x close

เปิดกฎหมาย การขอลี้ภัย ในอังกฤษ ทักษิณ-พจมาน

ทักษิณ



เปิดกฎหมายการขอลี้ภัยในอังกฤษ เส้นทาง "ทักษิณ-พจมาน" ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

          หมายเหตุ "มติชนออนไลน์" รายงานชิ้นนี้เขียนโดย สัญญา บุนนาค อดีตนักข่าววิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย ประธานกลุ่มเสียงไทย ซึ่งเป็นข้อมูลจากทางสถานีวิทยุศึกษา เอฟเอ็ม 92 เมกกะเฮิร์ตซซึ่งออกกาศ เวลา 19.30 น. วันที่ 13 สิงหาคม 2551

          รัฐบาลอังกฤษยึดถือเรื่องการรับผู้ลี้ภัยจากต่างแดน ตามหลักการที่ระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ พ.ศ. 2494 ที่ว่า คนที่จะถือว่าเป็นผู้ลี้ภัยได้คือคนที่ต้องหลบหนีออกจากประเทศของตนเอง และไม่สามารถเดินทางกลับไปได้ ถ้าหากว่าคนคนนั้นมีเหตุผลที่จะเชื่อได้ว่า ถ้าเดินทางกลับไปแล้ว ตนเองจะถูกกระทำทารุณ หรือถูกก่อกรรมทำเข็ญ ด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ ด้วยการความคิดเห็นทางการเมืองหรือ ด้วยการเป็นสมาชิกของกลุ่มสังคมต่างๆ

          นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษยังยึดถือตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของยุโรปด้วยว่า จะไม่ส่งตัวบุคคลใดไปยังประเทศไหนๆ ในโลกถ้าหากว่า มีความเสี่ยงสูงว่าบุคคลนั้นจะถูกกระทำทารุณ หรือถูกลงโทษ

          นางเบเวอร์ลี ฮิวส์ ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยอังกฤษที่ดูแลเรื่องคนเข้าเมือง และผู้ลี้ภัยเคยอธิบายไว้ว่า การที่อังกฤษได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ ของบุคคลที่ต้องการลี้ภัยนั้น อาจจะเป็นเพราะว่า อังกฤษเป็นประเทศที่เปิด กว้าง เป็นสังคมหลากหลายเชื้อชาติและสังคมยอมรับเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ นอกจากนี้คนในสังคมยังเชื่อว่าจำเป็นต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากด้วย

          ขั้นตอนในการขอลี้ภัยในประเทศอังกฤษ ตามที่กระทรวงมหาดไทยอังกฤษกำหนดไว้คือ บุคคลคนที่จะยื่นขอลี้ภัยได้นั้น จะต้องยื่นคำขอต่อทางการของประเทศแรกที่ตนเองเดินทางไปถึง ซึ่งกรณีนี้ส่วนใหญ่ใช้กับบุคคลที่หลบหนีมาทางบก เช่น เดินทางจากแอฟริกาผ่านหลายประเทศมาก่อนจะไปถึงอังกฤษ ในกรณีแบบนี้ ทางการอังกฤษอาจจะไม่ยอมรับฟังคำขอโดย อ้างว่าตนไม่ใช่ประเทศแรกที่บุคคลนั้นมีโอกาสยื่นคำขอได้

          ส่วนถ้าเป็นการเดินทางทางอากาศ ก็ต้องยื่นคำขอต่อทางการของประเทศที่เครื่องบินที่โดยสารมานั้นลงแตะพื้นดินเป็นแห่งแรก (ถ้าปลอดภัยพอ)

          สำหรับกรณีของ พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยา) นั้น ข้อเท็จจริงคือ เขาและคุณหญิงพจมานบินตรงจาก กรุงปักกิ่งถึงกรุงลอนดอนโดยไม่จอดแวะที่ไหนเลย ก็ถือว่าอังกฤษเป็นประเทศแรกที่เดินทางไปถึง

          นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยอังกฤษยังมีกฎด้วยว่า ถ้าจะขอลี้ภัยก็ต้องยื่นคำขอโดยเร็วที่สุด นับแต่เดินทางไปถึง ถ้าล่าช้าเท่าไหร่ก็อาจจะถูกตีความได้ว่า ผู้ขอนั้นไม่ได้กลัวว่าจะถูกก่อกรรมทำเข็ญจริงถึงได้ชะลอการยื่นคำขอลี้ภัย

          บุคคลที่ต้องการขอลี้ภัยและคนในครอบครัวที่ต้องพึ่งพาผู้ขอลี้ภัยใน การดำรงชีพจะต้องไปยื่นขอด้วยตัวเองที่ศูนย์การพิจารณาผู้ลี้ภัย (Asylum Screening Unit) ซึ่งในอังกฤษมีอยู่สองแห่งคือที่กรุงลอนดอน และที่เมืองลิเวอร์พูล

          กระทรวงมหาดไทยอังกฤษตั้งเป้าไว้ว่า จะพยายามพิจารณาคำขอ ขั้นต้นนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน อย่างไรก็ตาม เวลา 30 วันดังกล่าวเป็น เพียงเป้าหมายเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ ส่วนใหญ่การพิจารณาขั้นต้นนี้จะใช้ เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน

          ถ้าเจ้าหน้าที่อนุมัติก็จะให้สถานะผู้ลี้ภัยกับผู้ขอ

          ถ้าไม่อนุมติ แต่เจ้าหน้าที่เชื่อว่า มีเหตุผลทางมนุษยธรรมที่จะอนุญาตให้ผู้ขอ พำนักอยู่ในประเทศอังกฤษได้ ก็จะอนุญาตให้อยู่ได้ชั่วคราวไปก่อนจนกว่า สถานการณ์ในประเทศบ้านเกิดจะดีขึ้น

          ตามสถิติล่าสุด มีผู้ขอลี้ภัยประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ ที่เจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วไม่เข้าข่ายผู้ลี้ภัย แต่ได้รับให้อยู่ในอังกฤษได้เป็นการชั่วคราว ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม

          ในกรณีที่คำขอขั้นต้นไม่ผ่านการอนุมัติ ผู้ขอมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ได้ต่อ สำนักงานคณะอนุญาโตตุลาการเรื่องผู้ลี้ภัยและคนเข้าเมือง (Asylum and Immigration Tribunal - AIT) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระไม่ขึ้นกับทางการอังกฤษโดยต้องยื่นอุทธณ์ภายใน 10 วันนับแต่ได้รับจดหมายแจ้งอย่างเป็น ทางการว่าคำขอไม่ผ่าน

          ขั้นตอนอุทธณ์นี้ ทาง AIT ตั้งเป้าไว้ว่า ควรแล้วเสร็จภายใน 6 สัปดาห์ แต่ในทางปฏิบัติ ปกติจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน

          ในกรณีที่การอุทธรณ์ขั้นนี้ไม่ผ่าน ส่วนใหญ่ผู้ขอจะใช้อีกเส้นทางหนึ่งต่อไปคือยื่น อุทธรณ์ไปยังศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปที่รัฐบาลอังกฤษร่วมลงนามตาม อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

          ปกติการพิจารณาของศาลสิทธิ มนุษยชนยุโรปจะใช้เวลาเป็นปีซึ่งในระหว่างรอการพิจารณา ผู้ขอลี้ภัยก็ สามารถพำนักอยู่ในอังกฤษได้เป็นการชั่วคราว

          ในระหว่างรอการพิจารณาไม่ว่าขั้นตอนใด ผู้ขอลี้ภัยจะทำงานไม่ได้ รวมทั้งการทำงานโดยไม่รับค่าจ้าง แต่ถ้าเวลาผ่านไปอย่างน้อยหนึ่งปี และทางกระทรวงมหาดไทยอังกฤษยังพิจารณาคำขอลี้ภัยขั้นต้นไม่เสร็จ ทางการ อาจจะอนุญาตให้ผู้ขอทำงานบางประเภทได้ยกเว้นการประกอบธุรกิจส่วนตัว

          นอกจากนี้ในระหว่างการรอพิจารณา ผู้ขอต้องดำรงชีพอยู่ได้ด้วยเงิน ของตนเองหรือเงินช่วยเหลือจากเพื่อนฝูงญาติพี่น้องแต่ถ้าขัดสนจริงๆ ทางการอังกฤษอาจจะพิจารณาจัดหาที่พักอาศัยและออกค่ากินอยู่ให้บ้าง ค่ากินอยู่นี้ แต่เดิมให้เป็นเงินสดแต่ระยะหลัง ให้เป็นคูปองเพื่อนำไปแลกเป็นอาหาร

          ในกรณีที่ผู้ขอได้รับสถานะผู้ลี้ภัยหรือได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศ อังกฤษได้เป็นการชั่วคราวด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม บุคคลดังกล่าวจะ สามารถเดินทางออกนอกประเทศอังกฤษได้มั้ยเพราะถือว่า อาจจะถูกตัดขาด จากประเทศเดิมไปโดยปริยายแล้ว เช่น หนังสือเดินทางอาจถูกยกเลิกหรือไม่ กล้าที่จะไปขอหรือต่ออายุหนังสือเดินทางที่สถานทูตของตน

          ในกรณีเช่นนี้ รัฐบาลอังกฤษจะออกเอกสารการเดินทางให้ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า trave documents เอกสารดังกล่าวจะสามารถใช้แทนหนังสือเดินทางไปต่างประเทศได้ แต่มีข้อจำกัดสำคัญอยู่ข้อหนึ่งคือ คนที่ถือ travel document นั้น จะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปยังประเทศบ้านเกิดที่ตัวเองหลบหนีออกมา ถ้าฝ่าฝืนก็อาจจะถูกเพิกถอนสถานะผู้ลี้ภัยได้



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 
เผยแพร่โดยสำนักข่าวเอพี โดยความเอื้อเฟื้อของบริษัทโฆษณา Alistair Wilson/Surrey Ad

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดกฎหมาย การขอลี้ภัย ในอังกฤษ ทักษิณ-พจมาน อัปเดตล่าสุด 14 สิงหาคม 2551 เวลา 15:58:10 6,570 อ่าน
TOP