สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
หลังจากที่พรรคพลังประชาชนและมวลชนที่ชื่นชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่พอใจกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่จัดชุมนุมปิดกั้นทางสาธารณะ และเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลมานาน ในที่สุด นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจเดินเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 63 เพื่อควบคุมการชุมนุมของม็อบโดยตรง
ทั้งนี้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญนิติบัญญัติครั้งแรก ในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ จะมีร่าง พ.ร.บ.ที่น่าสนใจเข้าสู่การพิจารณา คือ ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ ที่ นายจุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคพลังประชาชน และคณะ โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีหลักการเพื่อให้การชุมนุมในที่สาธารณะเป็นไปตามสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ขณะเดียวกันก็เพื่อป้องกันการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าว ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนเสียหายต่อสาธารณชนทั่วไป จึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ เพื่อจัดระเบียบการชุมนุมดังกล่าว
โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีจำนวน 20 มาตรา มีสาระสำคัญ คือ
มาตรา 2 กำหนดนิยามของ "ผู้จะจัดการชุมนุม"
มาตรา 4 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ แต่การชุมนุมในที่สาธารณะจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
มาตรา 5 ห้ามมิให้ดำเนินการชุมนุมในที่สาธารณะ ที่มีลักษณะเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ได้แก่ มีการใช้ช่องทางการเดินรถหรือพื้นผิวการจราจร มีการตั้งเวทีปราศรัยในลักษณะกีดขวางการจราจรหรือทางสัญจรของประชาชน มีการใช้เครื่องขยายเสียง เครื่องฉายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเครื่องมือใดๆ เพื่อถ่ายทอดการชุมนุม มีการใช้ยานพาหนะ มีการเคลื่อนย้ายสถานที่ชุมนุม
มาตรา 7 การยื่นขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
นอกจากนี้ยังระบุถึงการอนุญาตให้มีการชุมนุมได้ โดยกำหนดลงใน มาตรา 8 ว่า คณะกรรมการผู้พิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะทุกจังหวัด โดย (1) ในส่วน กทม. ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธานกรรมการ ส่วน (2) ในต่างจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
มาตรา 9 คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาคำขอตามมาตรา 5 ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 10 การขออนุญาต จะมีผลเฉพาะในเขตจังหวัดนั้น หากมีการเคลื่อนย้ายการชุมนุมไปในเขตจังหวัดอื่น จะกระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจาก คณะกรรมการตามมาตรา 8 (2)
ขณะที่ มาตรา 11 ผลการพิจารณาของ คณะกรรมการตามมาตรา 8 ให้ถือเป็นที่สุด
ส่วนใน มาตรา 12-16 เป็นเรื่องของการฝ่าฝืนที่ห้ามให้มีการชุมนุม ซึ่งให้อำนาจจัดการผู้ที่ฝ่าฝืน คือประธานกรรมการตามมาตรา 8 สั่งยุติการชุมนุมได้ แต่หากยังมีการฝ่าฝืนคำสั่งให้ประธานกรรมการสั่งเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมได้ ซึ่งในมาตรา 16 ระบุว่า โดยเจ้าหน้าที่หรือผู้ใช้อำนาจการสลายการชุมนุมไม่ต้องรับผิดทางแพ่งและอาญา หากการกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยสุจริตไม่เกินกว่าเหตุ หรือไม่เกินความจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหาย ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
ในส่วนของบทลงโทษนั้น ระบุใน มาตรา 17 ว่า การชุมนุมในที่สาธารณะที่ไม่ได้ขออนุญาตภายใต้ข้อบังคับมาตรา 5 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และวรรคสอง ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง แล้วเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ วรรคสาม ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่งแล้วเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ผู้ใดฝ่าฝืนจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ แม้การชุมนุมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ วรรคสอง ผู้ใดจัดชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง แล้วเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แม้จะได้ปฏิบัติตามมาตรา 13 แล้วก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ วรรคสาม ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง แล้วเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หากไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 19 การชุมนุมในที่สาธารณะภายใต้บังคับมาตรา 5 กรณีที่ขออนุญาตหรือไม่ขออนุญาตก็ตาม หากผู้จัดให้มีการชุมนุมไม่ควบคุมดูแล ปล่อยปละจนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมทำผิดทางแพ่งหรืออาญา ผู้จัดให้มีการชุมนุมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 20 นายกฯ เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.นี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.นี้
ด้าน นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตร กล่าวว่า เห็นได้ชัดเจนว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขัดต่อมาตรา 63 โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการทำลายการชุมนุมแบบสงบและสันติ เพราะต่อไปการชุมนุมจะต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐก่อน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วเป็นไปไม่ได้ เพราะคงไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดอนุญาตให้ประชาชนชุมนุมอยู่แล้ว
นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า หากร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อใด รับรองว่ารัฐสภาไทยจะเป็นที่อับอายไปทั่วโลก เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกห้ามการชุมนุมได้ หากประชาชนไม่เดือดร้อนคงไม่มาชุมนุม ดังนั้นการชุมนุมจึงเป็นดัชนีการชี้วัดการทำงานของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลทำงานดีการชุมนุมก็จะมีน้อย แต่ถ้ารัฐบาลทำงานล้มเหลวการชุมนุมก็จะมีมาก
"รัฐบาลชุดนี้มองว่าการชุมนุมเป็นภัยต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด ดังนั้น ขอย้ำอีกว่า ถ้ากฎหมายฉบับนี้เข้าสภาเมื่อใดจะเป็นที่อับอายไปทั่วโลก ที่ ส.ส. ไทยเสนอกฎหมายล้าหลังแบบนี้ มากไปกว่านั้นผมคิดว่า การเสนอกฎหมายนี้เพื่อสกัดกั้นการชุมนุมของพันธมิตร ที่พรรคพลังประชาชนทำมาทุกวิถีทาง โดยครั้งนี้จะกลไกในสภาใช้เสียงข้างมากลากไป เพื่อหวังการสลายการชุมนุมของพันธมิตร" นายสุริยะใสกล่าว
ขณะที่ นายสมัคร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 63 ว่า "นี่คือรัฐธรรมนูญ มาตราที่พันธมิตรกลัว" พร้อมกล่าวถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธโดยไม่มีการสร้างข้อมูลเท็จเอามากล่าวหา ไม่ปลุกระดมประชาชนให้หลงผิด ไม่ใช้สื่อโฆษณาชวนเชื่อ ไม่บังคับและไม่จ้างวานกลุ่มบุคคลใดๆ ให้มาร่วมชุมนุม"
อย่างไรก็ตามสำหรับรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 63 ระบุว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยตามอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก"
ขอขอบคุณข้อมูลจาก