x close

ปราสาทตาเมือนธม คิวต่อไปของไทย - กัมพูชา

ปราสาทตาเมือนธม

ปราสาทตาเมือนธม

 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยรัฐ


          เพิ่งจะไปตรวจเยี่ยม ปราสาทเขาพระวิหาร บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา จนกลายเป็นประเด็นให้ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ แบบร้อนระอุไม่เท่าไหร่ ก็มีกระแสข่าวออกมาอีกว่า สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีกำหนดการมาเยี่ยมทหารภูมิภาคที่ 4 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนติดประเทศไทย ด้าน จ.ศรีสะเกษ และ จ.สุรินทร์ พร้อมกันนี้ยังมีข่าวว่า สมเด็จ ฮุนเซน จะมาพื้นที่ ปราสาทตาเมือนธม ตั้งอยู่บ้านหนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรักษ์ จ.สุรินทร์  ด้วย โดยการมาของ สมเด็จฮุนเซน เพื่อแสดงสิทธิเหนือดินแดนไทย ซึ่งทางกัมพูชาอ้างว่าไทยส่งกำลังทหารยึด ปราสาทตาเมือนธม ทั้งที่เป็นดินแดนของกัมพูชานั้น

          โดยล่าสุด สมเด็จฮุนเซน ได้เดินทางไปเปิดที่ทำการกองพันทหารราบที่ 422 ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านโอรรูมจอง ต.โคกมอญ อ.บันเตียอำบึล จ.อุดรมีชัย ซึ่งห่างจาก ปราสาทตาเมือนธม เข้าไปฝั่งกัมพูชาประมาณ 6 กิโลเมตร แต่ สมเด็จฮุนเซน ไม่ได้เดินทางมาที่ ปราสาทตาเมือนธม  ตามที่มีข่าวออกมาแต่อย่างใด หลังประเทศไทยแจ้งต้องปลดอาวุธตามระเบียบปฎิบัติของไทย ก่อนขึ้นปราสาทตาเมือนธม 

          อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ทำให้หลายคนเกิดความฉงนสงสัยเกี่ยวกับที่มาที่ไปของ ปราสาทตาเมือนธม กันไม่น้อย มากมายหลายคำถามผุดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น ตกลงแล้วปราสาทนี้เป็นของใคร มีประวัติเป็นอย่างไร วันนี้เรานำข้อมูลมาฝากกันค่ะ


ประวัติปราสาทตาเมือนธม

          ปราสาทตาเมือนธม (คำว่า ตา เมือนธม เป็นภาษาเขมรแปลว่า ตาไก่ใหญ่) เป็นปราสาทหินทรายโบราณขนาดใหญ่ที่สุด ในกลุ่มปราสาทตาเมือน โบราณสถานแบบขอม 3 หลัง อันประกอบไปด้วย ปราสาทตาเมือน ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือนธม ปราสาททั้งสามตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน บนแนวภูเขาบรรทัด ใน ต.ตาเมียง กิ่งอ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ติดชายแดนกัมพูชา ห่างเพียง 100 เมตรเท่านั้น โดยตัวปราสาทตาเมือนธม สร้างคร่อมโขดหินธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์ในรูปของสวยัมภูลึงค์ หรือลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และนี่เองที่เป็นเครื่องหมายที่แสดงว่า ปราสาทหลังนี้เป็นศาสนาสถานในศาสนาพราหมณ์  ลัทธิไศวนิกาย เป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรม แต่ภายหลังได้ถูกใช้เป็นพุทธสถาน นักโบราณคดีกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 ตรงกับศิลปะขอมแบบบาปวน 

          ตัวปราสาทตาเมือนธมจะหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทอื่น ๆ ที่มักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และทิศเหนือ เช่น ปราสาทพระวิหาร ซึ่งห่างจากด้านหน้าของปราสาทนี้ออกไปในเขตกัมพูชาจะมีสระน้ำ มีถนนตัดผ่านมาจากเมืองพระนครของเมืองเสียมราษฎร์ โดยถนนเส้นนี้ได้มีการกล่าวถึงในจารึกปราสาทพระขรรค์ ในเมืองพระนครว่า ได้ถูกตัดขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1763) เพื่อเชื่อมระหว่างเมืองพระนครกับเมืองพิมาย ตัดผ่านมาถึงสระน้ำของปราสาทหลังนี้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีความสำคัญพอสมควร 

ปราสาทตาเมือนธม

ปราสาทตาเมือนธม


          ปราสาทตาเมือนธม ประกอบด้วยปรางค์สามหลัง  มีปรางค์ประธานขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ตรงกลาง ปรางค์อีกสององค์อยู่ถัดไปด้านหลังทางด้านขวาและซ้าย ปรางค์ทั้งสามองค์หันหน้าไปทางทิศใต้ ที่ปรางค์ประธานมีลวดลายจำหลักที่สวยสดงดงาม แม้ว่าจะถูกลักลอบทำลายและทรุดโทรมไปตามกาลเวลา องค์ปราสาทตาเมือนธม ก่อนหน้านี้ กรมศิลปากรเข้าไปบูรณะ แต่ถูกกัมพูชาประท้วงจึงต้องหยุดก่อน อาจเป็นหลังปักปันเขตแดนเสร็จสิ้น ถึงจะบูรณะต่อได้

          ส่วนทางด้านตะวันออกและตะวันตก มีวิหาร 2 หลังสร้างด้วยศิลาแลง อาคารทั้งหมดมีระเบียงคดซึ่งสร้างด้วยหินทรายล้อมรอบ มีโคปุระทั้งสี่ด้าน โคปุระด้านใต้ มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีบันไดทางขึ้นจากเชิงเขาด้านนั้น นอกระเบียงคดทางด้านทิศเหนือมีสระน้ำเล็ก 2 สระ ซึ่งในปราสาทเขมรทั่วๆ ไปมักจะพบว่า มีสระน้ำ หรือแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ใกล้ ๆ เสมอ คาดว่าคงเป็นเรื่องของการจัดการแหล่งน้ำ และที่ลานริมระเบียงคดทางมุขด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีศิลาจารึกภาษาขอม กล่าวถึงชื่อ พระกัลปกฤษณะ จึงสันนิษฐานได้ว่า โบราณสถานแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและลวดลายจำหลักต่างๆ ทำให้ทราบได้ว่า โบราณสถานแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งเก่าแก่กว่าโบราณสถานอีกสองแห่งในกลุ่มปราสาทตาเมือน

          อย่างไรก็ตาม ปราสาทตาเมือนธม อยู่ห่างจากพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ 15 ไปทางตะวันตกหลายร้อยกิโลเมตร แม้จะไม่โด่งดังเท่า ปราสาทนครวัด หรือ ปราสาทพระวิหาร แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมอันน่ามหัศจรรย์ของอาณาจักรขอมโบราณ ปราสาทตาเมือนธมถูกสร้างเป็นพระตำหนักพักผ่อนของกษัตริย์ขอมในยุคโบราณ ตั้งอยู่ริมถนนโบราณที่เชื่อมระหว่างเมืองที่ตั้งปราสาทนครวัด กับดินแดนที่เป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในปัจจุบัน โดยฝ่ายไทยอ้างว่าปราสาทตาเมือนธมตั้งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อน


ความสำคัญของ...ปราสาทตาเมือนธม 


บ้านมีไฟ


          ปราสาทตาเมือนธม มีสิ่งก่อสร้างที่เชื่อว่าเป็นที่พักคนเดินทาง หรือที่เรียกกันว่า "ธรรมศาลา-บ้านมีไฟ"แห่งหนึ่งใน 121 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายแห่งเมืองพระนคร โปรดฯ ให้สร้างขึ้นจากเมืองยโสธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรขอมโบราณไปยังเมืองพิมาย จึงถือว่าเป็นปราสาทหินที่เชื่อมโยงเส้นทางอารยธรรมขอมโบราณระหว่าง ปราสาทนครวัด-นครธม ประเทศกัมพูชา กับปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ และ ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา  

          นอกจากนี้ ปราสาทตาเมือนโต๊ด ในกลุ่มปราสาทตาเมือน ยังเป็นอโรคยศาลา(โรงพยาบาลในสมัยนั้น) หลังสุดท้ายในเขตประเทศไทย ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งเป็น 1 ใน 102 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างเพื่อช่วยเหลืออาณาประชาราษฎร์ ดังข้อความในจารึกของพระองค์ที่พบในประเทศ ไทยหลักหนึ่งระบุว่า...ทุกข์ของประชาราษฎร์ คือทุกข์ ในพระองค์...  

          สำหรับเรื่องราวที่กำลังเป็นข่าวอยู่ขณะนี้ การถามหาเจ้าของที่แท้จริงของปราสาทตาเมือนธมคงยังไม่ได้ข้อยุติโดยง่าย เพราะทั้งสองประเทศถือแผนที่กันคนละฉบับ โดยฝั่งกัมพูชายึดแผนที่จากการปักปันเขตแดนหมายเลขที่ 23 ระหว่างไทย-ฝรั่งเศส เมื่อครั้ง ปี ค.ศ.1908 ซึ่งระบุว่า ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือนธม ตั้งอยู่ในดินแดนกัมพูชา ส่วนปราสาทตาเมือนตั้งอยู่ในดินแดนของไทย ขณะที่แผนชุด L 7017 ที่ฝ่ายไทยยึดถือ ปรากฎเส้นแบ่งเขตแดนคือ ตัวปราสาทตาเมือนธมอยู่ในเขตกัมพูชา และอีก 2 ปราสาท(ตาเมือนโต๊ดและตาเมือน) อยู่ในเขตไทย

ปราสาทตาเมือนธม


          อย่างไรตาม  นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงกรณีที่กัมพูชาจะมาเรียกคืนปราสาทตาเมือนธม ที่ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ใน จ.สุรินทร์ว่า กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนปราสาทตาเมือนธมเป็นของไทยมานานแล้ว และไม่เคยเห็นกัมพูชาคัดค้านหรือเข้าไปดูแล และเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการพิสูจน์สิทธิ์ แต่เกี่ยวกับเส้นปักปันเขตแดนว่าเป็นอย่างไร เหมือนกรณีเขาพระวิหาร และบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ก็มีแนวเขตแดนต่อกันยาวเป็น 100 กิโลเมตร ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าว มีโบราณสถานหลายแห่ง

          เรื่องปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาเมือน จะจบลงอย่างไร จะกลายเป็นประเด็นร้อนระหว่างไทย-กัมพูชาขึ้นมาอีกหรือไม่ คงต้องดูท่าทีเกี่ยวกับเรื่องนี้กันต่อไปนะคะ แต่ที่แน่ๆ งานนี้หลายฝ่ายเริ่มจับตามองเรื่องนี้กันไม่น้อยแล้วววว!!!


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, , และ oeansmile.com

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก prachatai.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปราสาทตาเมือนธม คิวต่อไปของไทย - กัมพูชา อัปเดตล่าสุด 18 ตุลาคม 2553 เวลา 16:43:52 42,046 อ่าน
TOP