x close

6 ข้อกังวลของ สุรเกียรติ์ ต่อการทูตเชิงรุกกัมพูชา

สุรเกียรติ์ เสถียรไทย


6 ข้อกังวลของ "สุรเกียรติ์" ต่อการทูตเชิงรุกกัมพูชา "วางหลุมพราง" กม.ชิงได้เปรียบ

          นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เขียนบทความเรื่อง "ข้อกังวลต่อการทูตเชิงรุกของกัมพูชา" กรณีเรื่องเขาพระวิหาร ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจ

          นับตั้งแต่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 32 ได้มีมติให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นมา ประเด็นปราสาทพระวิหารและเขตพื้นที่ที่อ้างอธิปไตยทับซ้อนกัน 4.6 ตารางกิโลเมตร ก็กลายเป็นประเด็นปัญหาทางการเมืองและกฎหมายระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

          ในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานด้านการต่างประเทศมา ผมเห็นว่าขณะนี้กัมพูชาได้ดำเนินการเชิงรุกทางการทูตที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ทั้งทางด้านการเมืองระหว่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ แม้หลายฝ่ายในไทยมีเจตนาและความตั้งใจดีที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศ แต่ผมเห็นว่ามีประเด็นที่น่าห่วงใยเป็นอย่างยิ่งที่อธิปไตยของไทยอาจจะถูกกระทบอย่างมาก ดังนี้

           ประการแรก ผมเห็นว่ามติของคณะกรรมการมรดกโลก ข้อ 14 ที่ระบุ "ให้รัฐภาคีกัมพูชาโดยการประสานงานกับยูเนสโก จัดการประชุมคณะกรรมการประสานระหว่างประเทศเพื่อรักษาและพัฒนาทรัพย์สิน (property) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 โดยให้เชิญผู้แทนจากรัฐบาลไทยและหุ้นส่วนระหว่างประเทศอื่นที่เหมาะสมอีกไม่เกิน 7 ประเทศ เพื่อตรวจสอบนโยบายทั่วไปเกี่ยวกับการรักษาคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของทรัพย์สิน (property) โดยสอดคล้องกับมาตรฐานการอนุรักษ์สากล" นั้นมีความไม่ชัดเจนในหลายประการและอาจมีผลกระทบต่อสิทธิต่างๆ โดยชอบของไทยได้

          เนื่องจากในมติข้อ 14 นั้น คำว่า "ทรัพย์สิน"  นั้นมีความหมายที่ไม่ชัดเจน อาจตีความหมายได้มากกว่าตัวปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้รับการขึ้นทะเบียนก็ได้ เพราะหากพิจารณามติในข้อ 15 เอ ได้กล่าวถึงตัวปราสาทพระวิหารโดยใช้คำว่า "ทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียน (the inscribed property)" และข้อ 15 ซี ได้ใช้คำว่า "พื้นที่บริหารจัดการของทรัพย์สิน (management zone for the property)" ที่มีความหมายกว้างขวางกว่าคำว่า "ทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียน"

          อีกทั้งมติข้อ 15 เอและซี ยังกำหนดให้กัมพูชาเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นแผนที่ชั่วคราว (provisional map) ซึ่งไม่ใช่แผนผัง (lay out) เพื่อให้รายละเอียดเพิ่มเติมของทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียน รวมทั้งแผนที่ (map) กำหนดขอบเขตของเขตกันชนที่ระบุไว้ใน RGPP และต้องเสนอคำยืนยันว่าพื้นที่บริหารจัดการของทรัพย์สินจะรวมทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนและเขตกันชนที่ระบุใน RGPP

          นอกจากนี้การที่มติข้อ 14 ใช้คำว่า "มาตรฐานการอนุรักษ์สากล" ยังมีความไม่ชัดเจนว่าหมายถึงมาตรฐานใด การอนุรักษ์นั้นจะจำกัดขอบเขตเฉพาะทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียน คือ ตัวปราสาทพระวิหาร หรือสามารถครอบคลุมถึงทรัพย์สินโดยรอบ หรือกินความถึงภูมิทัศน์โดยรอบตัวปราสาทเพราะเกณฑ์ในการพิจารณาความเป็นมรดกโลกนั้น มิได้จำกัดเฉพาะตัวสถานที่ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างเท่านั้น หากแต่ยังครอบคลุมถึงสิ่งก่อสร้างบริเวณโดยรอบทรัพย์สินที่ขอขึ้นทะเบียน และครอบคลุมถึงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบทรัพย์สินที่ขอขึ้นทะเบียนด้วย (เพียงแต่กรณีปราสาทพระวิหารนั้นพิจารณาขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเท่านั้น แต่สิ่งก่อสร้างและภูมิทัศน์มิได้รับการขึ้นทะเบียนเพราะยังมีประเด็นพิพาท ซึ่งมิได้หมายความว่าคณะกรรมการมรดกโลกจะมิได้ให้ความสำคัญกับคุณค่าของสิ่งก่อสร้างและภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหาร)

          ดังนั้นประเด็นมีอยู่ว่าการที่คณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติให้กัมพูชาเชิญผู้แทนของประเทศต่างๆ อีกไม่เกิน 7 ประเทศ เข้าร่วมเพื่อตรวจสอบนโยบายทั่วไปเกี่ยวกับการรักษาคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของทรัพย์สิน แม้จะดูเป็นเรื่องมรดกโลก แต่น่าห่วงใยว่าจะมีผลกระทบต่อน้ำหนักของข้อเรียกร้องอธิปไตยของไทยเหนือพื้นที่ทับซ้อนหรือไม่เพียงใด และอาจเป็นการตอกย้ำว่าพื้นที่บางส่วนในพื้นที่ทับซ้อนนั้นอาจตกเป็นส่วนหนึ่งของ "พื้นที่บริหารจัดการทรัพย์สิน" ซึ่งตกอยู่ภายใต้อำนาจการบริหารจัดการของกัมพูชาหรือไม่ ทั้งนี้หากฝ่ายไทยเข้าร่วมในการประชุมคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศก็อาจเป็นการยอมรับการถูกรอนสิทธิอธิปไตยเหนือพื้นที่บริหารจัดการทรัพย์สิน แต่หากไม่เข้าร่วมก็อาจเสียสิทธิอธิปไตยในพื้นที่ดังกล่าว เพราะอาจถูกมองว่าเพิกเฉยหรือละเลยต่อการปกป้องรักษาสิทธิในพื้นที่ดังกล่าว

           ประการที่ 2 การที่เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรกัมพูชาประจำสหประชาชาติได้มีหนังสือลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2551 ถึงประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อขอให้ประธานคณะมนตรีความมั่นคงฯ แจ้งเวียนหนังสือฉบับดังกล่าวไปยังสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงฯ ทุกประเทศ โดยสาระสำคัญตอนหนึ่งในหนังสือระบุว่า "การที่นายกรัฐมนตรีของไทยกล่าวอ้างว่าประชาชนและกองกำลังของกัมพูชาล่วงละเมิดต่ออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทยนั้น เป็นการกล่าวอ้างบนพื้นฐานของแผนที่ซึ่งไทยเป็นผู้จัดทำขึ้นเองแต่ฝ่ายเดียว ในขณะที่กัมพูชาได้ใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง แต่กัมพูชาก็ไม่อาจเพิกเฉยต่อการยั่วยุของกองกำลังไทยที่จะสร้างพื้นที่ทับซ้อนตามพฤตินัยให้เกิดขึ้น ซึ่งโดยทางนิตินัยแล้วพื้นที่ทับซ้อนนั้นไม่เคยปรากฏในดินแดนของกัมพูชาเลย" นั้น เท่ากับว่ากัมพูชากำลังใช้ความพยายามที่จะกล่าวหาและประจานประเทศไทยต่อสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงฯ ว่ากองกำลังของฝ่ายไทยได้รุกล้ำเข้าไปในดินแดนของกัมพูชา โดยมีเจตนาที่จะทำให้ดินแดนของกัมพูชาเป็นพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมา และเท่ากับเป็นการปฏิเสธเป็นลายลักษณ์อักษรต่อสหประชาชาติว่าฝ่ายกัมพูชาไม่เคยยอมรับพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน แต่พื้นที่เหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนของกัมพูชา รวมทั้งเป็นการกล่าวหาว่าฝ่ายไทยได้มีการใช้กองกำลังรุกล้ำเข้าไปยังดินแดนของกัมพูชาและพยายามก่อให้เกิดการปะทะกันทางอาวุธขึ้นมา

          แม้ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชาจะได้กล่าวต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 ว่าหนังสือที่กัมพูชามีถึงประธานคณะมนตรีความมั่นคงฯ นั้นเป็นเพียงการแจ้งข้อเท็จจริง มิได้เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ พิจารณาดำเนินการใดๆ ต่อกรณีพิพาทที่เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงฝ่ายกัมพูชาก็ได้มีหนังสือถึงประธานคณะมนตรีความมั่นคงฯ อีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันที่ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้มีมติที่จะไม่หยิบยกประเด็นข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชาขึ้นมาพิจารณา โดยหนังสือดังกล่าวกัมพูชาอ้างว่า

          "ประเทศไทยได้สร้างเงื่อนไขต่างๆ ขึ้นเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องในเขตแดน และได้เพิ่มกำลังทหารพร้อมด้วยปืนใหญ่และรถถังตลอดแนวเขตแดน ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามอย่างรุนแรงต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของกัมพูชา รวมทั้งคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" และกัมพูชาได้เรียกร้องให้ประธานคณะมนตรีความมั่นคงฯ เรียกประชุมด่วน (urgent meeting) ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยมีนายฮอร นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาร่วมด้วยเพื่อหารือเรื่องที่เป็นการคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (grave threat to peace and security)

          ทั้งนี้ผมเห็นว่าหนังสือที่กัมพูชามีไปยังประธานคณะมนตรีความมั่นคงฯ นั้นพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าฝ่ายไทยได้กระทำการอันเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพ (thrcat to peace) ซึ่งเป็นเงื่อนไขนำไปสู่กฎบัตรสหประชาชาติ บทที่ 7 (Chapter 7) ข้อ 39-42 ซึ่งให้อำนาจคณะมนตรีความมั่นคงฯ ที่จะดำเนินมาตรการต่างๆ มากมาย และอาจก่อให้เกิดผลกระทบตามมา เช่น อาจทำให้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนถูกหยิบยกขึ้นสู่การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงฯ โดยที่ฝ่ายไทยอาจตกอยู่ในฐานะของผู้ถูกกล่าวหา ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเวทีระหว่างประเทศ และอาจส่งผู้แทนคณะมนตรีความมั่นคงฯ เข้ามาไกล่เกลี่ยหรือร้องขอให้ฝ่ายไทยดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อยุติการเผชิญหน้าหรือปะทะกันทางอาวุธได้ เหมือนเช่นที่กัมพูชาได้เคยทำสำเร็จมาแล้วในอดีตโดยใช้เวทีสหประชาชาติให้เข้ามาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ที่เกิดขึ้นครั้งจากที่ศาลโลกได้มีคำพิพากาษาให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา

          และในกรณีที่คณะมนตรีความมั่นคงฯ หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาและเห็นพ้องกับข้ออ้างของกัมพูชา ว่าการเพิ่มกองกำลังทหารพร้อมอาวุธของไทยเข้าไปยังพื้นที่ทับซ้อน นั้นอาจนำไปสู่การปะทะกันทางอาวุธหรือมีลักษณะเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพ ก็อาจนำไปสู่การที่คณะมนตรีความมั่นคงฯ จะมีข้อมติบังคับให้ไทยต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งรวมถึงอาจดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหรือมาตรการอื่นๆ ต่อประเทศไทยได้หากไทยไม่ดำเนินการตามที่คณะมนตรีความมั่นคงฯ เรียกร้อง ทั้งนี้ตามมาตรการที่กำหนดไว้ในบทที่ 7 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ

          นอกจากนี้การดำเนินการผ่านสหประชาชาติ อาจนำไปสู่การที่คณะมนตรีความมั่นคงฯ ถามไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อขอความเห็นเชิงปรึกษา (advisory opinion) ต่อกรณีดังกล่าว หรือองค์การยูเนสโกด้วยความเห็นชอบของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ อาจส่งเรื่องไปถามความเห็นของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศก็ได้ ซึ่งถ้าศาลมีความเห็นที่ไม่เป็นคุณต่อจุดยืนของไทย ก็จะเป็นแรงกดดันต่อไทยอย่างมาก และอาจมีผลเกินเลยไปกว่าเขตพื้นที่ที่มีปัญหาอยู่ แม้ไทยจะสามารถหยิบยกเรื่องการที่ไทยไม่ยอมรับเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศขึ้นมาต่อสู้ได้ก็ตาม

          จริงอยู่ ขั้นตอนต่างๆ ที่กล่าวมาไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายนัก แต่เมื่อพิเคราะห์ดูจากการดำเนินการทูตเชิงรุกของกัมพูชาที่สามารถโน้มน้าวให้สมาชิกของคณะกรรมการมรดกโลกทุกประเทศให้การสนับสนุนกัมพูชาเป็นเอกฉันท์ก็ดี การเชิญคณะทูตต่างประเทศไปตรวจดูพื้นที่ต่างๆ ก็ดี การเดินเรื่องในเวทีอาเซียน และการเริ่มใช้เวทีคณะมนตรีความมั่นคงฯ อย่างรวดเร็วก็ดี เป็นเครื่องชี้วัดว่ามีความจำเป็นที่ไทยจะต้องมองตามให้ทันและครบถ้วนถึงที่สุด เพื่อจะได้กำหนดยุทธศาสตร์ตั้งรับ และที่สำคัญคือยุทธศาสตร์เชิงรุกต่อท่าทีของกัมพูชาได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ

           ประการที่ 3 การที่มีรายงานข่าวเป็นการทั่วไปว่ากัมพูชาได้นำผู้ช่วยทูตทหารและเจ้าหน้าที่ของสถานทูตต่างประเทศในกัมพูชา ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา จีน ฝรั่งเศส และเวียดนาม (ซึ่งปัจจุบันเวียดนามเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงฯ) เดินทางไปเยี่ยมชมปราสาทพระวิหารและได้เดินทางเข้าไปตรวจการณ์ในเขตพื้นที่ทับซ้อน โดยที่มิได้มีการขอความเห็นชอบและได้รับอนุญาตจากฝ่ายไทยก่อนนั้น นอกจากจะเป็นการพยายามโน้มน้าวให้ประเทศสมาชิกถาวรแห่งคณะมนตรีความมั่นคงฯ (สหรัฐ อังกฤษ จีน รัสเซีย ฝรั่งเศส) รวมทั้งประธานคณะมนตรีความมั่นคงฯ มีความเห็นคล้อยตามข้อกล่าวอ้างตามหนังสือที่กัมพูชามีไปยังคณะมนตรีความมั่นคงฯ แล้ว ยังอาจนำไปสู่ประเด็นทางกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นมา 2 ประเด็น ได้แก่

          1) เป็นการตอกย้ำว่าดินแดนในพื้นที่ทับซ้อนนั้นเป็นดินแดนของกัมพูชา ดังนั้นกัมพูชาจึงสามารถดำเนินการต่างประเทศในพื้นที่ดังกล่าว ด้วยการนำคณะผู้แทนต่างประเทศเข้ามาตรวจเยี่ยมชมพื้นที่ได้โดยลำพัง โดยไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากรัฐบาลไทย และ

          2) การที่ฝ่ายไทยได้รับรู้รับทราบการตรวจเยี่ยมของผู้แทนต่างประเทศตามคำเชิญของรัฐบาลกัมพูชาแล้ว แต่ยังไม่ดำเนินการทักท้วงใดๆ โดยทันทีที่กัมพูชาได้นำผู้แทนต่างประเทศล่วงล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่ทับซ้อน จะเป็นการทำลายน้ำหนักข้อต่อสู้ของไทยในอนาคต เพราะการนำคณะทูตต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่ย่อมเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งสิทธิในการดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นหัวใจสำคัญของการใช้อำนาจอธิปไตย และดูเหมือนว่ากัมพูชาจะสามารถใช้กลยุทธ์นี้ได้อย่างแนบเนียน

           ประการที่ 4 การที่กัมพูชาได้ยื่นบันทึกช่วยจำลงวันที่ 11 เมษายน 2551 ถึงฝ่ายไทย โดยตอกย้ำว่านายกรัฐมนตรีของไทยได้ประกาศอย่างชัดเจนที่จะให้การสนับสนุนการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ในระหว่างการประชุมในระหว่างการเดินทางเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ และบันทึกนั้นได้ย้ำว่า "ในความเห็นของกัมพูชา ไม่ปรากฏพื้นที่ที่อ้างอธิปไตยทับซ้อนกับในเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของปราสาทพระวิหาร (the zone of Sacred Site)" ขณะที่ทางการไทยมิได้มีบันทึกช่วยจำหรือเอกสารใดๆ ที่โต้แย้งข้อกล่าวอ้างของกัมพูชาตามบันทึกช่วยจำดังกล่าวเพื่อเป็นหลักฐานยันไว้ ย่อมมีผลเป็นการยืนยันว่าเนื้อหาที่ปรากฏในบันทึกช่วยจำของกัมพูชานั้นถูกต้องและย่อมเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้ข้อกล่าวอ้างของกัมพูชา ที่ปฏิเสธเขตพื้นที่ทับซ้อนมีน้ำหนักในทางกฎหมายมากยิ่งขึ้น

           ประการที่ 5 การที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้มีหนังสือลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2551 ถึงนายกรัฐมนตรีไทย โดยมีข้อความตอบรับข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีไทยที่ให้นำประเด็นพิพาทในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการชายแดนไทย-กัมพูชา (GBC) ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 และได้แสดงความหวังมายังนายกรัฐมนตรีไทย ว่าความพยายามร่วมกันดังกล่าวจะได้ผลสรุปอันเป็นที่น่าพอใจร่วมกันของทั้งสองฝ่ายต่อสถานการณ์ดังกล่าว แต่ขณะที่คณะผู้แทนของทั้งสองฝ่าย ซึ่งนำโดย พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย และพลเอก เตีย บันห รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมของกัมพูชา อยู่ในระหว่างการเจรจาและยังไม่ได้ผลสรุป ฝ่ายกัมพูชากลับเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่สิงคโปร์ ให้หยิบยกข้อพิพาทดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาในเวทีรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และได้ยื่นหนังสือขอให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ จัดการประชุมด่วนเพื่อหยิบยกประเด็นพิพาทดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ย่อมเป็นการชี้ให้เห็นถึงการเตรียมการเจตนา และระดับความจริงใจของกัมพูชาในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระดับทวิภาคีได้เป็นอย่างดี

          และการที่รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ได้เสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 แต่งตั้งผู้แทนของอาเซียน 4 ประเทศเป็นกลุ่มประสานงานเพื่อพิจารณาประเด็นพิพาทพื้นที่ทับซ้อน ภายหลังจากที่ที่ประชุมอาเซียนได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2551 ที่จะไม่หยิบยกขึ้นมาพิจารณาในเวทีรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน โดยให้ถือเป็นเรื่องระหว่างไทย-กัมพูชา ย่อมเป็นการชี้ให้เห็นถึงความพยายามของกัมพูชาที่จะแก้ไขปัญหานี้ในระดับพหุภาคีมากกว่าในระดับทวิภาคี และเป็นการแสดงให้นานาชาติเห็นว่ากัมพูชากำลังถูกไทยคุกคามอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนอย่างรุนแรง จนถึงขั้นที่ต้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ ซึ่งไทยยังโชคดีที่สามารถโน้มน้าวสิงคโปร์ซึ่งเป็นประธานที่ประชุมไม่ให้มีการตั้งกลุ่มดังกล่าว และตอบปฏิเสธข้อเสนอของกัมพูชาไปแล้ว

           ประการสุดท้าย การที่กัมพูชาได้จับกุม 3 คนไทย ที่ข้ามรั้วเข้าไปนั่งสมาธิในเขตพื้นที่ทับซ้อน จนต้องประสานขอให้ทางการกัมพูชาปล่อยตัวภายหลัง ในขณะที่ประชาชนกัมพูชาเข้ามาสร้างบ้านเรือนร้านค้าและอาศัยอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนเป็นจำนวนหลายร้อยคน ย่อมถือเป็นอีกข้อเท็จจริง

          ผมเห็นว่ากรณีการดำเนินการทูตเชิงรุกที่มีผลทั้งด้านการเมืองระหว่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศของกัมพูชานั้น มีจุดประสงค์เพื่อหาพวกในเวทีระหว่างประเทศและวางหมากหลุมพรางทางกฎหมายเพื่อให้กัมพูชาได้เปรียบในอนาคต และยังเป็นการหยั่งท่าทีและศักยภาพของไทยในเวทีการเมืองระหว่างประเทศและกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากไทยและกัมพูชายังมีปัญหาข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางบกอยู่อีกหลายจุด

          ที่ผ่านมาแม้ว่าข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศและข้าราชการทหารส่วนใหญ่ จะได้ใช้ความพยายามในการเรียกร้องและปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทยเหนือพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว และกระทรวงการต่างประเทศก็ได้พยายามที่จะแก้เกมรุกของกัมพูชาอยู่เนืองๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการขาดรัฐมนตรีต่างประเทศ การขาดการร่วมคิดร่วมทิศทางของทุกองคาพยพในรัฐบาล และการขาดการร่วมคิดร่วมทำของคนไทยจากทุกภาคส่วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประกอบกับกลยุทธ์ในการดำเนินการ ชั้นเชิงทางการเมืองระหว่างประเทศ และความจัดเจนในทางกฎหมายระหว่างประเทศของกัมพูชาที่ใช้ในการเรียกร้องขอความเห็นใจจากนานาชาติ รวมทั้งการสร้างพยานหลักฐาน หรือแม้กระทั่งการวางกับดักทางกฎหมายต่อประเทศไทยนั้น ทำให้น่าห่วงอย่างยิ่งว่าจะทำให้ประเทศไทยต้องเพลี่ยงพล้ำซึ่งยากต่อการแก้ไขในอนาคต

          ผมเห็นว่าปัญหาข้อพิพาทในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชานั้น ได้ลุกลามบานปลายจากปัญหาการเมืองภายในประเทศหรือปัญหาของรัฐบาลจนกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศแล้ว เรื่องนี้จึงไม่ใช่วาระทางการเมืองอีกต่อไป แต่เป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องเปิดโอกาสให้คนไทยทุกฝ่ายจากทุกภาคส่วนหันหน้าเข้าหากัน และคัดสรรผู้มีความรู้ประสบการณ์มาร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ทั้งมาตรการเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อมิให้ไทยเพลี่ยงพล้ำในเกมรุกของกัมพูชาในครั้งนี้



ข้อมูลจาก

ภาพประกอบจาก
http://www.palawat.com/

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
6 ข้อกังวลของ สุรเกียรติ์ ต่อการทูตเชิงรุกกัมพูชา อัปเดตล่าสุด 25 กรกฎาคม 2551 เวลา 13:57:17 9,422 อ่าน
TOP