเขมรแดงเกิดไม่ไว้ใจจึงสั่งเก็บ ต้องหนีเข้าไทย เมื่อกลับไปอีกครั้ง ก็เข้าร่วมกับกองทัพเฮงสัมริน ก่อนเข้ามาปลดปล่อยเขมร จากกองทัพเขมรแดงของพลพต

         ชีวิตชายชาติทหาร เตีย บัญ บอกว่าช่วงใช้ชีวิตในป่ากับระเบิดน่ากลัวมาก ที่รอดมาได้นอกจากดวงแล้ว ยังมีวิธีเอาตัวรอดคือ พยายามรวบขากางเกงและแขนเสื้อให้สั้น ไม่ให้รุ่มร่ามไปเกี่ยวกับกิ่งไม้ หรือสิ่งกีดขวางใดๆ เข้าเพราะสิ่งเหล่านั้น บางทีเป็นเส้นสายที่เกาะเกี่ยวอยู่กับกับระเบิด 

          ระหว่างเคลื่อนไหวอยู่ชายแดนเวียดนาม ได้พบกับ ฮุน เซน ซึ่งเป็นหัวหอกคนหนึ่งของกัมพูชา ทำให้เตีย บัญ แนบแน่นกับสมเด็จฮุน เซน เสมอมาจวบจนปัจจุบัน และยังได้รับความไว้วางใจ ให้มาเจรจากับคณะของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย

          ความจริงความสัมพันธ์ไทยและกัมพูชามีความแนบแน่นกันมาแต่บรรพกาล ไม่ว่าจะลงลึกในด้านใด มักพบสร้อยสัมพันธ์ที่เคยร่วมกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่น่าเชื่อว่า เส้นสมมติที่ขีดขึ้นโดยนักล่าอาณานิคมจากแดนไกล จักทำให้กระเทือนใจระหว่างกันได้.


ข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักสู้กู้เขมร เตีย บัญ เชื้อสายไทยเกาะกง อัปเดตล่าสุด 24 กรกฎาคม 2551 เวลา 15:39:37 14,113 อ่าน
TOP